ผู้นำนิวซีแลนด์เชื่อมั่นว่า การห้ามใช้สมาร์ตโฟนในชั้นเรียน จะช่วยให้นักเรียนมีสมาธิกับการเรียนมากขึ้น และจะข่วยให้อัตราการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนในประเทศ กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง หลังผลการทดสอบโดยหน่วยงานหลายแห่งทั้งในและต่างประเทศเป็นไปในทางเดียวกัน ว่าการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนนิวซีแลนด์มีแนวโน้มลดลง “จนน่าใจหาย” ทั้งที่เคยติดอยู่ในกลุ่มลำดับต้นของโลก

ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นชาวนิวซีแลนด์ 1,481 คน จัดทำโดยฮอไรซอน ที่เป็นหน่วยงานวิจัยแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 10-16 พ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่ลักซอนรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปรากฏว่า 61% ของกลุ่มตัวอย่าง เห็นด้วยกับการห้ามใช้สมาร์ตโฟนในชั้นเรียน แต่มองว่า ครูควรอนุญาตให้นักเรียนใช้สมาร์ตโฟนได้ในช่วงเวลาพัก

ท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป นิวซีแลนด์ไม่ใช่ประเทศแรกที่พิจารณามาตรการนี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ฝรั่งเศสกำหนดมาตรการที่เข้มงวดยิ่งกว่า ด้วยการห้ามการใช้สมาร์ตโฟนในชั้นเรียน สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาตอนต้น แม้นักเรียนสามารถนำสมาร์ตโฟนไปโรงเรียนได้ แต่จะไม่สามารถใช้งานอุปกรณ์นั้นได้ จนกว่าโรงเรียนเลิก หมายความว่า ต่อให้เป็นเวลาพักกลางวัน หรือพักระหว่างคาบเรียน นักเรียนก็ยังไม่สามารถใช้สมาร์ตโฟนได้

ด้านอิตาลีออกมาตรการแบนการใช้สมาร์ตโฟนในชั้นเรียน เมื่อเดือนธ.ค. 2565 โดยให้เหตุผลว่า “เป็นอุปกรณ์ที่รบกวนการเรียนรู้” และ “ทำให้นักเรียนลดความสนใจต่อการสอนของครู” แต่มีข้อยกเว้นว่า ครูสามารถอนุญาตให้มีการใช้สมาร์ตโฟนได้ “เฉพาะในช่วงเวล่าที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนเท่านั้น” หลังจากนั้นต้องมีการเก็บอุปกรณ์

นอกจากนี้ ฟินแลนด์และเนเธอร์แลนด์มีแผนออกมาตรการแบบเดียวกัน ในปี 2567 อย่างไรก็ตาม ทั้งสองประเทศเพิ่งเปลี่ยนรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และยังไม่มีความชัดเจนว่า รัฐบาลชุดใหม่จะสานต่อเรื่องนี้หรือไม่

นักเรียนชายแอบใช้สมาร์ตโฟน ระหว่างเวลาเรียน ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในสหรัฐ

อนึ่ง องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเนสโก ) เผยแพร่รายงานเมื่อช่วงกลางปีนี้ ว่าท่ามกลางยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การศึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยี ควรเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม ครูและบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ควรมีความระมัดระวังให้การใช้เทคโนโลยี “มีความพอดี”

เนื่องจากยังคงมีหลักฐานเชิงประจักษ์น้อยมาก ว่าเทคโนโลยีดิจิทัล “สามารถเพิ่มพูนคุณค่าให้กับการศึกษา” ในทางกลับกัน การใช้เทคโนโลยีในชั้นเรียน “อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตราย ให้เป็นการใช้งานอย่างไม่เหมาะสมหรือมากเกินไป” ครูและบุคลากรการสอนควรให้ความสำคัญกับผลการเรียนรู้ มากกว่า “การป้อนข้อมูลแบบดิจิทัล”

กล่องเก็บสมาร์ตโฟนก่อนเข้าชั้นเรียน ที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในยุโรป

รายงานของยูเนสโกระบุต่อไปว่า ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีการใช้โน้ตบุ๊กในชั้นเรียน นโยบายดังกล่าวมีประสิทธิภาพ เมื่อเป็นการบูรณาการร่วมกับกลยุทธ์ทางการศึกษาที่แข็งแกร่งเท่านั้น ซึ่งยังคงมีเพียงไม่กี่ประเทศที่สามารถปฏิบัติได้

ขณะเดียวกัน รายงานของยูเนสโกระบุเกี่ยวกับการที่ รัฐบาลของหลายประเทศเคลื่อนไหวมากขึ้น ในการกำหนดนโยบายห้ามการใช้สมาร์ตโฟนภายในห้องเรียน เป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากขึ้น เกี่ยวกับการจัดการ “ปัจจัยที่ทำให้ไขว้เขว” ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน

รายงานของยูเนสโกทิ้งท้าย ว่าการสอนให้นักเรียนมีทักษะการอ่านที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้เรียนตกเป็นเหยื่อของ “ฟิชชิงอีเมล” หรือ “อีเมลหลอกลวง” เนื่องจากจะเป็นการฝึกฝนให้นักเรียนมีความเข้าใจ และสามารถประเมินเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น

นักเรียนชายชาวจีนร่วมเรียนออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟน ที่บ้านในเมืองเหมยซาน มณฑลเสฉวน

เมื่อหันกลับมามองการเคลื่อนไหวของรัฐบาลในทวีปเอเชีย เกี่ยวกับมาตรการห้ามใช้สมาร์ตโฟนในชั้นเรียน พบว่ายังไม่มีการดำเนินการมากนัก นอกเหนือจากกัมพูชา ซึ่งประกาศเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา ห้ามการใช้งานสมาร์ตโฟนหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมการเรียนรู้ ภายในห้องเรียน หรือระหว่างชั่วโมงเรียน

ส่วนไทยเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มมีผู้ใช้สมาร์ตโฟนสูงเป็นอันดับต้นของโลก แม้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มีผลกระทบ ต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของนักเรียนมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม การที่หลายประเทศให้ความสนใจกับเรื่องนี้ และมีการปฏิบัติจริงแล้ว เรื่องนี้ถือเป็นแกหนึ่งกรณีศึกษาน่าสนใจ สำหรับบุคลากรในวงการศึกษาไทย และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES