ประธานาธิบดีมากี ซาล ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้นำเซเนกัลสมัยแรก เมื่อเดือนเม.ย. 2555 ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ครองอำนาจ ซาลได้รับการยกย่องและชื่นชมจากหลายฝ่าย ว่าเป็นผู้นำนักปฏิรูป พัฒนาเซเนกัลให้มีความเจริญก้าวหน้าหลายด้าน โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

หลังชนะการเลือกตั้งสมัยที่สอง เมื่อปี 2562 เริ่มมีการจับตามากขึ้น เกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของซาล ซึ่งปัจจุบันมีอายุ 62 ปี แม้รัฐธรรมนูญของเซเนกัลกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีไว้ที่ไม่เกินสองสมัย หรือ 10 ปี แต่ฝ่ายสนับนุนซาลมองว่า การปรับแก้รัฐธรรมนูญ ที่เป็นการลดวาระการดำรงตำแหน่ง ปีประธานาธิบดีจาก 7 ปี ลงมาอยู่ที่ 5 ปี เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 ดังนั้น 7 ปีที่ซาลดำรงตำแหน่งผู้นำเซเนกัลก่อนหน้านั้น “ไม่นับ” และเจ้าตัวยังคงลงสมัครได้ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

บรรยากาศการประชุมสภาแห่งชาติ ในกรุงดาการ์ เมืองหลวงของเซเนกัล

จนกระทั่งผู้นำเซเนกัลประกาศเมื่อต้นเดือนนี้ เลื่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ ซึ่งตามกำหนดคือวันที่ 25 ก.พ. 2567 ออกไปก่อน โดยให้เหตุผลว่า นับจากนี้จะมีการจัดตั้ง “กลไกการเจรจาเพื่อกำหนดเงื่อนไขไปสู่การเลือกตั้งที่เสรี โปร่งใส และได้ข้อสรุป เพื่อความสงบสุขและสภาวะประนีประนอมของบ้านเมือง” ท่ามกลางความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างศาลรัฐธรรมนูญ กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จากการที่ศาลประกาศว่า นักการเมืองหลายสิบคน “ไม่มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ”

ขณะที่สภาแห่งชาติของเซเนกัลมีมติ กำหนดวันเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ เป็นวันที่ 15 ธ.ค. 2567 ซึ่งเป็นการเลื่อนเลือกตั้งครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของเซเนกัล อนึ่ง การลงมติของสภาเกิดขึ้นโดยแทบไม่มีฝ่ายค้านเข้าร่วม เนื่องจากสมาชิกแทบทั้งหมดถูกเชิญออกจากห้องประชุม เหลือสมาชิกออกเสียงไม่เห็นด้วยเพียงคนเดียว ส่วนอีก 105 เสียงของฝ่ายรัฐบาล ลงมติสนับสนุนอย่างพร้อมเพรียง

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นหมายความว่า ซาลซึ่งจะครบวาระการดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง ในช่วงต้นเดือน เม.ย. นี้ จะยังคงอยู่ในตำแหน่งต่อไป จนกว่าผู้นำคนใหม่จะรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2568 ด้านฝ่ายค้านมองว่า เป็นความพยายามของรัฐบาลที่ไม่ต้องการปราชัย ในการเลือกตั้งครั้งใหม่ และอาจเป็นแผนต่อเวลาให้ซาลดำรงตำแหน่งนานขึ้นอีก

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ผู้นำฝรั่งเศส ต้อนรับประธานาธิบดีมากี ซาล ผู้นำเซเนกัล ที่กรุงปารีส 17 ก.พ. 2565

อนึ่ง เซเนกัลไม่เคยเผชิญกับการรัฐประหารแม้แต่ครั้งเดียว นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส เมื่อปี 2503 จึงได้รับการยกย่องจากประชาคมโลก ให้เป็นหนึ่งในประเทศมีระบบการปกครองและเศรษฐกิจมั่นคงที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปแอฟริกา การเกิดภาวะไม่แน่นอนทางการเมืองขึ้นอย่างฉับพลัน จึงสร้างความวิตกกังวลให้กับหลายฝ่าย ว่าจะกลายเป็นแรงกระเพื่อมไปยังภูมิภาคแห่งอื่นในกาฬทวีปหรือไม่

