การแปลภาษานั้นถือเป็นอีกหนึ่งวิธีการสื่อสารของมนุษย์ที่ใช้ในการสื่อสารกันแม้จะใช้กันคนละภาษา ซึ่งการแปลภาษานั้นนอกจากจะทำให้การสื่อสารเกิดประสิทธิภาพแล้ว ยังทำให้ต่างคนต่างสามารถเข้าใจกันได้ด้วย

โดยวันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ “วันแปลภาษานานาชาติ” กันว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร และความสำคัญอย่างไรบ้าง

คำว่า ภาษา ในความหมายอย่างกว้าง หมายถึง กิริยาอาการที่แสดงออกมาแล้วสามารถทำความเข้าใจกันได้ ในความหมายอย่างแคบ หมายถึง ภาษาในฐานะระบบที่มนุษย์ใช้สื่อสารกัน การศึกษาภาษามนุษย์ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ เรียกว่า ภาษาศาสตร์

ทั้งนี้ ทุกๆวันที่ 30 กันยายนของทุกปีจะถูกยกให้เป็น “วันแปลภาษานานาชาติ (International Translation Day)” เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองและรำลึกถึงนักบุญเจอโรม (St. Jerome) ผู้แปลคัมภีร์ไบเบิลจากภาษากรีกและภาษาฮีบรูเป็นภาษาละติน ซึ่งคัมภีร์ไบเบิลฉบับของนักบุญเจอโรม หรือที่เรียกว่า “Vulgate” ยังเป็นคัมภีร์ฉบับสำคัญของคริสตจักรโรมันคาทอลิก

โดยทางด้าน สหพันธ์นักแปลนานาชาติ หรือ International Federation of Translators (FIT) ได้ตั้งวันดังกล่าวขึ้นเมื่อปี 2496 เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชุมชนแปลทั่วโลกและส่งเสริมการแปลวิชาชีพในประเทศต่างๆ รวมถึง “เป็นการยกย่องผลงานของนักแปลและล่ามที่พยายามทำให้โลกเล็กลงโดยการทำลายอุปสรรคด้านภาษา” ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการนำประเทศเข้าด้วยกัน อำนวยความสะดวกในการเจรจาความเข้าใจและความร่วมมือที่เอื้อต่อการพัฒนาและเสริมสร้างสันติภาพและความมั่นคงของโลก

นอกจากนี้ในปัจจุบันบนโลกเรานั้นมีประเทศอยู่ทั้งหมด 195 ประเทศ มีประชากรราว 7.6 พันล้านคน มีภาษาที่ใช้สื่อสารกันทั้งหมด 7,097 ภาษา และเกือบ 2 ใน 3 ของภาษาที่ใช้กันทั่วโลกนั้นมาจากทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย ซึ่งเฉพาะในทวีปเอเชียมีจำนวนภาษาที่ใช้มากที่สุดในโลก คือ 2,300 ภาษา รองลงมาคือทวีปแอฟริกา 2,143 ภาษา ประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก 1,306 ภาษา ทวีปอเมริกา 1,060 ภาษา และทวีปยุโรป 288 ภาษา ส่วนภาษาที่ใช้เป็นภาษากลางสำหรับสื่อสารระหว่างประเทศหรือระหว่างกัน ทั้งในด้านการค้าขาย แลกเปลี่ยนความรู้ และนโยบายต่างประเทศ มีอยู่ 6 ภาษาหลัก คือ ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษารัสเซีย ภาษาอารบิก และภาษาจีน นั่นเอง..