องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization – UNESCO) กำหนดให้วันที่ 8 กันยายนของทุกปีเป็นวันที่ระลึกสากลแห่งการรู้หนังสือ (International Literacy Day) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สังคมโลกตระหนักถึงความสำคัญของการรู้หนังสือ การประชุมครั้งแรกขององค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี 2489 ได้เรียกร้องให้ชาวโลกให้ความสำคัญกับการศึกษาแก่ประชากรโลก โดยเฉพาะเรื่องเด็กไม่ได้เข้าโรงเรียนตามวัย ซึ่งต่อมาที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโลกว่าด้วย การขจัดการไม่รู้หนังสือ (World Conference of Ministers of Education on the Eradication of literacy) ณ กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน ในปี 2508 มีการเสนอให้วันที่ 8 กันยายน ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นของการประชุมดังกล่าวเป็นวันระลึกปีสากลแห่งการรู้หนังสือ ภายใต้แนวคิดว่าด้วยการขจัดการไม่รู้หนังสือของประชากรโลก

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติได้นำเสนอวาระว่าด้วย การรู้หนังสือเป็นการให้อิสรภาพแก่ผู้คนทั้งหลาย เป็นอิสรภาพจากความไม่รู้ มีอิสรภาพจากความยากจน อิสรภาพจากความเจ็บไข้ได้ป่วย การรู้หนังสือจากการศึกษาเล่าเรียนจะเป็นโอกาสให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเสรี มีชีวิตที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นจากการดำรงชีวิตและดำเนินชีวิตอย่างมีอิสรภาพ การรณรงค์ให้เห็นความสำคัญของการรู้หนังสือในวันที่ 8 กันยายนของทุกปี เป็นความพยายามเรียกร้องให้รัฐบาลของทุกๆ ประเทศ และทุกๆ คนในสังคม เกิดความตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องระดมสรรพกำลังแก้ปัญหาความไม่รู้หนังสือของประชากรในแต่ละประเทศอย่างจริงจัง

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติย้ำเตือนประชาคมนานาชาติถึงสถานการณ์ของการรู้หนังสือและการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ทั่วโลก อาทิ ผู้ใหญ่ราว 776 ล้านคนขาดทักษะการรู้หนังสือขั้นต่ำ โดย ผู้ใหญ่ 1 ใน 5 ยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และ 2 ใน 3 ในจำนวนนี้เป็นสตรี เด็กราว 75 ล้านคนต้องออกจากโรงเรียน และอีกมากกว่านั้นเข้าร่วมการศึกษานอกระบบหรือออกโรงเรียนก่อนวัย

จากรายงานการเฝ้าดูทั่วโลกว่าด้วยการศึกษาสำหรับทุกคนปี 2551 เอเชียใต้และเอเชียตะวันตกเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ต่ำที่สุด ร้อยละ 58.6 ประเทศที่มีอัตราการรู้หนังสือต่ำที่สุดในโลก คือ ประเทศบูร์กินาฟาโซ ร้อยละ 12.8 รายงานดังกล่าวแสดงความเชื่อมโยงอย่างชัดเจนระหว่างอัตราการไม่รู้หนังสือกับประเทศที่ตกอยู่ในภาวะยากจนรุนแรง และระหว่างอัตราการไม่รู้หนังสือกับอคติที่มีต่อสตรี

สำหรับประเทศไทยกระทรวงศึกษาธิการได้เริ่มจัดกิจกรรมที่กองการศึกษาผู้ใหญ่และตามโรงเรียนผู้ใหญ่ทั่วไปตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการรู้หนังสือและการศึกษาตลอดชีวิต ต่อมาในปี 2520 กองการศึกษาผู้ใหญ่ได้จัดนิทรรศการ “วันการศึกษาผู้ใหญ่แห่งชาติ” ณ หอสมุดแห่งชาติ กรุงเทพฯ และในปี 2521 ได้จัดนิทรรศการ “วันการศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษานอกระบบ” ณ บริเวณโรงละครแห่งชาติ ซึ่งมีหน่วยงานจากภายนอกมาร่วมสมทบการจัดงานด้วย

การจัดการศึกษานอกโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการมีการดำเนินกิจกรรมในหลายรูปแบบ ได้แก่ การสอนให้คนอ่านออกเขียนได้ เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานในการดำรงชีวิต อาทิ โครงการรณรงค์เพื่อการรู้หนังสือแห่งชาติ โครงการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน และโครงการศึกษาต่อเนื่อง การจัดที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดเคลื่อนที่ วิทยุและโทรทัศน์เพื่อการศึกษาและเพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่ทันต่อเหตุการณ์ การสอนวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น โครงการฝึกอบรมต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้แก่กลุ่มเป้าหมายด้านวิชาชีพ และให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จังหวัดจันทบุรี เป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ซึ่งสังกัดอยู่กับสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานที่มีการขับเคลื่อนการทำงานตามพันธกิจและภารกิจที่มีความเข้มแข็งอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยความร่วมมือในการทำงานของผู้อำนวยการ กศน.ทุกอำเภอ ซึ่งมีการบูรณาการการทำงานกันอย่างใกล้ชิด จนทำให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย ประชาชนมีความตื่นรู้และตื่นตัวกับการรู้หนังสือและรักการอ่านมากขึ้น เป็นตัวอย่างที่ดีแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของชาติในส่วนภูมิภาค

การพูด อ่าน เขียนภาษาไทยไม่ถูกต้อง เป็นปัญหาสำคัญซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของการศึกษาระดับชาติทั้งระบบ เพราะมีความเกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา และอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษาในปัจจุบันเน้นความสำคัญกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Learning) รวมถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ถ้าหากมีปัญหาในการอ่าน กล่าวคือ อ่านไม่ถูกต้อง อ่านแล้วไม่เข้าใจความหมายในคำที่อ่าน อ่านแล้วไม่สามารถจับใจความจากข้อความที่อ่านได้ ไม่สามารถแยกแยะความเป็นเหตุเป็นผลจากสาระที่อ่านได้  ก็ไม่สามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลได้ การสื่อสารโดยการพูดและเขียนก็มีปัญหาเช่นกัน

โดยข้อเท็จจริงแล้วคนไทยในอดีตพูดกันได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ อ่านและเขียนภาษาไทยได้อย่างถูกต้อง เพราะได้รับการถ่ายทอดความรู้ตามหลักตามหลักภาษาไทย ภายใต้แม่บทมาตราแม่ ก กา และมาตราตัวสะกด ซึ่งมีการแจกลูกและสะกดคำ จำแนกตามอักษรสามหมู่ (ไตรยางศ์) ประกอบด้วยอักษรสูง อักษรกลาง อักษรต่ำ พร้อมกับการผันรูปและเสียงรวรณยุกต์ ประกอบด้วยไม้เอก ไม้โท ไม้ตรี ไม้จัตวา หากไม่เรียนภาษาไทยเช่นนี้ก็ไม่มีทักษะในการสะกดคำอ่านและสะกดคำเขียนได้อย่างถูกต้อง สิ่งนี้เป็นการเรียนรู้ด้วยความเข้าใจ ไม่ใช่จำเป็นคำๆแบบนกแก้วหรือนกขุนทอง ปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ การพูดหรือการอ่านออกเสียงไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี เป็นการทำลายภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติ โดยออกเสียงคำที่มี ร หรือคำที่มี ล ซึ่งเป็นพยัญชนะต้นเหมือนกัน แท้ที่จริงแล้วต้องออกเสียงต่างกัน คำที่มีอักษรควบกล้ำ ร ล ว ก็ต้องออกเสียงคำควบกล้ำต่างกันด้วย

