เมื่อการตายผิดธรรมชาติ ยังมีข้อสงสัย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไป “ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามขั้นตอนและข้อกฎหมายที่ควรรู้ติดไว้กับ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง อธิบดีอัยการสำนักงานคุ้มครองสิทธิ และช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน(สคช.) เปิดเผยว่า กรณีพบการตายผิดธรรมชาติ ตามวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 148 ระบุ เมื่อปรากฏแน่ชัดหรือสงสัยว่าบุคคลใดตายโดยผิดธรรมชาติซึ่งมี 5 ลักษณะคือ

ฆ่าตัวตาย , ถูกสัตว์ทำร้าย , ตายโดยอุบัติเหตุ ,ตายที่ยังไม่ปรากฏเหตุ ถูกผู้อื่นทำให้ตาย หรือตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน ให้มีการชันสูตรพลิกศพ ตาม ป.วิ.อาญา มาตรา 150 ที่ระบุว่า

ในกรณีที่ต้องมีการชันสูตรพลิกศพ ให้พนักงานสอบสวท้องที่ที่ศพนั้นอยู่กับแพทย์นิติเวชศาสตร์ ทำการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังให้พนักงานสอบสวนและแพทย์ดังกล่าวทําบันทึกรายละเอียดการชันสูตรพลิกศพทันที และให้ทำรายงานแนบท้ายบันทึกรายละเอียดด้วยภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเรื่อง ถ้ามีความจําเป็นให้ขยายระยะเวลาออกไปได้ไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 30 วัน

ทั้งนี้ ในกรณีที่ความตายมิได้เป็นผลแห่งการกระทําผิดอาญา ให้พนักงานสอบสวนส่งสํานวนชันสูตรพลิกศพไปยังพนักงานอัยการเมื่อเสร็จสิ้น ถ้าผลการชันสูตรพลิกศพเป็นประการใดก็ต้องมาพิจารณาประกอบสํานวนสอบสวนตํารวจ ดังนั้น ถ้าญาติผู้ตายหรือใครก็ตามที่สงสัย ถ้าติดใจแต่ไม่มีหลักฐาน ยอมรับว่าอาจจะยากในการสืบสวนสอบสวนเป็นคดีอาญา

ถ้าญาติสงสัยขอให้เรียนรู้จากข่าวว่า อย่าเพิ่งเผาศพ ให้เก็บศพไว้ก่อน เพื่อให้ตรวจสอบได้ ถ้าเกิดไปเผาศพแล้ว จะไม่มีศพให้ผ่าพิสูจน์พยานหลักฐาน แต่ถ้าประกอบพิธีทางศาสนาอิสลาม หรือศาสนาคริสต์ หรือของจีนที่ใช้วิธีฝัง ก็ยังสามารถหาหลักฐานได้”

อย่างไรก็ตาม ต้องไปว่ากันด้วยพยานหลักฐาน หรือหาพยานบุคคลได้เพิ่มเติมว่าการตายนั้นเป็นการฆาตกรรม เช่นอาจจะมีภาพวงจรปิด หรือระหว่างดำเนินมีข้อสงสัย ทําให้ตํารวจกลับมาสอบสวนต่อไปได้ ยกตัวอย่าง คดี“ป้ากบ” นางบัวผัน ตันสุ ที่ จ.สระแก้ว ช่วงแรกสามีรับสารภาพว่าสังหารภรรยา แต่ตํารวจหรือพนักงานสอบสวนสงสัยและสืบเสาะไปหากล้องวงจรปิด จนเชื่อได้ว่าสามีไม่ใช่คนก่อเหตุ แต่เป็นการถูกกลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้าย

การที่พนักงานสอบสวนไปหาหลักฐานเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ป.วิ.อาญา ที่ระบุว่าพนักงานสอบสวนจะต้องสอบให้ได้ว่าเหตุที่เกิดขึ้นข้อเท็จจริงเป็นเช่นไร

ขณะที่กรณีของพริตตี้สาวที่กินยาพิษไซยาไนด์ และครอบครัวติดใจสงสัย นายโกศลวัฒน์ ระบุ อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นว่าลักษณะการฆ่าตัวตายถือว่าเป็นการตายผิดธรรมชาติ กระบวนการทั่วไปต้องไปตรวจสอบว่ากินเอง หรือถูกบังคับ หรือถูกจับกรอก ในบางครั้งญาติอาจอยู่ในความตกใจ เสียใจ ไม่อาจจะใช้สติตรึกตรอง คิดว่าคนกินยาฆ่าตัวตายเอง คิดสั้นเอง

แต่ต่อมาเริ่มมีสติ และคิดได้ในภายหลังว่าคนตายมีเรื่องโกรธเคือง มีการทะเลาะกับบุคคลอื่นมา หรือผู้ตายไม่ได้มีพฤติกรรม หรือสิ่งที่เป็นจุดบ่งบอกเลยว่าจะคิดสั้น ต้องมีเหตุบ่งบอกถึงสิ่งแวดล้อม หรือพยานไปบอกกับพนักงานสอบสวน หรือสิ่งที่ได้รับรู้มาจากญาติพี่น้องคนใกล้ตัวของผู้เสียชีวิต อยากให้ผู้ใดก็ตามที่มีข้อมูลไม่ว่าจะเป็นญาติหรือแค่คนที่ผ่านทางมา แต่เป็นคนเห็นเหตุการณ์ ขอให้ช่วยพนักงานสอบสวนเอาความจริงไปบอกให้ข้อมูลให้ครบถ้วน ทุกคนสามารถให้เบาะแสได้

เพียงแค่มีข้ออ้างข้อสงสัยอย่างเดียวอาจจะยาก แต่อย่างน้อยข้อสงสัยและข้อมูลเป็นประโยชน์ให้ตำรวจไปสืบหาหลักฐานได้ เพราะตามกฎหมายเองก็ให้อำนาจพนักงานสอบสวนขอหมายค้น ออกหมายไปขอหลักฐานมาตรวจสอบ ออกมาหมายเรียกพยานในทางนิติวิทยาศาสตร์ มีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆในการสอบสวนที่สามารถมาตรวจที่เกิดเหตุ เพื่อให้หาความจริงแล้วดําเนินคดีไปตามข้อเท็จจริง”

นายโกศลวัฒน์ ทิ้งท้าย สมมติตำรวจไม่สนใจ หรือตั้งใจหาหลักฐาน แนะนำว่าให้แจ้งผู้บังคับบัญชาต้นสังกัด ตั้งแต่ผู้กำกับ ผู้การ หรือผู้บัญชาการก่อน หากยังไม่คืบหน้าค่อยไปร้องขอความเป็นธรรมกับหน่วยงานอื่น แต่ถ้ารู้สึกไม่สบายใจอีกช่องทางที่ปรึกษาได้คือ อัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายฯ สายด่วน 1157.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]