“ทีมข่าวอาชญากรรม” พูดคุยหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว “ศิริศักดิ์ ไชยเทศ” นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ สะท้อนนี่เป็นอาชีพปกติทั่วไปที่ใช้ทำมาหากิน ทุกวันนี้ทำงานตามรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยเรื่องสิทธิในเสรีภาพการทำงาน และทำในพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนที่ว่าด้วยเรื่องของการทำงานอะไรก็ได้ แต่เหตุใดจึงไม่สามารถใช้ “เรือนร่าง” ทำมาหากินได้ ซึ่งหลายคนอาจมองว่ามันผิดกฎหมาย

สังคมต้องทำความเข้าใจเรื่องการขายบริการใหม่ ศิริศักดิ์ ชี้ว่าอาชีพขายบริการไม่จำเป็นต้องมีแค่เพศสัมพันธ์กับลูกค้าเสมอไป หรือต่อให้มีก็อยู่บนพื้นฐานข้อตกลงร่วมกัน ปัจจุบันถือเป็นอาชีพสร้างรายได้ให้ประเทศจำนวนมาก มองได้จากค่า GDP 10% ที่มาจากการท่องเที่ยว แต่ใน 5% นั้นมาจากสถานบริการกลางคืน ซึ่งมีพวกตนที่ทำงานอยู่

อย่างไรก็ตาม แม้กลุ่มอาชีพพนักงานบริการจะทำรายได้ให้ภาครัฐสูงมากอาชีพหนึ่ง แต่ภาษีต่างๆ ไม่เคยย้อนกลับมาดูแล มีแต่ตีตรา เลือกปฏิบัติ ทำให้เป็นคนผิดอาญาหรือเป็น “อาชญากร” เพียงเพราะประเทศไทย มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 ที่เป็นกฎหมายควบคุมไม่ใช่คุ้มครอง ทั้งที่อาชีพนี้ควรถูกกฎหมายมานานแล้ว

“ทุกคนที่เข้ามาก็สมัครใจมาทำ แต่สังคมและกฎหมายกดทับ และตีตราให้คุณค่าว่าเราไม่ควรจะเป็น เพราะหากเป็นแล้วจะดูด้อยค่า”

การทำอาชีพนี้ เพราะเรื่องเศรษฐกิจและต้องการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ก็เป็นแค่อาชีพทางเลือกหนึ่งว่าจะเข้ามาหรือไม่ เพราะหากบังคับขู่เข็ญอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ แต่จากประสบการณ์คนที่เข้าล้วนมาด้วยความสมัครใจ

“คนที่เข้ามาทำอาชีพพนักงานบริการ ไม่จำเป็นต้องยากจน ไร้การศึกษา อย่างที่สังคมพยายามยัดเยียด ในชีวิตนี้ไม่ได้มีแค่ทางเลือกเดียว ไม่มีอาชีพไหนที่ขายศักดิ์ศรี และมีศักดิ์ศรีเหนือกว่ากัน ทุกอาชีพมีศักดิ์ศรีในตัวเอง”

กฎหมายที่มีก็เพื่อให้ตำรวจได้ทำงาน เมื่อไม่เข้าข่าย มันก็ทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์โดยอัตโนมัติ เช่น เพื่อนของตนที่เคยถูกตั้งคำถาม หากอยากทำต่อก็ต้องจ่าย พร้อมมองกฎหมาย หากมีประโยชน์จริงต้องไม่มีอาชีพนี้ในประเทศ แต่ข้อเท็จจริงก็เห็นอยู่ นั่นเพราะภาครัฐไปแสวงหาผลประโยชน์ หรือเก็บส่วย ซึ่งไม่ได้จ่ายแบบถูกต้อง

“ทุกวันนี้ทุกคนยังทำงานได้อย่างมีความสุข เพราะจับแล้วไม่ต้องปรับพันบาท เก็บ 100-300 บาทดีกว่า เพราะถ้าเก็บพันบาท และโดนข้อหาค้าประเวณี คนนั้นก็ไม่ได้ทำงาน แต่ถ้าเก็บแค่นี้ เก็บได้ทุกวัน และพนักงานก็ยังทำงานได้อยู่”

ศิริศักดิ์ ย้ำจุดยืนเรียกร้องให้อาชีพพนักงานบริการถูกกฎหมาย ปัจจุบันพยายามผลักดันใน 2 แนวทางคือ 1.ล่ารายชื่อยกเลิกกฎหมายเดิมให้ได้ 10,000 รายชื่อ 2.ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการร่าง พ.ร.บ.มาตรการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ พ.ศ. …. ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มองเป็นเนื้อหาดีสุดเท่าที่ทำมา

“อาชีพนี้ไม่ได้แตกต่าง หรือพิเศษอะไร แต่หากร่างผ่าน ก็ถือว่าเราได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน พนักงานบริการกลายเป็นลูกจ้างเทียบเท่ากับอาชีพอื่น กฎหมายแรงงานก็จะคุ้มครองเราโดยอัตโนมัติ”

ส่วนกรณีของต่างชาติเข้ามาทำงานเป็นพนักงานบริการเหมือนกันนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่ได้ทับซ้อนกันในพื้นที่ทำมาหากิน เพราะเราก็แฝงเหมือนกับคนเหล่านี้ แต่เรื่องที่เกิดขึ้นสะท้อนได้ว่าอาชีพนี้มีอยู่จริง แรงงานข้ามชาติมีอยู่จริง ทั้งการคอร์รัปชั่น และสุดท้ายที่ทำให้มองเห็นได้ชัดเจนคือ การปิดหูปิดตาของภาครัฐในบางหน่วยงานที่มีอยู่จริง

“รู้สึกขอบคุณเหตุการณ์ในซอยสุขุมวิท 11 เพราะมันสะท้อนถึงสิ่งที่ภาครัฐกำลังปิดไว้ใต้พรม เบื้องลึกมันไม่ได้มีแค่กะเทยตีกัน แต่เหตุการณ์นี้ทำให้สิ่งที่ซุกอยู่โผล่ออกมา เป็นความเหลวแหลกที่ทุกคนต้องยอมรับมันได้แล้ว”

ทั้งนี้ ทิ้งท้ายให้ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ และผลักดัน พ.ร.บ.มาตรการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศฯ ใช้ได้จริง ไปจนถึงการสร้างความเข้าใจเชิงบวกในทุกมิติเกี่ยวกับอาชีพนี้ ซึ่งรวมถึงการปรับหลักสูตรให้มีการพูดถึงอาชีพนี้ในมุมมองใหม่.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]