ด้วยร่างกายแต่ละคนตกอยู่ในสภาพพิการรุนแรง ตั้งแต่ใบหน้า มือ แขน ขา  นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตว่า“ถูกกระทำ”เพื่อแสวงหาประโยชน์ หรือเคยประสบเหตุร้ายแรงมาก่อนกันแน่…

นอกเหนือการคลี่คลายคดี เพื่อหา“ต้นตอ”เส้นทางขอทานจีนเหล่านี้  ประเด็นปัญหาการค้ามนุษย์เป็นโจทย์อ่อนไหวที่หลายฝ่ายกังวล โดยเฉพาะรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (Tip Report)ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯที่ประกาศจัดระดับสถานะ Tier (เทียร์)สะท้อนสถานการณ์ทุกปี  ซึ่งไทยอยู่มาแล้วทุกระดับ ตั้งแต่เทียร์ 3  คือระดับต่ำสุด 

“ยกเว้น”เพียงระดับดีสุด คือเทียร์ 1 ที่ยังไม่เคยไปถึง โดยสถานการณ์ค้ามนุษย์ของไทยส่วนใหญ่ลุ่มๆดอนๆอยู่ระดับปานกลาง และระดับต้องระวัง คือเทียร์ 2  และเทียร์ 2 เฝ้าระวัง 

และนี่เองทำให้กังวลกันว่า ปัญหาขอทานในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์และการประกาศระดับสถานการณ์ค้ามนุษย์ในปีต่อไปหรือไม่  

“ทีมข่าวอาชญากรรม” ย้อนทบทวนปัญหาผ่านสถิติจับกุมการค้ามนุษย์ที่ผ่านมา พบว่าปัญหาส่วนใหญ่ของการค้ามนุษย์ในไทยเป็นรูปแบบทางเพศ โดยเฉพาะการค้าประเวณี  การผลิตหรือเผยแพร่วัตถุ สื่อลามก และการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น  มากกว่ารูปแบบแรงงาน อย่างการบังคับใช้แรงงาน/นำคนมาลงเป็นทาส/ขูดรีด/ประมง  การนำคนมาขอทาน แรงงานบังคับ

โดยสถิติความผิดค้ามนุษย์ ณ วันที่ 21 พ.ย.66 ของศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) มีการจับกุมแล้ว 287 คดี มีผู้ต้องหา 387 คน เป็นคนไทย 337 คน ต่างชาติ 50 คน มีผู้เสียหาย 398 คน

เป็นการค้าประเวณีมี 201 คดี , ผลิตหรือเผยแพร่วัตถุ สื่อลามก 47 คดี  แสวงหาประโยชน์ทางเพศรูปแบบอื่น 13 คดี , นำคนมาขอทาน 13 คดี , บังคับใช้แรงงาน/นำคนมาลงเป็นทาส/ขูดรีด/ประมง 9 คดี , แรงงานเด็ก 2 คดี ,ขัดขวางการดำเนินคดี 1 คดี และแรงงานบังคับ 1 คดี  

อย่างไรก็ตาม หากเจาะคดีนำคนมาขอทาน แต่ละปีแม้จับกุมได้ไม่มาก แต่ที่น่าสนใจคือปีนี้มีการจับกุมได้แบบ“ก้าวกระโดด”เมื่อเทียบกับปีอื่นๆ ดังนี้

ปีTierคดีค้ามนุษย์เฉพาะขอทาน(คดี)
612311ไม่ระบุ
6222959
6321352
642 เฝ้าระวัง1912
6522593
662287 (ณ 21พ.ย.)13

ตามข้อมูลของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ตั้งแต่ปี 57-ปัจจุบัน มีบัญชีขอทานทั่วประเทศ 7,158 คน เป็นคนไทย 4,685 คน ต่างชาติ 2,473 คน ในกลุ่มต่างชาติเป็นกัมพูชามากสุด รองมาคือเมียนมาร์ และจีนที่พบมากขึ้น และตามคาดพื้นที่ กทม.พบปริมาณขอทานมากสุด 

หากเทียบจำนวน การ“นำคนมาขอทาน”อาจไม่ได้เป็นความผิดหลักของปัญหาค้ามนุษย์ในไทย  แต่ความพยายามขยับสถานการณ์เพื่อแก้ไขก็ควรขจัดในทุกมิติพร้อมกัน เพราะสุดท้ายไม่มีมนุษย์คนใดควรถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือถูกกระทำเยี่ยงสินค้า ไร้ชีวิต.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]