ฝ่ายค้านของเซเนกัลประณามการเลื่อนเลือกตั้ง “คือการรัฐประหารทางรัฐธรรมนูญ” และกล่าวว่า ซาลกำลังปูทางตัวเองสู่การเป็น “ผู้นำตลอดกาล” โดยยังไม่เชื่อมั่น ว่าผู้นำเซเนกัลจะยอมลงจากอำนาจ ซึ่งซาลยืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

หญิงถือขนมปังบาแกตต์ เดินไปตามถนนสายหนึ่ง ในกรุงดาการ์

การที่ซาลสำเร็จการศึกษาเกี่ยวกับธรณีวิศวกรรม จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจมากนักสำหรับชาวเซเนกัล ต่อการที่โครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นมาก และมีโครงการใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างท่าอากาศยาน การก่อสร้างเมืองใหม่ และนิคมอุตสาหกรรม ไปจนถึงการเชื่อมโยงระบบราง และถนนหลวงระหว่างเมืองอีกหลายสิบเส้นทาง พัฒนาการเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ผู้นำเซเนกัลต้องการให้ประชาชนจดจำ

นอกจากนั้น ซาลต้องการเป็นที่จดจำจากประชาคมโลก ในฐานะผู้ร่วมมีบทบาทสำคัญต่อกิจการระหว่างประเทศ ล่าสุดคือการที่เซเนกัลทำหน้าที่ ประธานหมุนเวียนประจำปีของสหภาพแอฟริกา ( เอยู ) ระหว่างปี 2565-2566 และเป็นสมาชิกสำคัญของประชาคมเศรษฐกิจแอฟริกาตะวันตก ( อีโควาส )

อย่างไรก็ตาม ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาของการดำรงตำแหน่งผู้นำเซเนกัลสมัยที่สองของซาล เกิดการประท้วงต่อต้านรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง มีผู้เสียชีวิตแล้ว 37 ราย และมีผู้ถูกจับกุมอีกเป็นจำนวนมาก นับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2564 จุดประเด็นให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของเซเนกัล

ในส่วนของท่าทีและปฏิกิริยาจากนานาประเทศ ไม่น่ามีประเทศใดบนโลกจับตาวิกฤติการเมืองของเซเนกัลใกล้ชิดเท่ากับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นอดีตเจ้าอาณานิคม และจนถึงปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างทั้สองประเทศยังคงดำเนินไปอย่างราบรื่นและแน่นแฟ้น

ชาวเซเนกัลชุมนุมในกรุงดาการ์ คัดค้านการเลื่อนเลือกตั้งประธานาธิบดี

การที่เซเนกัลมีเสถียรภาพทุกด้านมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง แน่นอนว่า ฝรั่งเศสซึ่งเคยมีอิทธิพลอย่างมากในทวีปแอฟริกา ย่อมไม่ต้องการให้เซเนกัล “ซึ่งยังคงเป็นหน้าเป็นตา” ให้กับรัฐบาลปารีส ต้องเผชิญกับภาวะสั่นคลอนและไร้เสถียรภาพ ที่จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของฝรั่งเศสที่นี่ หลังเกิดระลอกคลื่นรัฐประหาร ในหลายประเทศแถบแอฟริกาตะวันตก ตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ทั้งนั้น การที่การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหม่ของเซเนกัลถูกเลื่อนออกไปอีกนานถึง 10 เดือน เท่ากับว่า กว่าจะถึงวันนั้น ทุกฝ่ายในประเทศแห่งนี้กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมืองครั้งสำคัญ และไม่น่าจะมีฝ่ายใดยอมประนีประนอมอีกแล้ว.

ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป

เครดิตภาพ : AFP