จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งปัญหา“แพะ”ในกระบวนการยุติธรรม ไปจนถึงการกระทำที่เข้าข่ายทรมานหรือไม่ เมื่อมีการออกมาให้ข้อมูลถูกคลุมถุงดำระหว่างสอบปากคำเพื่อให้สารภาพ…

ขณะที่อีกมุมถูกตั้งคำถาม บทบาทการมีกฎหมายป้องกันพฤติกรรม“นอกรีต”อย่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 หรือ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ ซึ่งจะครบ 1 ปีที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ.นี้

“ทีมข่าวอาชญากรรม”มีโอกาสสอบถาม น.ส.นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผอ.กองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ในฐานะรองโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เพื่อสะท้อนภาพการบังคับใช้ ไปจนถึงอุปสรรคปัญหาที่ต้องแก้ไข โดยเบื้องต้นระบุความแตกต่างของ“การกระทำทรมาน”ตาม พ.ร.บ.อุ้มหายฯกับ“การทำร้ายร่างกาย”ตามประมวลกฎหมายอาญาว่า การกระทำทรมานในพ.ร.บ.อุ้มหายฯต้องเป็นพฤติกรรมที่ชัดเจนว่ากระทำด้วยความต้องการให้ได้มาซึ่งการรับสารภาพ หรือเป็นการลงโทษเป็นการเฉพาะ เพื่อประโยชน์บางอย่างและร้ายแรง

จากสถิติร้องเรียนที่กรมคุ้มครองสิทธิฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) กรมการปกครอง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และอัยการ ได้รับตลอด 1 ปีที่ผ่านมา พบว่าเป็นการร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมาน 27 ราย , อุ้มหาย 6 ราย และกระทำโหดร้าย ไร้มนุษยธรรมฯ 24 ราย

จุดเด่นพ.ร.บ.อุ้มหายฯคือ ได้ตรวจสอบและถ่วงดุลการทำงานของเจ้าหน้าที่หากมีการจับกุม ไม่ว่าคดีเล็กความเสียหายน้อย หรือคดีใหญ่  ทุกการจับกุมต้องบันทึกภาพและเสียง  และแจ้งอัยการและฝ่ายปกครองท้องที่ให้พิจารณาว่าจับกุมโดยชอบหรือมีความเสี่ยงเป็นการทรมานหรือไม่

“หากเสี่ยงว่าเป็นการทรมาน อัยการและฝ่ายปกครองก็จะเรียกขอเอกสารเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม หรือเข้าไปตรวจสอบการจับกุมด้วย สรุปสาระสำคัญของกฎหมายก็เพื่อคานอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ ป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานและอุ้มหาย”

สำหรับช่องโหว่การบังคับใช้ รองโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิฯ ระบุ หากตรวจสอบจากข้อร้องเรียนพบส่วนใหญ่เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งครอบคลุมเกือบทุกหน่วยงานในประเทศ แต่ที่ถูกร้องเรียนมากสุดคือ ตำรวจ (ในพื้นที่ต่างจังหวัด โดยเฉพาะตำรวจที่มีหน้าที่จู่โจมจับกุม) โดยพบพฤติกรรมเข้าข่ายกระทำทรมานตั้งแต่ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน มีตั้งแต่ทำร้ายร่างกาย เตะ ต่อย แม้จะมีกล้องติดตัวบันทึกภาพขณะจับกุมหรือควบคุมตัว ขณะเดียวกันยังพบปัญหาบางพื้นที่หรือบางรายคดีไม่ได้บันทึกภาพและเสียง

ขณะที่หน่วยงานอื่นๆมักได้รับชี้แจงว่า ไม่รู้ว่ากฎหมายครอบคลุมถึงหน่วยงานตัวเอง เช่น เจ้าหน้าที่เทศกิจ เจ้าหน้าที่ตรวจจับแรงงานต่างด้าว เจ้าหน้าที่จับคนไร้ที่พึ่ง เป็นต้น ดังนั้น ต้องย้ำว่าทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่จับกุมต้องปฏิบัติตามหลักการ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ

นอกจากนี้  ชี้ถึงปัญหาการเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลที่ยังเป็นคนละช่องทาง หากมีระบบที่เป็นช่องทางเดียวกัน แจ้งเพียงครั้งเดียวจะลดขั้นตอนและความซ้ำซ้อนลงได้ รวมถึงการเรียกไฟล์ข้อมูลของพนักงานอัยการ ซึ่งข้อตกลงเดิมประสงค์ให้อัยการเรียกไฟล์จากพนักงานสอบสวน หรือเจ้าหน้าที่จับกุมแค่รายคดี หรือรายพฤติการณ์ที่ทราบแต่ต้นว่ามีความเสี่ยงตามพ.ร.บ.อุ้มหายฯ แต่บางกรณีบางท่านอาจเรียกไฟล์และเอกสารมากเกินจำเป็น ทำให้มีเสียงสะท้อนจากผู้ปฏิบัติว่ามีความลักลั่น เพราะแต่ละท่านก็มีดุลยพินิจตัวเอง ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิฯพยายามรับฟังและนำไปปรับแก้เพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นไปด้วยดี 

รองโฆษกกรมคุ้มครองสิทธิฯ ระบุ การจะขยับหรือปรับแก้มาตราใดของกฎหมายต้องมีการประเมินผลสัมฤทธิ์หลังบังคับใช้ทุก 5 ปี จึงจะทราบรายละเอียดที่ชัดเจน แต่ประเด็นหนึ่งที่มองว่าเป็นปัญหาในการปฏิบัติคือ นิยามการจับกุมว่าทุกประเภทคดีต้องบันทึกภาพและเสียง จึงคาดว่าในอนาคตอาจหารือ เพื่อกำหนดประเภทว่าคดีใด“ควรบันทึก”หรือ“ไม่ควรบันทึก” เพราะบางครั้งการจับกุมเพียงเล็กน้อย เช่น จับทุเรียนเถื่อน จับเครื่องสำอางปลอม หรือเป็นคดีที่ไม่มีผลเสี่ยงซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ก็จะขอ“ละเว้น”ว่าไม่ต้องบันทึก

“เนื่องจากการบันทึกใดๆจะมีเรื่องอุปกรณ์กล้อง หรือพื้นที่จัดเก็บไฟล์ เป็นภาระหน่วยงานต้องหาอุปกรณ์เพิ่ม ซึ่งรายคดีเล็กๆก็มีจำนวนมาก ทางกรมฯ จึงค่อนข้างรับฟังปัญหาเพื่อแก้ไข”

ทั้งนี้ ทิ้งท้ายภาพการบังคับใช้ที่เริ่มเห็นความตื่นตัว สังเกตได้จากคดีที่ผ่านๆมา สังคมมักตั้งคำถามถึงการบันทึกภาพและเสียงของเจ้าหน้าที่รัฐว่าได้ปฏิบัติตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นหลักประกันเรื่องการตรวจสอบถ่วงดุลที่จะทำให้ได้รับความปลอดภัยในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]