ครอบครัว นับเป็นฐานสำคัญของการดำเนินชีวิตและพัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งทิศทางการพัฒนาของประเทศทั้งการเมือง เศรษฐกิจ ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของครอบครัวให้อ่อนแอเปราะบางลง ความอ่อนแอของครอบครัวมีความชัดยิ่งขึ้น จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ภาพความเครียดของสมาชิกครอบครัวที่เคยหารายได้เลี้ยงครอบครัว ต้องตกอยู่ในสภาพขาดรายได้ ส่งผลต่อสภาพจิตใจของสมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะสังคมเมืองมีโอกาสเผชิญปัญหาสูงกว่า

ทั้งนี้ นพ.นิธิวัชร์ แสงเรือง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ่อเกลือ จ.น่าน นำเสนอมุมมองด้านระบบสุขภาพ ในการเปิดรับผู้ป่วยจากพื้นที่ระบาดรุนแรงกลับมารักษายังภูมิลำเนาบนเวทีเสวนา “วิกฤติความอยู่รอดของครอบครัวเปราะบางในสถานการณ์โควิด-19” ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

นพ.นิธิวัชร์ ระบุว่าการที่ผู้ป่วยเดินทางกลับมารักษาตัวที่ภูมิลำเนา ส่วนหนึ่งเชื่อว่าการอยู่ในเมืองเหมือนกับการรอติดเชื้อ รอตรวจหาเชื้อ รอเตียงรักษา และถึงขั้นรอความตายอยู่ที่บ้าน ในขณะที่ต่างจังหวัดยังคงมีศักยภาพในการตรวจหาเชื้อ และมีเตียงสำหรับดูแลรักษาผู้ติดเชื้อโควิดอยู่

หรือถ้ายังไม่ติดเชื้อก็มีกลไกของชุมชนในการประคับประคองให้ประชาชนที่กลับมาสามารถกักตัวจนครบ 14 วันได้ สะท้อนภาพของการหลีกหนีความเสี่ยงและความไม่มั่นคงทางสุขภาพในเมืองหลวง

ดังนั้น สิ่งที่อยากจะเสนอคือ รัฐควรกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการปัญหาไม่ใช่เป็นเพียงผู้รับปัญหาปลายทาง การปรับกฎระเบียบต่าง ๆ ของรัฐที่ไม่สามารถตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงทีให้มีความคล่องตัวมากขึ้น

ตลอดจนการเยียวยาทางเศรษฐกิจ และจัดสวัสดิการทางสังคมที่หลากหลายและเหมาะสมกับทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติทางสุขภาพในครั้งนี้

ขณะที่ ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. ระบุว่า ที่ผ่านมาครอบครัวนับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาโดยตรงซึ่งปัญหาครอบครัวนั้นยิ่งชัดเจนขึ้นมากในวิกฤติโควิด-19 และปัญหานี้มักจะถูกมองแค่เป็นปัญหาหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาหรือสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง แต่ในความเป็นจริงมีภาวะปัญหามานานแล้ว

สิ่งที่ต้องการ คือ การวิเคราะห์ถึงรากของปัญหาและเชื่อมโยงกับโครงสร้างของระบบที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีการระบาดของโควิด-19 แต่จะเห็นว่าครอบครัวไทยจำนวนไม่น้อยก็มีความอ่อนแออยู่มาก ตัวอย่างเช่น พ่อแม่ที่รายได้น้อย ต้องทำงานทั้งคู่ มีเวลาในการดูแลอบรมบุตรน้อย ย่อมส่งผลต่อความสามารถที่จะพัฒนาเด็กให้เติบโตอย่างสมวัย ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด การเข้าถึงการเรียนผ่านระบบออนไลน์ ยิ่งจะถ่วงโอกาสที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเด็กด้วยกันอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ สวรส. เห็นความสำคัญและผลกระทบของปัญหานี้ที่เชื่อมโยงกับระบบสังคมและสุขภาพ จึงได้สนับสนุนงานวิจัยทางด้านสังคมและครอบครัว ตลอดจนกิจกรรมการแลกเปลี่ยนพูดคุยเพื่อการขับเคลื่อนการแก้ปัญหา “โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาและขับเคลื่อนสุขภาวะของครอบครัวเปราะบางในสังคมไทย” เป็นหนึ่งในงานวิจัยภายใต้แผนพัฒนาสุขภาพสำหรับประชากรกลุ่มเปราะบาง และเป็นความร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน เพื่อศึกษาสถานการณ์และหาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบ เน้นการแก้ปัญหาอย่างเชื่อมโยงและมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเป็นการทำงานในระยะยาวเพื่อสร้างความเข้มแข็งของรากฐานครอบครัว และการจัดการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน.

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก

เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง