“ทีมข่าวอาชญากรรม” ชวนทำความเข้าใจ “ครอบครองปรปักษ์” บุคคลอื่นมีโอกาสเป็นเจ้าของแทนได้ง่ายขนาดนั้นเลยหรือไม่ นายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุ การครอบครองปรปักษ์บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ม.1382 ระบุว่า

“บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์”

การร่างกฎหมายช่วงแรกคือ ไม่ต้องการให้ผู้ที่มีกรรมสิทธิ์ปล่อยที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งการครอบครองปรปักษ์ “โดยสมบูรณ์” ผู้ที่อยากได้ต้องบุกเข้ามาด้วยเจตนาที่อยากจะเป็น “เจ้าของ” มาถางหญ้า ถางป่า เกลี่ยพื้นที่ให้เป็นที่ทำนา ทำไร่ หรือปลูกบ้าน ทำเป็นอาคารสำนักงาน คาเฟ่ แต่ต้องเป็นในลักษณะถาวร และครอบครองต่อเนื่อง

เมื่อครบกำหนด 10 ปี แล้วไม่มีคนมาแสดงความเป็นเจ้าของ ผู้ที่เข้ามาใช้ประโยชน์สามารถยื่นคําร้องต่อศาล และศาลจะออก “หมายเรียก” เจ้าของเดิม ถ้าไม่มีผู้โต้แย้งศาลอาจพิจารณาคดีฝ่ายเดียว แต่ถ้ามีเจ้าของเดิมโต้แย้งก็ต้องสืบพยานศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และฎีกา เมื่อมีคําพิพากษาถึงที่สุดว่าให้เป็นผู้ครอบครองปรปักษ์ที่ดิน

จากนั้นก็นำคำพิพากษา หรือคำสั่งนั้นๆไปยื่นจดทะเบียนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่สํานักงานที่ดินนั้น ถึงจะถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ที่สมบูรณ์เจ้าของเดิมจะหมดสิทธ์นั้นไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบวัตถุประสงค์กับกฎหมายที่บัญญัติไว้นานแล้ว  บัดนี้กลายเป็นช่องว่างให้คนมา “โกง” เข้าไปแย่งของคนอื่น ส่วนใหญ่เป็นปัญหา “ที่ดิน” มากสุด โดยเฉพาะต่างจังหวัดที่ดินที่ไม่มีราคา ไม่มีมูลค่า บางคนซื้อไว้เยอะแต่ไม่ใส่ใจดูแล มีจำนวนมาก เพราะรุ่นปู่-ย่าซื้อที่ดินไว้แต่ไม่ได้บอกลูกหลาน เมื่อเสียชีวิตไป ญาติมาทราบภายหลัง

อีกกรณีคือย้ายไปต่างประเทศ ส่วนใหญ่ก็ถูกคนอื่นครอบครองปรปักษ์ไปแล้ว แต่ลูกหลานยังสามารถไปยื่นคําร้องขอคัดค้านในการครอบครองที่ดินนั้นต่อศาลได้ ศาลท่านก็ต้องเริ่มกระบวนการสืบพยานใหม่

ทั้งนี้ การครอบครองปรปักษ์จะใช้ “ไม่ได้” กับ “การเช่า” หรือเจ้าของ “อนุญาตให้เข้ามา” กรณีดังกล่าวจะใช้คำว่าครอบครองแทน หรือปลูกพืชล้มลุก พืชตามฤดูกาล ทำนาเสร็จเกี่ยวข้าวแล้วหยุดย้ายออก สักพักกลับเข้ามาทำใหม่ สร้างกระต๊อบ หรือเถียงนาน้อย

ส่วนวิธีจะไม่ให้ผู้อื่นเข้ามาครอบครองปรปักษ์ได้ นายสุชาติ ยกตัวอย่างกรณีที่ดิน หากเป็นเจ้าของแล้วเห็นคนเข้ามาใช้ประโยชน์โดยไม่ขออนุญาต ให้รีบไปแจ้งความดำเนินคดีบุกรุก จากนั้นอาจเพิ่งรู้ว่าเขาไปแจ้งปรปักษ์ก็ให้นำหลักฐานไปสู้คดี

“เคยมีคดีที่เป็นข่าวดัง มีคนเข้ามาครอบครองโดยปรปักษ์แล้วลงทะเบียนกับที่ดินเรียบร้อย ภายหลังปรากฏว่าลูกหลานคนตายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รู้เรื่องเลยยื่นคำร้องขอคัดค้านและขอให้พิจารณาคดีใหม่ นำหลักฐานการเช่าพื้นที่ที่เจ้าของคนเดิมเคยทำไว้กับผู้ครอบครองปัจจุบัน ฉะนั้นเมื่อเข้าไปโดยใช้สิทธิการเช่า การจะเข้าไปยึดหรือแย่งกรรมสิทธิ์ให้เป็นของเรานั้น ทำไม่ได้ แม้จะอยู่มานานกว่า 30-60 ปี ก็ตาม”

นายสุชาติ ระบุ ในกรณีไปถึงขั้นตอนสืบพยานแล้ว กรณีนี้มักพบเรื่อง “เบิกความเท็จ” เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีสัญญาเช่าต้องรีบคืนเลย มิฉะนั้นจะโดนข้อหาเบิกความเท็จ เจ้าของเดิมต้องต่อสู้และพิสูจน์ว่าไม่เคยมีเจตนา “สละสิทธิ” ให้คนอื่น เช่น เสียภาษีที่ดินทุกปี ขอให้กรมที่ดินออกรังวัด หรือสัก3-4ปี เข้าไปดูที่แล้วถ่ายรูปก็เป็นหลักฐานชัดเจนว่าเจ้าของไม่ได้ทิ้ง  แม้ไม่สามารถก้าวล่วงดุลยพินิจศาลได้ แต่ก็ถือว่ามีหลักฐานต่อสู้ ที่สำคัญคือการแย่งการครอบครองกรรมสิทธิ์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ

“อย่างที่เป็นข่าว เป็นบ้าน คอนโดฯ ทาวน์เฮาส์ ยิ่งต้องดูองค์ประกอบหลายอย่าง สมมุติเราไปเจอบ้านร้างไม่มีคนดู ต้นไม้ขึ้นปกคลุมจนรกแทบไม่เหลือเค้าโครง เรียกว่าไม่เป็นสภาพบ้านแล้วมีคนเข้าไปถาง ไปสร้าง ต่อเติมใหม่ ไปขอบ้านเลขที่  ไฟฟ้า ประปา ส่วนตัวว่าก็เข้าข่ายยื่นขอครอบครองโดยปรปักษ์ได้ แต่ถ้าเราก็ไม่ได้เข้าไปทําอะไรใหม่ เป็นโครงเดิม ใช้ของเดิมทุกอย่าง แล้วหอบเสื่อ หอบหมอนเข้าไป อย่างนี้ก็อยู่ดุลพินิจของศาล สมควรจะได้เป็นผู้ครอบครองปรปักษ์หรือไม่อย่างไร”

อีกวิธีอาจจ้างคนดูแลไปตรวจดู ไปถ่ายรูปให้ และรังวัดสอบเขต เพื่อทราบเนื้อที่ทั้งหมดว่าตรงกับโฉนดหรือไม่ และมีสภาพที่ดินแท้จริงอย่างไร บางทีในขั้นตอนนี้อาจพบว่าเพื่อนบ้านข้างเคียงล้ำพื้นที่โดยไม่เจตนา บางครั้งก็อาจเข้าเงื่อนไขครอบครองปรปักษ์ ถ้าพื้นที่ไม่ใหญ่การล้อมรั้ว หรือทำป้ายแสดงความเป็นเจ้าของ เป็นที่ส่วนบุคคล ก็ปกป้องสิทธิได้แล้ว

ยิ่งปัจจุบันนี้ที่ดินมีราคาสูง ก็มีคนใช้ “ช่องว่าง” ทําแบบนี้เยอะ มายื่นร้องครอบครองปรปักษ์บ้าง สร้างพยานหลักฐานเท็จบ้างเพื่อแย่งของๆ คนอื่น

พร้อมฝากในส่วนทนายความทั้งที่รู้อยู่แล้วว่า ลูกความไม่ใช่เจ้าของพื้นที่บ้านหรือทรัพย์สินนั้น แต่รับปากทำคดีให้จนได้มาซึ่งของๆคนอื่น ถือเป็นการยุยง ส่งเสริมให้เกิดคดีความ หรือแนะนำให้ลูกความเอาของไปวาง นำป้ายไปแขวน ลักษณะนี้น่าคิดว่าเป็นการสร้างพยานหลักฐานเท็จหรือไม่ ซึ่งการยุยงฯ ให้เกิดคดีความ ผิด “มรรยาท” ทนายความ แม้มีสิทธิเลือกรับคดี แต่ต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบ ไม่ใช่อ้างเพียงกฎหมาย

“บางครั้งกฎหมายบางเรื่องก็ใช้ไม่ได้กับคุณธรรม จริยธรรม เป็นทนายความนอกจากเรื่องเงิน ก็ต้องดูเรื่องความเหมาะสม จรรยาบรรณ ความถูกต้องประกอบด้วย” นายสุชาติ ฝากทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]