มิติเศรษฐกิจเหยียบ“คันเร่ง”มาแน่นอน ขณะที่มิติสังคมยังคงแล“เต่าคลาน” ท่ามกลาง“ข้อห่วงใย”ของภาคประชาชนกับหลายโจทย์ที่อยากเห็น“แผนรับมือ”คู่ขนานไปด้วย เพราะเห็นปัญหาตามมาแน่ไม่ว่า ยาเสพติด อุบัติเหตุ หรืออาชญากรรมอื่นๆ

โดยเฉพาะการขยายเวลาเปิดสถานบริการที่หมายถึงระยะเวลาดื่มที่นานขึ้น และโอกาสเมาที่มากขึ้น จนนำไปสู่แนวโน้มเกิดอุบัติเหตุทางถนน  

ก่อนหน้านี้ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) เคยประเมินสถานการณ์อุบัติเหตุจากการดื่มขับหากขยายเวลาเปิดไว้น่าสนใจ ได้แก่ 1.ปัจจุบันภาพรวมอุบัติเหตุทางถนนมีประมาณ 1,000-1,200 คนต่อวัน จะพบแอลกอฮอล์ในผู้ขับขี่ 15-20 %

2.อุบัติเหตุทางถนนจากดื่มขับ 150-200 คน/วัน  3 ใน 4 เกิดช่วงกลางคืน เฉลี่ย 112 คน/วัน หากเปิดผับถึงตี 4 โดยไม่มีการบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น อุบัติเหตุอาจเพิ่มขึ้นถึง 27 % หรือประมาณการผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นระหว่าง 170-220 คน/วัน

อย่างไรก็ตาม หากเข้มงวดบังคับใช้กฎหมาย อย่างการตั้งด่านตรวจดื่มขับ“ตลอดคืน” โดยเฉพาะหลังเที่ยงคืนจนถึงเช้า คาดว่าจะช่วยสกัดคนเมาขับได้เพิ่ม 30-50% และลดผลกระทบได้ 10 ราย/วัน

ขณะเดียวกันพบว่าในจำนวนจังหวัดนำร่อง มี 3 พื้นที่ ติดอันดับมีคดีดื่มขับสูงเป็นอันดับต้นๆของประเทศ ยกตัวอย่างเทศกาลสงกรานต์ปี 65 ทั่วประเทศมีคดีดื่มขับ 15,451 คดี

ชลบุรี มี 597 คดี  สูงเป็นอันดับ 5 , เชียงใหม่ มี 571 คดี สูงเป็นอันดับ 6  ขณะที่กทม. มี 432 คดี ติดอันดับ 13

การ“มุ่ง”มิติเศรษฐกิจ แต่“อ่อน”สัญญาณดูแลความปลอดภัยจึงยิ่งเพิ่มความวิตก เพราะลำพังวิถีกิน-ดื่มปกติก็ปรากฎข่าวดื่มขับ เมาขับรายวัน มีเหยื่อผู้บริสุทธิ์ต้องบาดเจ็บ พิการ ไปจนถึงเสียชีวิตไม่น้อย

อีกด้านคือปัญหาแพร่ระบาดยาเสพติด กลุ่ม Club Drug ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักท่องราตรี เช่น ยาอี คีตามีน และยาเสพติดแบบผสม ที่เรียกว่าแฮปปี้ วอเตอร์ (Happy water) เป็นต้น

เฉพาะสถิติปี 66 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด(ป.ป.ส.) ตรวจพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดในสถานบันเทิงพื้นที่กทม. จำนวน 8 ร้าน และพบเรื่องร้องเรียนยาเสพติดในสถานบันเทิงกว่า  27 เรื่อง ในพื้นที่ 16 เขต

จากข้อมูลป.ป.ส. ยาเสพติดกลุ่ม Club Drug ที่ต้องจับตาเพราะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากคือ คีตามีนและเอ็กซ์ตาซี เนื่องจากระยะหลังมักมีการนำไปเป็นเสพแบบผสม “แฮปปี้ วอเตอร์” โดยเฉพาะคีตามีนที่ยอดจับกุมก้าวกระโดดขึ้นเท่าตัวเมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จากปี 65 จับกุมได้ 1,756 กก.  ส่วนปี 66 จับกุมได้ 4,928 กก.

ขณะที่ภาพรวมการจับกุมยาเสพติดกลุ่ม  Club Drug ปีล่าสุด มีดังนี้ 

1.คีตามีน 4,928 กก.               2.ยาอี 233,961 เม็ด

3.แฮปปี้ วอเตอร์ 4,175 ซอง   4.อิริมีน ไฟว์ 101,119 เม็ด

5.ทรามาดอล 13,998 เม็ด       6.อัลปราโซแลม 5,210 เม็ด

ไม่มีใครปฏิเสธว่าเศรษฐกิจต้องเดินหน้า  แต่ก็ต้องไปพร้อมกับมิติอื่นๆด้วย เพื่อให้มาตรการนั้นไม่ไปซ้ำเติมปัญหาเดิมๆที่มีอยู่แล้ว.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

 [email protected]