ใครกำลังจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะแถบมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ตามเมืองสำคัญไม่ว่าจะเป็นลอสแอนเจลิส (แอลเอ) ซานฟรานซิสโก มักจะถูกเตือนให้ระวังภัยจากโฮมเลส (Homeless) หรือคนไม่มีที่อยู่อาศัย หรือไร้ที่อยู่อาศัย ไม่มีที่อยู่อาศัยแม้แต่บ้านของครอบครัวหรือเพื่อน จึงต้องอาศัยอยู่ตามฟุตบาทริมถนน ออกมาก่ออาชญากรรม ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในย่านใจกลางเมือง

ทำไมเมืองใหญ่อย่างแอลเอ และซานฟรานฯ จึงมีโฮมเลสมากมาย สถิติการก่ออาชกรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินมีสูง ทีมข่าว Special Report มีโอกาสเดินทางไปนครซานฟรานฯ ในช่วงการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 15-17 พ.ย.66 และได้สนทนากับนายณัฏฐ์นวัต (กบ) อัครภาสุตนันท์ อายุ 49 ปี หนุ่มเมืองเพชร ที่ไปเป็นเจ้าของร้านอาหารแซ่บเว่อร์ และร้านฟิน (FIN) ในซานฟรานฯ เกี่ยวกับธุรกิจร้านอาหารและปัญหาโฮมเลส ที่เป็นเรื่องขึ้นชื่อของนครแห่งนี้

ธุรกิจร้านอาหารไทยยังไปได้

นายณัฏฐ์นวัตกล่าวว่าทำร้านอาหารแซ่บเว่อร์มาแล้ว 8 ปี ส่วนร้านอาหารฟิน ซึ่งเป็นแนวซีฟู้ดเพิ่งเปิดได้ประมาณ 1 สัปดาห์ ในซานฟรานฯ มีคนไทยมาทำร้านอาหารเป็นร้อยๆร้าน แต่มีปิดๆ ไปบ้าง โดยเฉพาะช่วงโควิดระบาดหนัก ร้านอาหาร ร้านค้าปิดกันเยอะ ส่วนร้านตนไม่เคยปิด แต่ลดพนักงานเหลือครึ่งเดียว แล้วขอกันว่าจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ เรียกว่าต่อสู้มาจนปัญหาโควิดเบาบางลงไป เมื่อโควิดคลี่คลายลงไปแล้ว ก็กลับมาเปิดร้านกันใหม่ โดยช่วงหลังสังเกตว่ามีคนรุ่นใหม่เปิดร้านอาหารกันมากขึ้น

“ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในซานฟรานฯ ยังไปได้ เนื่องจากอาหารเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต แต่จะอยู่รอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจุดขายของแต่ละร้าน รวมทั้งรสชาติอาหาร และทำเลที่ตั้งว่าอยู่ตรงไหน ถ้ามีใน 2 สิ่งแรก แล้วร้านตั้งอยู่ย่านคนรวย อยู่ได้แน่นอน เพียงแต่ต้องเสียค่าเช่าร้านแพงหน่อย”

เจ้าของร้านแซ่บเว่อร์ และร้านอาหารฟินกล่าวต่อไปว่าซานฟรานฯ เป็นเมืองโรแมนติก มีสถานที่ท่องเที่ยวเยอะ แต่เท่าที่สังเกตแม้ว่าโควิดจะคลี่คลายลงไปเกือบปีแล้ว จนถึงปัจจุบัน แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังน้อยอยู่ หรือว่านักท่องเที่ยวกลัวโฮมเลส และปัญหาอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพย์สินในซานฟรานฯ ซึ่งกำลังโด่งดังอยู่ในขณะนี้

ก่อนหน้านี้โฮมเลสมีแต่คนผิวดำ แต่ปัจจุบันโฮมเลสเป็นคนผิวขาวก็มี มีการก่ออาชญกรรมเยอะ ไม่ว่าจะเป็นการทุบกระจกรถยนต์เพื่อลักทรัพย์สินที่อยู่ในรถ ใครใส่นาฬิกาแพงๆ มาเดินเที่ยวแบบไม่ระมัดระวังจะเจอพวกโฮมเลสตามประกบแล้วจี้ชิงนาฬิกาๆไปเลย ร้านอาหารของคนไทยหลายร้านเคยถูกบุกปล้นเอาเงินไป เมื่อประมาณ 9 ปีที่แล้ว ร้านนี้(แซ่บเว่อร์)กับเจ้าของร้านคนก่อนตน เมื่อปิดร้านตอนกลางคืนก็มีโจรบุกเดี่ยว ถืออาวุธปืนเข้ามาปล้นเอาเงินไปจำนวนหนึ่ง

กฎหมายเอื้อให้อาชญากรรมเต็มเมือง!

