1990-1998

Health systems learning platform

ชีวิตผมช่วงนี้หลังเรียนจบ ป.โท (ระบาดวิทยาชุมชน) ได้รับโอกาสทำงานบนแพลตฟอร์มของ National Board Epidemiology of Thailand (NEBT) และ การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการชี้ชวนของคุณหมอ สมชาย พีระปกรณ์ และคุณบังอร ฤทธิภักดี โดยลำดับ

กำเนิด NEBT อาศัยทุนสนับสนุนจากมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์เพื่อทดลองโมเดลพัฒนานโยบายบนฐานความรู้จากการวิจัย การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ได้ทุนประเดิมจากองค์การอนามัยโลกที่มอบให้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี แล้วท่านส่งผ่านให้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ผมเข้าใจเอาเองว่า ท่าน อ.ประเวศ วะสี ทำเช่นนี้บนความเชื่อว่า การให้โอกาสแก่คนเก่งและดีเป็นการลงทุนคุ้มค่าในระยะยาว

ผมเพิ่งมาตกผลึกเมื่อไม่นานมานี้ว่า แพลตฟอร์ม หมายถึง interface among connection, communication, contents อดีตนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน เคยกล่าวว่า “….in Thailand know what is not as important as know whom…”

การได้สัมผัสแพลตฟอร์มทั้งสองทำให้ผมประจักษ์ว่า อาจารย์ผู้ใหญ่ และรุ่นพี่หลายท่านมีความเชื่อมโยงกับผู้คนกว้างขวางทุกระดับ สอดคล้องกับพื้นที่ปริมณฑลที่อิทธิพลของท่านเหล่านั้นแผ่รัศมี เป็นเงื่อนไขให้การเชื่อมโยงความรู้และทรัพยากรทั้งหลายไปสู่การพัฒนานโยบายเป็นจริง กลยุทธ์เชิญรัฐมนตรีกินข้าวเย็นกับ “พวกเรา” ยังติดตาผมแจ่มชัด การกินข้าวเย็นไม่ได้มุ่งหมายเพื่อให้ท้องอิ่ม แต่เป็นการสร้างเงื่อนไขเพื่อสื่อสาร ถกแถลงสาระความรู้เชิงนโยบายระหว่างกัน โจทย์วิจัยจากฝ่ายนโยบายก็ดี ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายก็ดีมักเกิดขึ้นในวงกินข้าวเย็นนี่เอง

ครั้งหนึ่ง การกินข้าวเย็นกับรัฐมนตรีสาธารณสุข อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นการกรุยทางไปสู่งานวิจัยหลายประเด็น หนึ่งในนั้นคือ การผลักดันภาษีบุหรี่เป็นครั้งแรกโดยอาศัยงานวิจัยสองชิ้น ชิ้นหนึ่งเป็นการคำนวณผลได้ทางภาษีและการลดความชุกการสูบบุหรี่โดยคุณหมอสุภกร บัวสาย ตามด้วยการสำรวจทางโทรศัพท์หยั่งท่าทีสาธารณชนต่อนโยบายนี้ 1 สัปดาห์ก่อนการตัดสินใจใน ครม.

ในโลกออนไลน์แห่งศตวรรษที่ 21 ปรากฏการณ์ “ยืมนาฬิกาหรูของเพื่อนที่ตายแล้ว” สอนผมว่า หลักการแพลตฟอร์มยังเป็นจริง แต่ถ้าจะให้ได้ผลต้องการทักษะใหม่ ดังนั้น unlearning & relearning น่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อให้ตามทันการเปลี่ยนแปลง

Enquiry based teaching

ประสบการณ์เรียนรู้หลัก ในหลักสูตร ป.โท ที่ออสเตรเลียสอนผมว่า ปุจฉาวิสัชนา เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวา ท้าทายและเอื้อต่อการพัฒนาทักษะทางการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และ สื่อสาร ลีลาการสื่อสารของครูใช้การสร้างแรงจูงใจทางบวกเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียน ฝึกการตั้งคำถาม แสดงความเห็น ผมจึงได้รับทักษะและแรงบันดาลใจให้สานต่อแนวทางนี้เมื่อกลับมาสอนที่เวชศาสตร์ชุมชน

การขานรับต่อการจัดประสบการณ์เรียนรู้เช่นนี้ จากนักเรียนในบริบทสังคมไทย มีทั้งบวกและลบ คุณหมอรังสฤษดิ์ กาญจนะวณิชย์ เป็นตัวอย่างของศิษย์ที่ขานรับในทางบวก ผมยังจำเสียงแหบแห้งขณะนำเสนอผลวิจัยตอนปีห้าของหมอหม่องได้แจ่มชัด จึงอนุมานว่าเขาและเพื่อนเตรียมการนำเสนอจนดึกดื่น ครั้นขึ้นไปเรียนปีหก หมอหม่องยังแวะเวียนมาพูดคุยซักถามผมเกี่ยวกับการวิจัย น่าเสียดายที่ผมอาจทำให้เขาผิดหวังเพราะสงวนท่าทีด้วยเกรงว่าจะเป็นการกระทบกระเทือนต่ออาจารย์ที่ปรึกษาในปีหกของเขา

