ปัญหา “หมูเถื่อน” นับหมื่นๆตู้ ที่กำลังสร้างปัญหาให้กับผู้เลี้ยงหมูรายเล็ก-รายใหญ่ และส่งผลไปยังเกษตรกรที่ปลูกพืชอาหารสัตว์ในวงกว้างด้วย โดยปัญหาดังกล่าวจะจบอย่างไร และเมื่อไหร่?

ทีมข่าว Special Report สนทนากับ นายสิทธิพันธ์ หรือ “เฮียเภา” ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ในมุมมองเกี่ยวกับปัญหาหมูเถื่อนที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้

นายกฯเอาจริงแบบนี้ภายใน2เดือนคงเคลียร์ปัญหาจบ!

นายสิทธิพันธ์กล่าวว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรู้สึกใจชื้นกันขึ้นมาเยอะ หลังจากนายกฯเศรษฐา ทวีสิน เอาจริงกับเรื่องการปราบปรามหมูเถื่อนที่ละลักเข้ามาจากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในช่วงปี 64-65

เมื่อนายกฯลงมาจี้เอง แก้ปัญหาแบบนี้ถูกต้องแล้ว ดังนั้นในปัจจุบันจึงไม่มีหมูเถื่อนเข้ามาอีก มีแต่หมูเถื่อนที่ยังตกค้างอยู่ตามห้องเย็น-รถห้องเย็น ซึ่งเป็นของผิดกฎหมาย จะขยับตัวหรือเคลื่อนย้ายไปไหนก็ลำบาก และเป็นเนื้อหมูใกล้จะหมดอายุแล้ว

ตนเชื่อว่าถ้าหลายหน่วยงานของรัฐบาลเอาจริงอย่างที่เป็นอยู่ ภายใน 2 เดือนนี้ คงเคลียร์หมูเถื่อนหมดไปจากตลาด โดยวันที่ 15 ธ.ค.66 จะมีการขึ้นทะเบียนห้องเย็น รถห้องเย็น และตู้คอนเทเนอร์เสียบปลั๊ก ซึ่งควรทำนานแล้ว ต่อไปขบวนการหมูเถื่อนจะลำบากมากขึ้น ลักลอบเอาเข้ามาไม่คุ้มแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีมาก

เนื่องจากหมูเถื่อนสร้างความเสียหายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูรายเล็ก-รายใหญ่ เป็นวงกว้าง นับตั้งแต่เดือนก.พ.66 เรื่อยมา เพราะเลี้ยงหมูแล้วขาดทุนตัวละ 2-3 พันบาท แต่จำเป็นต้องขายขาดทุนกันมา 10 เดือนแล้ว เนื่องจากราคาหมูเป็นๆ แกว่งกว้างมาก กก.ละ 58-62 บาท ถ้าฟาร์มใหญ่อาจจะได้ 63-64 บาท/กก. หรือถ้าขายส่งไปโรงฆ่า-เขียงหมูโดยตรง อาจจะได้ 70 บาท/กก. แต่มีใปริมาณไม่มากนัก ในขณะที่ต้นทุนการเลี้ยงอยู่ที่เกือบ 80 บาท/กก.

นำเข้าหมู “พาณิชย์-สมาคม” ต้องคุยกันก่อน

ประเทศในยุโรปมีต้นทุนการเลี้ยงหมูถูกกว่าไทย 40% บราซิลต้นทุนถูกกว่าไทย 50% แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เมียนมา ก็มีต้นทุนถูกกว่าไทย เพราะข้าวโพดอาหารสัตว์ของเขาถูกกว่ามาก ยิ่งถ้าไปเทียบกับยุโรป-บราซิล เขาทำเป็นพืชไร่แปลงใหญ่ ต้นทุนจึงถูก

โดยข้าวโพดในบราซิลเฉลี่ย 6-7 บาท/กก. แพงสุด 8-9 บาท/กก. ส่วนบ้านเราเป็นพืชไร่แปลงเล็ก มีต้นทุนสูงกว่า และรัฐยังต้องช่วยพยุงราคา โดยราคาข้าวโพดของไทยเฉลี่ย 10 บาท/กก. ถ้าช่วงแพงๆ จะเกือบ 15 บาท/กก. แถมยังขาดแคลนด้วยซ้ำไป

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวต่อไปว่าผู้เลี้ยงหมูในประเทศไทยเจอโรค ASF ในช่วงปี 63-64 หลายประเทศในย่านนี้ก็เจอโรคระบาดเหมือนกับไทย แต่เราสามารถเคลียร์ปัญหาได้เร็ว 1 ปีจบ! จึงกลับมาเลี้ยงหมูกันใหม่ในช่วงปลายปี 65 แต่เมื่อหมูใกล้จะจับขายได้ กลับเจอหมูเถื่อนระบาด จึงขาดทุนกันซ้ำสอง เรียกว่ารอบนี้ขาดทุนหนักมาก เพราะต้นทุนสูงตั้งแต่ซื้อ “ลูกหมู” ตัวละเกือบ 3 พันบาท และมาเจอราคาหมูเป็นๆไม่ถึง 70 บาท จึงขาดทุนหนักกันอีกรอบ