ส่วนบริเวณร้านของตน จะเตือนลูกค้าทุกคนที่มารอดรถหน้าร้าน ว่าทรัพย์สินมีค่า-กระเป๋าแบรนด์เนม-กล้องถ่ายรูป อย่าทิ้งไว้ในรถเด็ดขาด! บางคนเห็นว่าเป็นทรัพย์สิน หรือข้าวของในเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ไม่วายโดนทุบกระจกรถ บางวันโดนทุบกระจก 2 คัน หลังเกิดเหตุโทรฯ แจ้งตำรวจเป็นชั่วโมงกว่าจะมา เมื่อมาแล้วก็ทำได้แค่จดบันทึกเหตุการณ์ แต่ไม่เคยเห็นจับคนร้ายได้เลย บางครั้งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อหน้าตำรวจก็ไม่จับ เนื่องจากตำรวจกลัวถูกฟ้องร้องว่ากระทำเกินกว่าเหตุ

“มันเป็นความแย่ของเจ้าหน้าที่ผู้ออกกฎหมายในมลรัฐแคลิฟอเนีย (แอลเอ-ซานฟรานฯ) เป็นการส่งเสริมให้เกิดอาชญากรรมเต็มเมือง คือถ้ามีการบุกเข้าไปขโมยของในร้านค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 900 เหรียญฯ (ประมาณ30,000บาท) เขาถือว่าเป็นข้อหาธรรมดา ไม่อุกฉกรรจ์ ถ้าจับได้ก็ปล่อย ไม่ติดคุก เพราะติดคุกแล้วเสียเวลา ดังนั้นการลักเล็กขโมยน้อย การทุบกระจกรถฉกทรัพย์สินจึงเต็มเมือง โดยเฉพาะในย่านกลางเมือง แต่ถ้าออกนอกเมือง หรือชานเมืองจะไม่มีปัญหาโฮมเลส”

ส่วนตำรวจในซานฟรานฯ ก็ไม่อยากจับกุม เพราะกลัวถูกร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน กลัวถูกฟ้องร้องว่ากระทำกับโฮมเลสเกินกว่าเหตุ ขนาดมีเหตุเกิดขึ้นซึ่งหน้าตำรวจยังไม่จับเลย ดังนั้นตำรวจในซานฟรานฯ จึงลาออกกันมาก ไปทำงานอย่างอื่นดีกว่า เวลามีงานใหญ่ๆ จึงต้องเอาตำรวจทางหลวงมาช่วยงาน เนื่องจากตำรวจซานฟรานฯไม่พอ ก่อนมีการประชุมเอเปค 2-3 วัน เพิ่งมีการเคลียร์โฮมเลสออกไป แต่หลังจากนั้นก็กลับมาอีก

ที่ผ่านมามีคนไปร้องเรียน ร้องทุกข์กันมากมายว่าโฮมเลสละเมิดสิทธิเสรีภาพเขา บางทีมากางเต๊นท์นอนกันอยู่หน้าร้านแบบไม่สนใจใคร แล้วเข้ามาหยิบฉวยเงิน หรือทรัพย์สินมีค่า 10-20 เหรียญฯ เจ้าของร้านถูกละเมิดสิทธิ แต่ทำอะไรโฮมเลสไม่ได้ โทรฯตามตำรวจก็ไม่อยากมา หรือเป็นชั่วโมงกว่าจะมา นี่คือสภาพความเป็นจริงในซานฟรานฯ ที่ทุกคนต้องระวัง

โดยเฉพาะคนต่างถิ่น นักท่องเที่ยว รวมทั้งรถยนต์เช่า รถยนต์จากมลรัฐอื่นๆ โฮมเลสดูออกหมด ถ้าจอดรถทิ้งทรัพย์สินไว้ โดยไม่มีคนเฝ้ารถ มักจะไม่พลาดเรื่องการถูกทุบกระจกรถ ปัญหาเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ย่านใจกลางเมือง แต่ถ้าคุณออกไปอยู่ชานเมืองก็จะไม่ปวดหัวกับโฮมเลส และโจรทุบกระจกรถ

ค่าแรงสูง-ขาดแคลนคนงาน-ขอวีซ่ายาก!

ปัจจุบันซานฟรานฯ เป็นเมืองมีค่าจ้างแรงงานสูงสุดในย่านนี้ ก็ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ยกตัวอย่างพนักงานเสิร์ฟในร้านทำงานได้ค่าจ้างชั่วโมงละ 18.9 เหรียญฯ ถ้าจะเป็นเชฟได้ชั่วโมงละ 20-22 เหรียญฯ โดยส่วนใหญ่ได้ค่าจ้าง รวมกับทิปแล้วจะตกประมาณเดือนละ 5,000-6,000 เหรียญฯ (ประมาณ 175,000-210,000บาท) ตอนนี้แรงงานไทยในซานฟรานฯ ขาดแคลน เพราะกลับเมืองไทยไปกันเยอะช่วงโควิดระบาด แต่ยังกลับมาไม่ได้ เพราะขอวีซ่าไม่ผ่าน รวมทั้งคนที่มาเรียนหนังสือก็ขอวีซ่ายาก แต่ถ้าคนแต่งงานขอวีซ่าไม่ยากเท่าไหร่

“อยู่ที่นี่ย่านใจกลางเมืองจะปวดหัวมากหน่อยกับโฮมเลส และโจรทุบกระจกรถ ถ้าขยับห่างจากกลางเมืองออกมา เช่นย่านดีไซน์ดิสติกที่ผมอยู่โฮมเลสจะน้อย แต่โจรทุบกระจกรถยังมีบ้าง หรือไกลออกไปชานเมืองก็ไม่มีโฮมเลส แต่นครซานฟรานฯ อากาศดี รถไม่ติด เวลาเจ็บป่วย พิการ หรือเป็นผู้สูงอายุ ผมว่าเขาดูแลดีกว่าอยู่บ้านเรา” เจ้าของร้านแซ่บเว่อร์ กล่าว