เมื่อความเชื่อมั่นในองค์กรตำรวจและกระบวนการยุติธรรมถูกสั่นคลอนครั้งใหญ่ จนทำเอาเสียงเรียกร้องจากคนในสังคมถึงเรื่อง “ปฏิรูปตำรวจ-ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสสนทนากับ นักกฎหมายตงฉิน ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ เพื่อตีแผ่มุมมองต่อการปฏิรูปตำรวจและกระบวนการยุติธรรม

อาจาย์ วิชา” เปิดฉากกล่าวถึงโอกาสในการปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ในประเทศไทยในอนาคตว่า ค่อนข้างยาก มีปัจจัยหลายอย่าง ปัจจัยแรก คือ ตัวองค์กร ผู้นำองค์กรบางส่วน รวมทั้งผู้ที่หลุดพ้นจากวงโคจรไปแล้วยังควบคุมหรือเกี่ยวข้องในกลไกของตำรวจอยู่นั้น มีความเคยชินกับวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมตำรวจใช้อำนาจไม่ชอบ โดยเกิดจากการทำงานที่มีแนวความคิดหรือทัศนคติที่จะให้อาชญากรรมลดลง ซึ่งจะมองประชาชนที่ถูกจับกุม หรือผู้ต้องหาว่าเป็นผู้ที่ก่อให้เกิดอาชญากรรม คือตัดสินตั้งแต่แรกแล้ว ดังนั้นเวลาปฏิบัติจึงมองว่าไม่ต้องทำให้ดี เพราะมองว่าเป็นอาชญากร ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ถ่ายทอดกันมา

อีกปัจจัยคือการจะได้บำเหน็จความชอบก็ต้องทำงานที่เน้นที่การจับคนร้ายมาดำเนินคดีให้ได้ จึงมีค่านิยมที่ต้องทำให้คนร้ายรับสารภาพ แต่หากจับแล้วต้องไปสอบอะไรยุ่งยากอาจจะถูกมองว่าเสียเวลา และยังมีปัจจัยเรื่องการตั้งข้อสงสัย ไม่เคยไว้วางใจใคร ทำให้ตำรวจเริ่มทิ้งระยะห่างระหว่างสังคม เพื่อนฝูงภายนอก อาจจะเล่นงานใครก็ได้เพราะไม่ไว้วางใจ

ปัจจัยอีกเรื่องคือวัฒนธรรมการไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรม เขายึดมั่นตามหลักที่สืบทอดกันมา แยกการทำงานออกจากชุมชน เน้นการให้ความสำคัญแต่ทำงานตามหน้าที่ ทำงานเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชญากรรมเท่านั้น ทำให้ตำรวจเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองมีประสิทธิภาพในการปราบปรามอาชญากรรมโดยไม่ต้องคิดถึงชุมชน กลายเป็นการไม่เชื่อมั่นกระบวนการยุติธรรมที่ถือหลักว่าผู้ต้องหาหรือผู้ที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิด ซึ่งเป็นหลักสากล แต่ของเราจะสวนทาง ความคิดติดยึดกับหลักป้องกันอาชญากรรมแบบสุดกู่ ใช้กฎหมายเข้มงวด ไม่มีที่จะใช้เหตุผล การแสดงออกจึงมุ่งที่จะใช้กำลัง

นอกจากนั้นยังมีปัจจัยเรื่องคนที่อยู่ข้างนอก โดยเฉพาะนักการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงบางคน ซึ่งคิดว่าตำรวจมีอำนาจทั้งอำนาจจับกุม ปราบปราม สอบสวนเบ็ดเสร็จ ซึ่งสะดวกกับการใช้งานหากมีพรรคพวกอยู่แล้ว มีคนที่รู้จักกันที่ควบคุมกลไกได้ มีอำนาจที่จะจัดการกับคดีได้ จึงหมายความว่าการใช้อำนาจและวัฒนธรรมแบบนี้ เป็นประโยชน์กับคนที่จะใช้ตำรวจเป็นเครื่องมือ เพราะฉะนั้นใครจะมาแก้ไขปรับปรุงจึงมีการคัดค้าน

@ การเดินหน้าปฏิรูปตำรวจควรเริ่มจากอะไรก่อน

ต้องเกิดจากการกดดันหรือการขับเคลื่อนของประชาชน ซึ่ง ส.ส. ที่เป็นผู้แทนของประชาชน ควรที่จะต้องเป็นผู้ปักธงตั้งแต่แรก เพราะน่าจะพอเห็นภาพว่าจะต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง มีนวัตกรรมใหม่ ยุคนี้ยุคไหนแล้วแต่ยังมีการสอบสวนด้วยวิธีทรมาน ทารุณกรรมอยู่ ซึ่ง ส.ส.มีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย ในเมื่อเห็นกฎหมายที่กำลังนำเสนอนั้นดีอยู่แล้ว และเป็นการปฏิรูป แต่ล่าช้ากว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนด การที่ล่าช้าอย่างนี้ทำให้ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม และทำให้ความเชื่อมั่นในตัวกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมไม่มี ซึ่งจะเป็นความล้มเหลวของรัฐ

ทั้งนี้การปฏิรูปทั้งตำรวจ และเรื่องการแยกการสอบสวนออกไปสายงานอื่นตาม ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และให้มีร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ร่างขึ้นมา ควรจะไปด้วยกันเพราะเป็นการปฏิรูปเหมือนกัน โดยร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา จะทำให้กระบวนการสอบสวนต้นทางให้ผู้ที่ทำงานปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม และอิสระ และมีพนักงานอัยการเข้ามาถ่วงดุล แต่ไม่ใช่ทุกคดี เฉพาะคดี 10 ปีขึ้นไป และเป็นคดีที่มีความสำคัญ ที่พนักงานอัยการเห็นว่าควรจะร่วมสอบสวนก็ดำเนินการได้ สรุปแล้วการที่ให้หลายฝ่ายเข้ามาร่วมพิจารณา จะทำให้ตำรวจระมัดระวังในการทำงาน

รวมทั้งยังมีการเสนอให้มีกฎหมายนิติวิทยาศาสตร์แห่งชาติ หมายความว่าไม่ใช่สถาบันนิติวิทยาของทางตำรวจอย่างเดียว ให้ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหามีทางเลือกที่จะใช้งานในเรื่องนิติวิทยาศาสตร์ของสถาบันอื่นๆด้วย ซึ่งการที่มีสถาบันอื่นมาช่วยตรวจด้วย เป็นการถ่วงดุล และจะทำให้ระบบการสอบสวนคดีอาญาเป็นธรรมยิ่งขึ้น

@ หากมีการแก้กฎหมาย แต่วัฒนธรรมตำรวจยังเป็นแบบเดิม การปฏิรูปจะประสบความสำเร็จหรือไม่

               เราต้องแก้ที่การพัฒนาบุคลากรตำรวจไปด้วยในตัว แทนที่จะมีเฉพาะโรงเรียนนายร้อยตำรวจ โรงเรียนนายสิบ หรือโรงเรียนที่ให้ความรู้เรื่องงานเรื่องบริหารอย่างเดียว จะต้องมีสถาบันหนึ่งที่พัฒนาบุคลากรตามแบบกระบวนการยุติธรรมสมัยใหม่ ต้องวางระบบให้ตำรวจมีแนวคิด หรือกระบวนทัศน์ ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมือง ให้รู้จักชุมชุน อ่อนโยน ไม่ใช่บังคับใช้กฎหมายอย่างแข็งกร้าวอย่างเดียว พูดง่ายๆคือเป็นสถาบันที่สร้างตำรวจให้เป็นที่รักของประชาชน ให้ประชาชนมีความศรัทธา เพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือแนวทางที่จะวางระบบใหม่ หากมีการปฏิรูป

@ ถ้ารัฐบาลเริ่มผลักดันการปฏิรูปจริงจังจะทำให้เห็นการปฏิรูปตำรวจที่เป็นรูปธรรมได้หรือไม่

ถ้าเริ่มกันจริงๆจังๆ ตอนนี้ในส่วนของร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ก็มีการพูดกัน ซึ่งกำลังจะปิดสมัยประชุม คณะกรรมาธิการฯก็ต้องเร่งพิจารณาเพื่อให้ทันเปิดสมัยประชุม จัดการให้เสร็จ และนำเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาวาระ 2 และ 3 ภายในสิ้นปีนี้ ให้จบภายในสิ้นปีนี้ให้ได้ นั่นถึงจะมองเห็นภาพการปฏิรูป เพราะยังต้องร่างอนุบัญญัติ และกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่มีการปฏิรูปตามกฎหมาย

“ขณะเดียวกัน ครม.ควรจะเร่งผ่าน ร่าง พ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ที่ยังหยุดชะงักอยู่ โดยควรผ่านโดยเร็ว และหากเห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน จำเป็น ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็อาจจะออกเป็น พ.ร.ก.ก็ได้ ตัดสินใจได้เลย ซึ่งจะเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่ง หากตัดสินใจเรื่องนี้เลยจะทำให้ประชาชนรู้สึกว่าท่านไม่ได้อยู่เฉย จะเรียกความเชื่อมั่นศรัทธาและไว้วางใจของประชาชนกลับมาได้ ซึ่งตอนที่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนเห็นควรจะปฏิรูป ดังนั้นท่านก็ต้องอาศัยวิกฤติเป็นโอกาส อย่าปล่อยให้มันเสียของ เมื่อวิกฤติผ่านมาแล้วต้องทำให้เกิดภาพการปรับปรุงการปฏิรูป”

ทั้งนี้นอกจากตำรวจแล้ว ต้องให้มีการปรับปรุงการทำงานของอัยการด้วย องค์กรอัยการต้องขยับเขยื้อน เรื่องบุคลาการที่มีความรู้ ที่มีคุณธรรมจริยธรรมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และสิ่งที่ควรเพิ่มเติมคือการทำงานร่วมกับตำรวจให้มีประสิทธิภาพ และบรรลุผล ไม่ใช่ลงไปแล้วไปฮั้วกัน ส่วนกรณีของศาล จะต้องเปลี่ยนจากระบบกล่าวหา เป็นระบบไต่สวน โดยควรจะเริ่มต้นจากการค้นหาความจริง ว่าคดีนั้นๆเกิดจากอะไร ใครเป็นผู้กระทำผิดกันแน่ คนที่คิดหรือสั่งการ.