ท่ามกลางบริบทการเมืองที่หลายฝ่ายต่างมองว่าเป็นสัญญาณแรกที่กำลังจะนำไปสู่การยุบสภา โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทั้งการลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มุ่งพื้นที่ฐานเสียงพรรคพลังประชารัฐถี่มากขึ้น การแยกกันลงพื้นที่ของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร รวมไปถึงกระแสข่าวความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของพรรคพลังประชารัฐ ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงต้องสนทนากับ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์การเมืองที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้

โดย ดร.เจษฎ์ เปิดฉากกล่าวว่า สถานการณ์โดยรวมยังไม่สุกงอมเพียงพอที่จะสรุปได้ว่า กำลังจะเดินหน้าไปสู่การยุบสภาเร็วๆ นี้ เพราะมี 2 ปัจจัยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่ยุบสภา คือ 1.ไม่รู้ว่ายุบสภาแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง หากในสภาวการณ์นั้นเมื่อยุบสภาแล้วมีอะไรเข้ามากระทบจะเอาคืนไม่ได้ ดังนั้นอยู่ให้ครบสมัยดีกว่า และ 2. เชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์มีทิฐิมานะส่วนตัว เนื่องจากมีเพียงนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งมาจากการเลือกตั้งเพียงคนเดียวที่อยู่จนครบสมัย ซึ่งตนเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะพยายามอยู่จนครบสมัย เพื่อที่จะบอกว่า ทักษิณทำได้เราก็ทำได้

ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ที่เป็นเหมือนการส่งสัญญาณทางการเมืองนั้น เพราะเขากำลังคิดอยู่ใน 2-3 ลักษณะ คือ 1.เมื่อเข้าสู่บริบททางการเมือง โดยเฉพาะเรื่องระบบเลือกตั้งใหม่ ก็จะต้องลงพื้นที่มาก ต้องใช้คนที่รู้จักกับชาวบ้าน ต้องหาคะแนน ต้องเอาชนะพรรคเพื่อไทยให้ได้ เพราะมีศักยภาพในเขตสูง ดังนั้นจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็แล้วแต่หรือรัฐบาลจะอยู่จนครบเทอม เวลาที่เหลือปีกว่าๆ เป็นระยะเวลาที่ไม่ได้ยาวนานเลย

การจะลงพื้นที่ร่วมกันอาจจะยิ่งตอกย้ำว่า สามัคคีกัน ซึ่งอาจจะไม่ได้ผลอะไร เพราะในทางการข่าว ยิ่งในภาวะที่คนยังสับสนอยู่ เหมือนกับน้ำกำลังค่อยๆ ขุ่น ปลากำลังสับสน เราอาจจะยิ่งต้องทำให้น้ำขุ่นเพิ่มขึ้น เพื่อที่จะจับปลา ตอนนี้ภาวการณ์ของพรรคพลังประชารัฐอาจจะไม่ต้องการความชัดเจน  เพราะความชัดเจนไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเขา ความชัดเจนเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร เขาได้แสดงไปแล้ว ส่วนที่เหลือคือความคลุมเครือ

2.มีโอกาสที่ในภาวการณ์ ทั้งโรคระบาด การชุมนุม และสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งอาจจะเกิดอะไรก็แล้วแต่ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองแล้วมีความจำเป็นต้องยุบสภา ผมคิดว่าเขามีความรอบคอบเตรียมการต่างๆเอาไว้ เผื่อว่ามีความจำเป็นต้องยุบสภาก็สามารถทำได้ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่าอาจจะยุบได้ทุกเมื่อ และ 3.เขาไม่ยุบง่ายๆ แต่การปูทางทั้งหมด เขาไปเผื่อในกาลอนาคต เมื่อใกล้จะหมดสมัย เขาจะไม่ยุบสภาแต่เขาเผื่อเอาไว้ เมื่อใกล้จะหมดเทอม เขาอาจจะยุบสภาแล้วตีกินประชาชนบอกว่า ที่เรียกร้องให้ผมยุบสภาผมก็ยุบแล้ว

แสดงว่าสัญญาณที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ใช่ความขัดแย้งแตกแยกของ 3 ป.

เชื่อว่าความเห็นไม่ลงรอยมีอยู่ การขัดกันทางความคิดมีอยู่ การจัดการที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันไม่ได้วางแผนร่วมกันมีอยู่ แต่จะขัดแย้งจนถึงกระทั่งแตกกันคงยาก เพราะอดีต คสช.รวมกันมีโอกาสอยู่ แยกกันมีโอกาสตาย เพราะฉะนั้นต่อให้เขาเกลียดกันอย่างไร เขาก็ต้องเกาะกันให้ติด

@ กระแสข่าวพรรคการเมืองใหญ่จับมือกันเป็นหนึ่งในความไม่ชัดเจนที่เป็นประโยชน์ด้วยหรือไม่

ตนคิดว่าเขาปล่อยให้มันเป็นไป คือไม่แก้ข่าว ไม่แสดงความชัดเจน เขาปล่อยให้น้ำขุ่นเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะจับปลาได้สะดวกขึ้น หากน้ำใสเขาอาจจับปลาได้ยากขึ้น เพราะฉะนั้นเขาจึงปล่อยไป เพราะเป็นประโยชน์กับเขาด้วย

