ขอฝากเนื้อฝากตัวกับท่านผู้อ่านเดลินิวส์ วันนี้ “เชิงผา” ประเดิมเขียนคอลัมน์ “คิดอ่าน กว้างไกล” จะมีนำเสนอประจำทุกวันพุธ สัปดาห์นี้ต้องขอหยิบยกเรื่องราวของผลกระทบจาก “กลุ่มตำรวจนอกรีต” มานำเสนอเพราะตำรวจหรือผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ นับเป็นอาชีพที่ต้องใกล้ชิดดูแลทุกข์สุขของประชาชนอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง คงไม่มีใครปฏิเสธ หากเกิดปัญหาอะไรขึ้นกับตัวเองหรือครอบครัวญาติพี่น้อง อันดับแรก ๆ ที่ยังต้องนึกถึงและหวังพึ่งพาอยู่เสมอหนีไม่พ้นตำรวจ

แถมยังเปิด “ด้านมืด” ของตำรวจ ออกมาให้สังคมได้รับรู้กันแบบไม่ต้องบรรยายเนื้อหา มันจึงไม่ใช่เป็นเรื่องราว “เค้าเล่าว่า“ อีกต่อไป เป็นเรื่องจริงของกลุ่มตำรวจนอกรีต รุมซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิตอย่างน่าสลด

คดีนี้แม้ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนผล (นรต.รุ่น 57) หรือ โจ้ เฟอร์รารี อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ พร้อมลูกน้องอีก 6 คน ชีวิตจะพลิกผันจาก ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ กลายเป็น ผู้ต้องหา โทษหนักทั้งอาญาและวินัยให้ออกจากราชการ

ถ้าว่ากันไปตามพุทธสุภาษิต “สัตว์โลกทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรม”  แต่ผลกรรมครั้งนี้ไม่ได้ส่งผลต่อกลุ่มตำรวจนอกรีตที่กระทำขึ้นมาเท่านั้น กลายเป็นเรื่องของ ความสั่นคลอนวิกฤติศรัทธาต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในยุคของ บิ๊กปั๊ด-พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข (นรต.36) ผบ.ตร. ที่ต้องผจญสารพัดมรสุมถาโถมเล่นงานตำรวจต่อเนื่อง

ไล่ตั้งแต่ปัญหาแรงงานต่างด้าว, บ่อนพนันและพนันออนไลน์ที่มีให้เลือกเล่นราวกับเปิดเสรี, ยาเสพติดเกลื่อนเมือง, การใช้ความรุนแรงเล่นงานม็อบ ยิงกระสุนยาง แก๊ส น้ำตา ไม่เป็นไปตามหลักสากล ฯลฯ

กระทั่งมาเกิดคดีผู้กำกับโจ้  เหมือนฝีแตก หลากหลายเรื่องราวทะลักออกมา คดีเดียวแยกออกได้หลากหลายมิติ ทั้งเส้นทางชีวิตราชการ 17 ปี ก้าวขึ้นสู่เก้าอี้ “ผู้กำกับ” ประเดิมนั่ง โรงพักใหญ่เกรดเอ

นายตำรวจหนุ่ม อายุ 39 ปี มีทั้งทรัพย์สิน บ้านคฤหาสน์ใหญ่โต เนื้อที่ 5 ไร่ ในกรุงเทพมหานคร รถหรูซูเปอร์คาร์อีกนับสิบคัน จนทำให้ ป.ป.ช. และป.ป.ป.โดดลงไปตรวจที่มาของทรัพย์สินเบื้องต้น?

เหนือสิ่งอื่นใดแทบจะทุกภาคส่วนของสังคม ต่างตะโกนถามดัง ๆ ว่า “กระบวนการปฏิรูปตำรวจ” ไปถึงไหนแล้ว? ทั้งที่เรื่องนี้อยู่ใน “แผนปฏิรูปประเทศ”  ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เข้ามาทำรัฐประหาร ปี 57

เวลาผ่านไป 7 ปี การเดินหน้าปฏิรูปตำรวจ ยังคงเป็นเพียง ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ….. รัฐสภา แก้แล้วแก้อีก โดยต้นปี 64 ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นพิจารณา วาระที่ 2 โดยร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ มี 172 มาตรา พิจารณาแล้ว 14 มาตรา

ท่ามกลางวิกฤติศรัทธา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องรีบพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ให้ความสำคัญตามขันนอต ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ ให้เร็วขึ้นอีก

หรือจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายใหญ่ประจำปี 2564 กำลังใกล้มาถึง โดยเฉพาะตำแหน่ง “ผกก.” ผู้นำของโรงพักต้องเหมาะสมครบเครื่อง ทั้งความสามารถและอาวุโสที่จะปกครองบริหารโรงพักได้อย่างแท้จริง

แต่ถ้ายังปล่อยให้ปัญหาเงียบ ๆ ไปแบบไฟไหม้ฟาง เชื่อว่าการจะกู้ภาพลักษณ์ตำรวจกลับคืนมาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ.

————
เชิงผา