“การอ้างว่าต้องเอาเนื้อหมูจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อมาถ่วงดุลกับราคาเนื้อหมูในประเทศที่แพงในช่วงปลายปี 64 ถึงต้นปี 65 เป็นข้ออ้างข้างๆ คูๆ เพราะถ้าอยากนำเข้าเนื้อหมู กระทรวงพาณิชย์ต้องแจ้งมายังสมาคมผู้เลี้ยงสุกรฯ เพื่อจะได้รู้ว่าใครนำเข้าบ้าง เอามาในตัวเลขเท่าไหร่ จำนวนกี่ตัน และแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะถ้าปล่อยให้หมูเถื่อนเข้ามา จะทำลายอาชีพของเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเป็นวงกว้าง ส่งผลไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกพืชไร่อาหารสัตว์ โดยหมูเถื่อนจะมีราคาถูกอยู่ได้ไม่นาน แต่ในไม่ช้าก็จะมีราคาแพง ที่สำคัญคือหมูเถื่อนเหล่านี้เป็นหมูที่ต่างประเทศไม่ต้องการ เป็นหมูใกล้หมดอายุ โดยเฉพาะถ้าเป็นพวกเครื่องในหมู คนต่างประเทศเขาไม่กิน จึงแอบขนเข้ามาขายในไทย”

ขอให้รัฐดูแลเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก

โดยปกติประเทศไทยมีกฎหมายห้ามนำเข้าเนื้อหมูอยู่แล้ว เพราะต้องการคุ้มครองอาชีพของเกษตรกร และหมูจากต่างประเทศส่วนใหญ่ใช้สารเร่งเนื้อแดง แต่บ้านเราห้ามใช้สารเร่งเนื้อแดง ในอดีตเคยอนุญาตให้นำเข้าเครื่องในหมู (ตับ-ไส้-ปอด) เข้ามาบ้าง โดยอ้างว่าเอาเข้ามาเพื่อเป็นส่วนประกอบของอาหารหมา-แมว แต่ได้ยกเลิกไปนานพอสมควร

รวมทั้งมีการอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูคุโรบุตะ จากประเทศญี่ปุ่นได้บ้าง แต่ไม่มาก เพียงไม่กี่ตัน เพราะเป็นเนื้อหมูระดับพรีเมี่ยม ราคาแพง เอามาทำสเต็ก แต่ตอนหลังเกษตรกรไทยสามารถเลี้ยงหมูคุโรบุตะได้แล้ว มีคุณภาพดีด้วย ปัจจุบันจึงไม่รู้ว่ายังมีใครขอนำเข้าเนื้อหมูคุโรบุตะจากญี่ปุ่นอยู่หรือเปล่า

โดยส่วนตัวอยากขอร้องให้คนไทยซื้อหมูในตลาดสดที่ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์ (ปศุสัตว์โอเค) คือมีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย และไม่เห็นด้วยกับการซื้อเนื้อหมูในช่องทางออนไลน์ แพ็คใส่กล่องโฟมขาย 1-5 กก. หรืออาจจะมากกว่านั้น ใครจะการันตีเรื่องความปลอดภัยให้เรา และเอาเนื้อหมูมาจากไหนไม่รู้

“ผมดีใจแทนพี่น้องเกษตรกรที่รัฐบาลใส่ใจกับการปราบปรามหมูเถื่อน เพราะไม่เช่นนั้นอาชีพของเกษตรกรจะเสียหายเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน ทำให้หลายคนถอดใจอยากจะเลิกเลี้ยงหมู เมื่อปราบปรามหมูเถื่อนได้แล้ว ก็อยากข้อร้องให้รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมเกษตรกรรายย่อย-รายเล็ก ให้มีทุนกลับมาเลี้ยงได้อีก ที่สำคัญคือช่วยดูแลเรื่องต้นทุนอาหารสัตว์ให้สามารถต่อสู้กับต่างประเทศได้ ในภาวะปกติคนไทยบริโภคหมูวันละ 5 หมื่นตัว แต่เรามีการเลี้ยงเกินกับความต้องการภายในประเทศไว้เล็กน้อย พูดง่ายๆ ว่าเลี้ยงไว้เผื่อเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา เวียดนาม จีนขาดแคลนหมู ถ้าเขาขาดแคลน เราสามารถส่งออกหมูเป็นๆ เข้าไปขายได้” นายสิทธิพันธ์ กล่าว