การชิงยุบสภาเพื่อชิงความได้เปรียบ มีโอกาสเกิดขึ้นหรือไม่

ขณะนี้คิดว่าเขากำลังวัดความได้เปรียบเสียเปรียบด้วย แม้เวลาปีกว่าๆมันสั้น ที่จะลงพื้นที่ให้ได้จำนวนมาก และการที่เขาแยกกันลงอาจจะไม่ได้แปลว่าเขาทะเลาะกัน แต่จำเป็นต้องวัดพื้นที่ แล้วอาจจะต้องวัดจากหลายๆแง่มุม โดยเฉพาะวัดจากความนิยมที่แตกต่าง คนส่วนใหญ่อาจจะชอบ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ไม่ชอบ พล.อ.ประวิตรก็ได้ หรืออาจจะมีคำจำนวนหนึ่งบอกว่า พล.อ.ประวิตร ก็พอใช้ได้ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ไหว เพราะฉะนั้นการแยกกันลงพื้นที่อาจจะซาวเสียงได้แตกต่างกัน ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์ และอาจจะเป็นเป้าลวงในการสร้างความไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นแง่มุมที่อาจจะเป็นประโยชน์กับเขาอยู่ ถ้าเขาพบว่า เราได้เปรียบ เขาอาจจะชิงยุบสภาก็ได้

ปัจจัยอะไรที่จะทำให้โอกาสเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จนจำเป็นต้องยุบสภา

หรือสมมุติว่าเขาแตกกันจริงๆ ไปถึงจุดที่จะอยู่กันไม่ได้แล้ว เทียบกับบรรดาทหารที่เคยร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับนักการเมือง คือเอานักการเมืองไม่อยู่แล้วจริงๆ จำเป็นจะต้องดักคอด้วยวิธียุบสภา เมื่อยุบสภาทุกคนก็ต้องไปหาเสียงเลือกตั้ง นอกจากนั้นยังมีเหตุจากการชุมนุมประท้วง หากแรงขึ้นเรื่อยๆ แล้วมีการไปควบคุมบรรดาผู้เข้าร่วมชุมนุมในแบบที่สุ่มเสี่ยง มีการทำร้ายประชาชนจนเสียชีวิตอย่างชัดเจน โดยเกิดจากคำสั่งของ พล.อ.ประยุทธ์ หรือเป็นปฏิบัติการที่นายกฯรูปเห็น ก็จะเหมือนกรณีรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

เวลาที่เหลือ พล.อ.ประยุทธ์ จะสร้างคะแนนนิยมได้มากเพียงพอ สำหรับการเลือกตั้งหรือไม่

คิดว่าได้มาก็ดี ได้น้อยก็ไม่เป็นไร ซึ่งอาจจะที่สะท้อนมาจากกรณี ร.อ.ธรรมนัส ที่เดิมทีเห็นว่าคงไม่อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หรือคิดว่าคงมีความแตกแยก แต่เขากลับรวมกลับมา ร.อ.ธรรมนัส ก็ยังอยู่ในพรรคอยู่ พล.อ.ประวิตร ก็ยังพูดคุยกันได้ พล.อ.ประยุทธ์ก็ปรับท่าที ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เขาพยายามรักษาเสถียรภาพในพรรคพลังประชารัฐ และก็ต้องพยายามแสวงหาความรู้สึกดี หรือคะแนนนิยมจากประชาชนให้เพิ่มขึ้น เพราะเวลาเหลือปีกว่าๆ ซึ่งจะได้หรือไม่ก็ไม่รู้แต่ก็ต้องทำ

@ การที่ ส.ว.ยังมีอำนาจโหวตนายกฯ เพียงพอที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯ ได้อีกรอบหรือไม่

คิดว่าเพียงพอที่จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กลับมาเป็นนายกฯ แต่คิดว่าไม่เพียงพอที่จะทำให้สภาวการณ์ราบรื่น และอาจจะกลายเป็นคลื่นใต้น้ำที่วันหนึ่งจะเกิดเป็นพายุได้ เพราะหากหลังการเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้ ส.ส.มากกว่า แต่พรรคพลังประชารัฐได้เสียงน้อยกว่า แล้วไปรวมเสียง ส.ว. เพื่อให้ได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสองสภาตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ 2560

เมื่อนั้นการชุมนุมประท้วง การออกมาบนท้องถนนของประชาชน จะไม่ใช่แค่กลุ่มที่ปัจจุบันกำลังประท้วงกันอยู่ แต่จะหลากหลายกลุ่มมาก จะเหมือนสมัยที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร รับเป็นนายกฯ เมื่อปี 2535 เหมือนม็อบ กปปส.ล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเหมือนการชุมนุมเสื้อเหลืองที่ออกมาไล่นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งจะเป็นแบบนั้น และยิ่งวุ่นวายเข้าไปใหญ่และ พล.อ.ประยุทธ์ และพลพรรค คสช.ทั้งหลายจะอยู่ไม่ได้