แม้ความร้อนแรงทางการเมืองจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจจะผ่านไปแล้ว แต่ยังมีผลพวงที่จะกลายเป็นเงื่อนปมทางการเมืองในอนาคต ตั้งแต่การเมืองในระดับพรรคการเมืองไปจนถึงบริบทการเมืองระดับชาติ “ทีมการเมืองเดลินิวส์” มีโอกาสสนทนากับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เพื่อตีแผ่แนวโน้มสถานการณ์การเมืองที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้

โดย ดร.สติธร เปิดฉากกล่าวว่า หลังจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา ทุกพรรคก็เข้าสู่โหมดเตรียมเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นประมาณ 1 ปีหลังจากนี้เป็นอย่างน้อย โดยทุกคนเริ่มเตรียมตัวแล้ว ซึ่งในเวทีซักฟอกเหมือนทิ้งทวน ทั้งฝ่ายค้านฝ่ายรัฐบาล มีการแสดงออกอย่างเต็มที่อย่างที่เราเห็น พรรครัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐก็แสดงให้เห็นการเขย่ากันเอง ส่วนกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาลทั้งพรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ก็แสดงให้เห็นถึงความเหนียวแน่น ทั้งภายในพรรคตัวเอง และพรรคเล็กพรรคน้อย รวมทั้งงูเห่าต่างๆ ที่ดูเหมือนว่ามีแนวโน้มว่าสมัยหน้าจะย้ายมาอยู่กับกลุ่มนี้แน่ ส่วนทางฝั่งพรรคฝ่ายค้านก็เริ่มเห็นแล้วว่า ทั้งพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย แม้จะเป็นขั้วเดียวกัน แต่ก็แข่งกันอยู่ในทีอยู่แล้ว และค่อนข้างชัดขึ้นเรื่อยๆ

สถานการณ์การเมืองหลังจากนี้อาจไม่ร้อนแรงจนถึงขั้นเขย่าเพื่อล้มรัฐบาล เมื่อทุกคนพร้อมเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง การเมืองก็อยู่กันไปตามเส้นทางของมัน ทั้งการเมืองในสภา การแก้รัฐธรรมนูญ แต่ศึกที่จะเกิดขึ้นเองจะอยู่กับพรรคต่างๆ เป็นหลัก ศึกภายในจะเป็นโจทย์เวลามีการเตรียมการเลือกตั้ง

นอกจากนั้นหากกติกาเปลี่ยนเป็น 2 บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่งนักการเมืองแต่ละคนก็จะต้องวางตัวเองแล้วว่าจะอยู่ระบบเขตหรือระบบบัญชีรายชื่อ โดยการเตรียมการเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆ จะถูกทดสอบครั้งที่ 1 คือ การเลือกตั้งท้องถิ่น โดยการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะเป็นการทดสอบฐานเสียงต่างจังหวัด ส่วนการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ก็จะเป็นการทดสอบฐานเสียงใน กทม. ซึ่งการเลือกตั้ง 2 ส่วนนี้ เป็นสัญญาณบอกแล้วว่าการยุบสภาจะไม่เกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น 2 ส่วนนี้แน่ อย่างน้อยๆ ต้องหลังเลือกตั้ง กทม.เสร็จ ซึ่งก็จะครอบคลุมประมาณ 1 ปี

@ความร้อนแรงของศึกภายในพรรคใดมีแนวโน้มที่จะดุเดือดมากที่สุดจะส่งผลอย่างไร

ต้องดูก่อนว่าผลลัพธ์ของศึกอภิปรายที่เกิดขึ้นจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะตัวของ รอ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัด ตกลงจะโดนเช็คบิล หรือจะถูกเลี้ยงดูให้ดีขึ้น แต่ก็เป็นเรื่องที่ยังก้ำกึ่งอยู่ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นตัวชี้วัดว่าศึกในพรรคพลังประชารัฐ และที่มีความน่ากังวล คือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้เขาโดดเด่นเท่าทีควรในฐานะพรรคฝ่ายค้านอันดับหนึ่ง แถมยังมีงูเห่าข้างใน ความขัดแย้งภายใน ก็จะกลายเป็นว่ามีปัญหาของเขาเอง

ส่วนพรรคระดับกลาง ก็จะไปมีปัญหาที่เรื่องระบบเลือกตั้ง หากเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบได้ไปต่อ พรรคภูมิใจไทย ก็อาจจะมีปัญหา และอาจจะเสียเสียงไปหลายที่ พรรคก้าวไกลก็เสียหายเยอะ รวมไปถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วย ซึ่งสิ่งที่จะเป็นตัวชี้ชะตากรรมในการปรับยุทธศาสตร์และการเขย่ากันเองภายในมากน้อยแค่ไหนก็คือระบบเลือกตั้ง

@ภายใน 1 ปีหลังจากนี้ จะไม่มีภาพเกมการเมืองการเลื่อยขาเก้าอี้นายกฯ เหมือนที่เกิดขึ้นในการอภิปรายไม่ไว้วางใจใช่หรือไม่