ประเทศไทยมีการปฏิรูปการศึกษามาแล้ว 2 ครั้ง ปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 1 ระหว่างปี 2542-2551 ปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2552-2561 และปัจจุบันอยู่ในห้วงเวลาปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 3 ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา การปฏิรูปการศึกษาจะต้องดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติในหลายมิติ แต่มิติที่สำคัญอย่างยิ่งยวดซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานในการอ่านออกเขียนได้อย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ด้วยประการทั้งปวง การศึกษาของชาติทั้งระบบจะต้องเอื้อประโยชน์ต่อการรู้หนังสือและพัฒนาทักษะการอ่านออกเขียนได้ของเด็กและเยาวชนเพราะภาษาไทยเปรียบเสมือนกุญแจสำหรับไขวิชาความรู้ในศาสตร์ทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์หรือด้านสังคมศาสตร์

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของทักษะในการอ่านและการอ่านที่ไม่มีคุณภาพอย่างเพียงพอของนักเรียนไทย ซึ่งไม่สามารถจับใจความสำคัญจากการอ่านได้และตอบโจทยไม่ตรงประเด็น การสอบของนักเรียนไทยใน โครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment-PISA) จัดขึ้นโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการ พัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development-OECD) ที่มีการจัดสอบเป็นประจำทุก 3 ปี เพื่อประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของประเทศต่าง ๆ ซึ่งมีนักเรียนต่างชาติกว่า 80 ประเทศเข้าร่วมโครงการฯ ในการเตรียมความพร้อมเยาวชนที่มีอายุ 15 ปี ให้มีศักยภาพหรือความสามารถพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

โครงการประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล เน้นการประเมินสมรรถนะของนักเรียนเกี่ยวกับการใช้ความรู้และทักษะในชีวิตจริงมากกว่าการเรียนรู้ตามหลักสูตรในโรงเรียน โดยประเมินสมรรถนะที่เรียกว่า Literacy ซึ่งหมายถึงความฉลาดรู้ในสามด้าน ได้แก่ ความฉลาดรู้ด้านการอ่าน (Reading Literacy) ความฉลาดรู้ด้านคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) และความฉลาดรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (Scientific Literacy)

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ให้ข้อมูลว่า จากการประเมินในด้าน ความฉลาดรู้ด้านการอ่านของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ระบบการศึกษาไทยจึงต้องยกระดับความสามารถด้านการอ่านของนักเรียนอย่างเร่งด่วนตามที่ปรากฏผลการสอบ ดังนี้  

การประเมินผลด้านการอ่านของนักเรียนไทย ปี 2543 ได้ 431 คะแนน ปี 2546 ได้ 420 คะแนน ปี 2549 ได้ 417 คะแนน ปี 2552 ได้ 421 คะแนน ปี 2555 ได้ 441 คะแนน ปี 2558 ได้ 409 คะแนน ปี 2561 ได้ 393 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบผลการสอบของนักเรียนไทยกับคะแนนค่าเฉลี่ยของ OECD ปรากฏว่า ปี 2555 ไทยได้ 441 คะแนน ค่าเฉลี่ย OECD 496 คะแนน ปี 2558 ไทยได้ 409 คะแนน ค่าเฉลี่ย OECD 493 คะแนน ปี 2561 ไทยได้ 393 คะแนน ค่าเฉลี่ย OECD 487 คะแนน

วันการรู้หนังสือสากลเป็นวันสำคัญที่จัดขึ้นทุกวันที่ 8 เดือนกันยายนของทุกปี ผ่านมาแล้ว 1 วัน ในขณะที่วันภาษาไทยแห่งชาติเป็นวันสำคัญที่จัดขึ้นทุกวันที่ 29 เดือนกรกฎาคมของทุกปี ผ่านมาแล้วเดือนเศษ ความสำคัญของวันทั้งสองที่กล่าวถึงนี้มีความเกี่ยวเนื่องกัน มิอาจแยกจากกันได้ รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 3 ในทุกมิติอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ประการสำคัญที่สุด คนไทยต้องอ่านออกเขียนได้กันทุกคน เพื่อให้สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณค่า

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”