ในด้านลบผมพบว่า ศิษย์ปีสามที่ผมเป็นที่ปรึกษาถูกเพื่อนต่างกลุ่มแสดงความไม่พอใจใส่เมื่อถูกตั้งคำถามต่อที่มาของความเชื่อในสัมฤทธิผลของโมเดลพัฒนาชุมชนของพื้นที่ฝึกงาน Enquiry based teaching ยังทำให้นักเรียน ป.โท คนหนึ่งเลิกมาปรึกษาผมหลังจากได้รับแต่คำถาม แทนคำตอบว่าให้ทำโน่นนี่นั่น

Wide interest in research topics & management

สำหรับผม NEBT เป็นแพลตฟอร์มของการฟูมฟักนักวิชาการเชิงระบบ เป็นแพลตฟอร์มอันโดดเด่นในสังคมไทยแห่งศตวรรษที่ 20 สมรภูมิที่ NEBT พยายามมีบทบาทครอบคลุม environmental health, health systems research, NCD, Injury, Communicable diseases ด้วยเนื้อหาสาระที่กว้างขวาง และวิธีการจัดการแบบ inclusiveness ทำให้ผมได้รับโอกาสเรียนรู้กว้างขวางโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม สำหรับคนกังวลกับการออกจาก comfort zone อาจไม่ชอบสิ่งแวดล้อมแบบนี้

ผมได้บทเรียนการจัดการความรู้ผ่านบทบาท เลขานุการ คณะทำงานชุด NCD/Injury ในบทบาทนี้ ผมมีหน้าที่เตรียมการประชุม (กำหนดวาระ ออกหนังสือเชิญ ประสานงานผู้เข้าประชุม) บันทึกและสรุปผล ดำเนินการตามมติที่ประชุม รายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการบริหาร NEBT  ทุกสองสัปดาห์  และร่วมวางแผนงาน (program planning) ระยะสองปีตามวงรอบงบประมาณจากมูลนิธิรอคกี้เฟลเลอร์ ด้วยบทบาทนั้น ผมได้โอกาสพัฒนาทักษะสรุปการประชุมแบบฉับพลันโดยเป็นที่ยอมรับของคณะกรรมการ ในระยะยาวนี่คือการพัฒนาทักษะในการจับประเด็น ที่จะเชื่อมโยงไปสู่การนำการประชุม และการรายงานความก้าวหน้าต่อคณะกรรมการบริหาร NEBTคือการจัดชุดประสบการณ์เรียนรู้บนหลัก  Enquiry based teaching  โดยครูชั้นอ๋อง เช่น คุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ศ.นพ.จิตร สิทธีอมร ศ.นพ.ธาดา ยิบอินซอย เป็นต้น

นอกจากผม NEBT น่าจะเป็นโอกาสการเรียนรู้ช่องทางหนึ่งของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะทำงานชุด NCD/Injury  ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนวิจัย (สกว.) ท่านแรก ซึ่งจัดตั้งในสมัยรัฐบาลอานันท์ (๒)  ดังนั้น NEBTจึงเปรียบเสมือนเบ้าหลอมผู้สร้างนวัตกรรมระบบวิจัยยุคใหม่ให้สังคมไทย

การทำงานร่วมกับ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ทำให้ผมตระหนักว่า ทักษะในการเขียนบทความหนังสือพิมพ์ และ พูดแถลงข่าวกับสื่อมวลชนเป็นเรื่องสำคัญ และผมยังอ่อนหัดในเวลานั้น ยังจำได้ว่า บนเที่ยวบินกลับจากการประชุมบุหรี่โลกที่อาเจนติน่า อ.ประกิต มอบหมายให้ลูกทีมอย่างผมเขียน press release ให้ท่านพิจารณาเตรียมแถลงข่าวในทันทีที่ถึงสนานบินดอนเมือง ผมพบว่า ร่าง press release ของผมสอบตก จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เพียรพัฒนาในเวลาต่อมา

1999-2004

ยกเว้น Big Bang สรรพสิ่งล้วนไม่ได้กำเนิดจากความว่างเปล่าฉันใด กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็เป็นผลจากความสำเร็จในการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และการสนับสนุนของเงื่อนไขอื่นๆ รวมถึง สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขยุคที่ 1-2 ที่มีการเปรียบเปรยว่า เหมือนครรภ์มารดาที่ให้กำเนิดสถาบันลูกๆ เช่น สสส. สรพ. สวปก. สกส. CRCN เป็นต้น

อดีตรมช.คลัง ผู้เคยมาป่วยที่รามาธิบดี แล้วได้รับการดูแลเป็นพิเศษจาก อ.ประกิต จนเป็นเงื่อนไขให้ท่านร่วมผลักดัน พรบ.จัดตั้ง สสส. ในกรณีนี้ ทำให้ผมนึกถึงคำว่า “บารมีแพทย์” ของท่าน อ.ประเวศ วะสี สอดคล้องกับคำว่า ทุนทางสังคม ที่ทุกคนมีมากน้อยต่างกัน ฯลฯ

ในด้านหนึ่ง กำเนิด สสส.นำไปสู่โอกาสใหม่ของการขยายแพลตฟอร์มรุ่นถัดไป ซึ่งบ่มเพาะผู้สร้างนวัตกรรมการจัดการความรู้อย่างกว้างขวาง ในด้านกลับกัน สสส.คือบทท้าทายการขับเคลื่อนหลักคิด “สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” หรือ “Health in All Policies”.

“36 ปี” ที่มาที่ไป ของครูแพทย์คนหนึ่ง (1)

………………………………
คอลัมน์ : เวทีชวนคิด
โดย : ชวนคิด