ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามมุมมองหลัง “ปิดจ๊อบ” ลงทะเบียน กับหนึ่งผู้คลุกคลีกับการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ร่วมสะท้อนความเห็นถึงกระแสตอบรับ ไปจนถึงการปรับตัวของหนี้นอกระบบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

พ.ต.ท.วิชัย สุวรรณประเสริฐ อดีตเลขานุการศูนย์ช่วยเหลือลูกหนี้และประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม มองยอดลงทะเบียน 153,400 ราย มูลหนี้ 11,999.44 ล้านบาท ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 18,929 ราย (ณ วันที่ 1 มี.ค. 67) หากเทียบสัดส่วนการลงทะเบียนกับการไกล่เกลี่ยสำเร็จมีเพียงร้อยละ 12 พร้อมชี้ความสำคัญไปที่ลูกหนี้ที่ไกล่เกลี่ย “ไม่สำเร็จ” รวมทั้งไม่สามารถติดตามเจ้าหนี้มาไกล่เกลี่ยได้ที่เรียกว่า “กลุ่มตกน้ำ” ประมาณ 130,000 ราย

“รอบนี้การลงทะเบียนน้อยกว่าความเป็นจริง จึงไม่สะท้อนภาพรวมของคนเดือดร้อน หากย้อนไปวันแถลงแก้หนี้ มีการประกาศแก้ครั้งใหญ่ ประเมินเบื้องต้นอาจมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท”

พ.ต.ท.วิชัย ระบุ ข้อห่วงใยไปถึงกลุ่มไกล่เกลี่ย “ไม่สำเร็จ” ว่าเป็นกลุ่มน่าห่วง เพราะสถานะหนี้ยังคงอยู่ และรัฐควรมีแนวทางอื่นเพื่อช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจากข้อมูลพบลูกหนี้ที่ติดต่อเจ้าหนี้ไม่ได้ หรือ เจ้าหนี้ไม่ให้ความร่วมมือ หรือไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ถือว่าเป็น “กลุ่มตกสำรวจ” ดังนั้น ต้องตรวจสอบว่ามูลหนี้ที่เกิดขึ้นมีการทำสัญญากู้ยืมเงินถูกต้องและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่

โดยเฉพาะการคิดดอกเบี้ย หรืออำพรางเป็นผลประโยชน์ตอบแทนอื่นๆ หรือการทำสัญญาเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม ต้องมีทีมกฎหมายที่เชี่ยวชาญไปให้คำแนะนำ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โดยไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายเกินจำเป็น

รวมถึง “กลุ่มลูกหนี้ชายขอบ” ที่อาจจะอยู่นอกกลุ่มลงทะเบียน ได้แก่ หนี้นอกระบบที่ลูกหนี้อยู่ระหว่างถูกฟ้องร้อง หรือหนี้ในชั้นบังคับคดี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้มีหลักประกัน รัฐควรช่วยเหลือเร่งด่วนเช่นกัน

นอกจากนี้ ให้ความเห็นน่าสนใจถึงด้าน บวก-ลบ หลังลงทะเบียนว่า ในส่วน “เจ้าหนี้” ทั่วไปที่คิดดอกเบี้ยไม่เกินอัตรากฎหมายกำหนด ส่วนใหญ่ยินยอมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเจรจา เพราะจะได้รับการชำระคืน แต่เจ้าหนี้นอกระบบที่มีลักษณะเป็นองค์กร มีนายทุนอยู่เบื้องหลังจะไม่เปิดเผยตัว เพราะอาจถูกดำเนินคดี หรือใช้มาตรการภาษีภายหลัง

ขณะที่ “ลูกหนี้” ที่มีคุณสมบัติ และอยู่ในหลักเกณฑ์จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ แต่อาจเกิดกรณี “หนี้เทียม” ซึ่งหมายถึงหนี้ที่เจ้าหนี้และลูกหนี้จับมือกันทำสัญญาในลักษณะสมยอม โดยไม่มีมูลหนี้จริง หรือมีมูลหนี้สูงกว่าความเป็นจริง เพื่อให้เข้าเงื่อนไขได้กู้เงินกับสถาบันการเงินของรัฐ แล้วเอาผลประโยชน์ที่ได้รับมาแบ่งกัน

พ.ต.ท.วิชัย ให้ข้อสังเกตสาเหตุที่ลูกหนี้บางส่วนไม่เข้าระบบขอความช่วยเหลือว่า ส่วนหนึ่งอาจมาจากความเชื่อมั่นต่อนโยบายรัฐในการช่วยเหลือด้านแหล่งทุน ที่ใช้เครื่องมือทางเงินรูปแบบเดิมๆเหมือนทุกครั้ง ขณะเดียวกันลูกหนี้บางอาชีพโดยเฉพาะกลุ่มประกอบอาชีพรับจ้าง ไม่แน่ใจนโยบายเนื่องจากไม่มีรายได้ประจำ หรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงกลัวไม่ได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ลูกหนี้เองมีความจำเป็นต้องกู้นอกระบบ เพราะเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็ว หากมีปัญหากับเจ้าหนี้จึงกลัวว่าจะไม่ให้กู้อีก ประกอบกับมองว่ารัฐไม่ได้เสนอนวัตกรรมการเงินรูปแบบใหม่ๆ หรือรูปแบบการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่น เพียงแต่มอบนโยบายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติเท่านั้น อีกทั้งเงื่อนไขเจรจากับเจ้าหนี้เป็นเรื่องยาก เนื่องจากเจ้าหนี้นอกระบบเป็นหนี้ผิดกฎหมาย มีลักษณะเป็นกลุ่มนายทุน เจ้าหนี้จึงไม่ให้ความร่วมมือเข้ากระบวนการเจรจา

พ.ต.ท.วิชัย ทิ้งท้ายผลพวงที่อาจเกิดขึ้นจากนี้ว่า เจ้าหนี้อาจมีวิธีหลีกเลี่ยง หรืออำพรางในการคิดดอกเบี้ย หรือผลประโยชน์ตอบแทนจากการให้กู้ยืมเงินที่ “ซับซ้อน” มากยิ่งขึ้น เพราะตราบใดที่คนยังเดือดร้อนก็ต้องหาทางกู้เงินทั้งที่รู้ว่าเป็นทางที่ทำให้ “เสียเปรียบ” ก็ตาม

“การแก้ปัญหาตำรวจหรือฝ่ายปกครอง จำเป็นต้องติดตามและเพิ่มมาตรการทางกฎหมายกับเจ้าหนี้ที่มีลักษณะเป็นกลุ่มนายทุนให้เข้มข้น โดยเฉพาะกลุ่มเจ้าหนี้ที่มีพฤติการณ์ให้กู้ยืมเงินในลักษณะอำพราง เช่น รับจำนำรถยนต์ รถจักรยานยนต์โดยผิดกฎหมาย การเช่าชื้อทอง รูปพรรณ รวมถึงการใช้ความรุนแรงในการทวงหนี้ หรือการกู้ยืมเงินในรูปแบบออนไลน์ที่ผิดกฎหมาย” พ.ต.ท.วิชัย ระบุ.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]