เหมือนเกมการเลื่อยขาเก้าอี้จบแล้ว เพราะแต้มต่อกลับไปอยู่ที่มือนายกฯอีกที ซึ่งหลังจากนี้นายกฯจะเป็นคนเลือกว่าจะปรับครม.หรือไม่ จะให้รางวัลใคร จะลงโทษใคร ก็จะอยู่ในมือเขา ซึ่งอย่างน้อยๆ ก็คงจะยาวไปพอสมควร เพราะปกติแล้วสิ่งที่จะเขย่าอำนาจนายกฯได้มีไม่กี่เรื่อง เรื่องงบประมาณก็ต้องรองบประมาณปีหน้า หรือเรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจก็ต้องรอปีหน้า แต่คงไม่มีประโยชน์หากใกล้ช่วงเลือกตั้ง ดังนั้นถ้าจะเลื่อยก็ต้องเป็นการเลื่อยโชว์นายกฯ ว่าคนเก่าไม่เหมาะสมอย่างไร แล้วตัวเองเข้าไปเสียบ

พอนายกฯผ่านวิบากกรรมตรงนี้ไปได้ ก็แปลว่ารอดไปอีกเปราะหนึ่ง แต่ถ้าจะซวยจริงๆ ต้องโดนเปลี่ยนตัวอีกทีหนึ่ง ก็คือสถานการณ์โควิด-19 เละเทะ แต่แนวโน้มไม่เป็นอย่างนั้น ตัวเลขเริ่มลง มีวัคซีนเข้ามา จะมีพลิกสถานการณ์อีกทีก็อาจจะเป็นการระบาดระรอกที่ 5 หรือเกิดสายพันธุ์ใหม่กลายพันธุ์ที่วัคซีนเอาไม่อยู่ แต่ก็มีโอกาสน้อย

มีการมองว่าศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์ 3 ป.มีปัญหา

ถ้ามีปัญหาจริง จะต้องส่งผลแน่ เพราะ 3 ป. มีการแบ่งกันไว้เป็น 3 ขา ที่พึ่งพากัน คนหนึ่งดูการเมือง คนหนึ่งดูนโยบาย ดูรัฐบาล อีกคนหนึ่งดูระบบราชการที่โยงไประดับภูมิภาค ระดับท้องถิ่น หากขาดขาใดขาหนึ่ง ความเข้มแข็งที่มีการวางกันมา 6-7 ปี จะเสียสมดุลไป เชื่อว่าหากเขาคิดตามเป้าหมายที่จะอยู่ยาว อย่างน้อยก็จะต้องชนะเลือกตั้งอีกสมัยหนึ่ง เขาก็คงไม่อยากขัดแย้งจนแตกกันเอง และด้วยเยื่อใยสายสัมพันธ์ที่อยู่กันมาเป็นสิบๆปี มันก็น่าจะอภัยให้กันได้ในหมู่ 3 คนเขา ส่วนใครที่เข้ามาสอดแทรกแล้วเป็นตัวปัญหาก็ต้องไปว่ากันตรงนั้น แต่ถ้าให้ 3 คนนี้แตกกันจริง โดยทางยุทธศาสตร์ก็ไม่ควร โดยทางความสัมพันธ์ส่วนตัวที่มีกันมาก็ไม่น่าจะแตกกันง่ายๆ

@เกมการเมืองนอกสภาจะเป็นไปในทิศทางไหน

การเมืองนอกสภาตอนนี้ต้องยอมรับว่ากลายเป็นเกมยาวแล้ว จะยื้อกันไปอย่างนี้ จะไม่มีการนัดชุมนุมใหญ่แบบแตกหัก แต่จะเป็นการชุมนุมแบบรายวัน มีอีเว้นต์ใหญ่รายสัปดาห์รายเดือน แม้เป้าหมายยังอยู่ แต่ไม่ใช่เป้าหมายที่จะต้องได้ในเร็ววันนี้ ค่อยๆว่ากันไป ซึ่งเขาต้องมองว่าท้ายที่สุดแล้วมันก็ต้องมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกต่อผู้คน และก็จะช่วยกระตุ้นเมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง คนที่เห็นด้วยกับแนวทางที่เขาเรียกร้องต่อสู้ ก็จะไปโหวตให้พรรคการเมืองที่อยู่ในสายอุดมการณ์ และจุดยืนทางการเมืองเดียวกับเขา และมีโอกาสพลิกขั้วเขาจะเชื่ออย่างนั้น แต่โดยความเป็นม็อบจะไปล้มรัฐบาลหรือเปลี่ยนโครงสร้างสังคมขนาดใหญ่ คงไปถึงขนาดนั้นไม่ได้

ม็อบปะทะรัฐบาลอาจจะพอมีบ้าง แต่ถึงขั้นแบบเหตุการณ์ลุกฮือขนาดใหญ่ รัฐบาลต้องปราบปรามแบบ ในยุคพฤษภา 35 คงไม่มีทาง จะเป็นเหมือนยุคเสื้อแดงปี 52-53 ก็คงไม่ขนาดนั้น เพราะบรรยากาศก็ไม่พาให้คนออกไปชุมนุมขนาดนั้น และสมัยนี้คนสามารถแสดงออกได้ทางโซเชียลมีเดีย ในโลกออกไลน์ได้เยอะ ความร้อนแรงอาจจะอยู่ในโลกโซเชียล รัฐบาลก็รบกับนักรบโซเชียลกันต่อไป ซึ่งก็จะทำให้ความขัดแย้งในระดับปะทะกันรุนแรงโอกาสก็จะเกิดขึ้นน้อยลง

โปรย