โดยการเยือนต่างประเทศรอบนี้ นายกฯ เศรษฐา ได้ขนผ้าขาวม้ากว่า 30 ผืน ที่ได้รับจากชาวบ้าน จากพี่น้องประชาชนคนไทย ครั้งที่เดินทางไปเยือนจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ นำติดตัวไปด้วย

เป้าหมายสำคัญ!! ก็เพื่อต้องการนำผ้าขาวม้าเหล่านี้ ไปโชว์ให้ชาวต่างชาติได้เห็นสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย ที่เป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ ที่จะปลุกปั้นให้เป็นอีกหนึ่งสินค้าที่สามารถไปยืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างสง่างาม

ขณะเดียวกันนายกฯ เศรษฐา ยังคาดหวังไว้ว่า หากสามารถต่อยอดและขยายตลาดต่างประเทศไทย อนาคตผ้าขาวม้าไทยจากผืนละ 50 บาท อาจยกระดับขึ้นเป็นผืนละ 1,000 ก็ได้ และนั่น…เท่ากับว่า เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยอีกต่างหาก

ไม่เพียงแค่ผ้าขาวม้าเท่านั้น!! แต่ยังมีกระเป๋ากระจูด กระเป๋าสาน ผ้าคราม ที่มีโอกาสได้ปรากฏโฉม บนห้างดังในปารีส เรียกได้ว่า นอกจากจะทำหน้าที่เซลส์แมนไทยเบอร์ 1 ยังทำหน้าที่เป็นผู้นำแฟชั่นของไทยอีกด้วย

แม้การทำหน้าที่ครั้งนี้ของนายเศรษฐา และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อย่าง “อุ๊งอิ๊ง” ที่ต้องการโปรโมตสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทั้งในแง่ลบและแง่บวก ก็ตาม

แต่อย่างน้อย…ก็เป็นการเปิดตลาดให้กับสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เป็นที่รู้จักในสายตาโลกไม่น้อยทีเดียว!!

ขณะที่ภาคเอกชนไทยก็ใช้โอกาสทองในครั้งนี้ ร่วมมือกับรัฐบาลจัดโครงการ “THAINESS STATION สินค้าไทย ร่วมใจเพื่อชุมชน” เพื่อต่อยอดและยกระดับสินค้าภูมิปัญญาท้องถิ่นไทย

ด้วยการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าไทย อาทิ ผลิตภัณฑ์จากผ้าขาวม้า เครื่องจักสานจากกระจูด และผ้าคราม ที่ศูนย์การค้าชั้นนำ โดยซื้อจากกลุ่มแม่บ้าน และชุมชนในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อมาจำหน่ายให้กับลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติ ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. นี้

เรียกได้ว่าเมื่อจะ “ตีเหล็กก็ต้องตีต้อนร้อน” ตามสำนวนไทย ในเมื่อจุดประเด็นมาแล้ว เมื่อมีโอกาสโดยเฉพาะในเดือน เม.ย. นี้ ที่รัฐบาลประกาศจัดงานสงกรานต์ถึง 21 วัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ

การเปิดตัวผ้าขาวม้า และสินค้าภูมิปัญหาของไทย อย่างต่อเนื่องก็จะช่วยจุดกระแส ไม่ให้ชาวโลกลืมเลือนไป!!

จะว่าไปแล้ว หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัด “แฟชั่นโชว์” ออกแบบผ้าขาวม้าไทยให้ทันสมัย ผนวกกับสินค้าภูมิปัญญาไทยอื่น ๆ เข้าไปด้วย ก็จะยิ่งช่วยสร้างกระแสให้ได้ไม่น้อยเช่นกัน

แม้ว่าที่ผ่านมา เรื่องราวของผ้าขาวม้า ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาจัดทำโครงการสารพัด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าไทย อย่างกรณีของ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ ของเจ้าสัวตระกูล “สิริวัฒนภักดี”

ไทยเบฟฯ ได้เข้าไปทำโครงการ “ผ้าขาวม้าท้องถิ่นหัตถศิลป์ไทย” ตั้งแต่ปี 2559 มาจนถึงปีนี้จะเข้าสู่ปีที่ 8 ซึ่งช่วยสร้างรายได้ช่วยพัฒนาทักษะให้กับชุมชนผู้ผลิต และนำไปสู่ความเข้มแข็งและความผาสุก

มาจนถึงทุกวันนี้ การออกแบบดีไซน์ผ้าขาวม้า การพัฒนาด้านลายผ้า รูปแบบ คุณภาพการตัดเย็บ หรือแม้แต่การทำการตลาด ก็ประสบความสำเร็จไม่น้อย และยังรวมไปถึงโครงการ “ทายาทผ้าขาวม้า” เพื่อให้อาชีพการทำผ้าขาวม้าไม่หายไปจากเมืองไทย

ไม่เพียงเท่านี้ ครม. ของรัฐบาลชุดที่แล้ว (วันที่ 28 ก.พ. 66) ยังเห็นชอบให้เสนอ “ผ้าขาวม้า” : ผ้าอเนกประสงค์ในวิถีชีวิตไทย ขึ้นทะเบียนเป็นรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) อีกต่างหาก

นอกจากนี้เมื่อกลางปีที่แล้ว “ผ้าขาวม้าไทย” ก็ถูกพูดถึงและเป็นที่สนใจอย่างมาก ในงาน World Dance Day 2023 ที่ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

ต้องยอมรับว่าผ้าขาวม้า ถือเป็นผ้าโบราณที่ใช้ประโยชน์มานาน คนไทยรู้จักผ้าขาวม้าตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกับยุคสมัยเชียงแสนโน่น ที่สำคัญ!! ยังกลายเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ที่กลายเป็นเอกลักษณ์แสดงความเป็นไทย

ขณะเดียวกัน ผ้าขาวม้า มักเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ส่วนใหญ่ทอจากผ้าฝ้าย เส้นไหม ด้ายดิบ ป่าน หรือวัสดุตามท้องถิ่นนิยมทอสลับสี เป็นลายตามหมากรุก หรือเป็นลายทาง โดยประโยชน์ของผ้าขาวม้า ก็มีมากมายตั้งแต่เกิดจนตายนั่นแหละ!!

ด้วยเหตุนี้!! การปลุกกระแส “ผ้าขาวม้า” ขึ้นมาในทุกทาง ถือว่าเป็นเรื่องดี เป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะทำให้บรรดาชาวบ้านชาวช่องมีรายได้เพิ่มขึ้น จนลืมตาอ้าปากได้

เพียงแค่หวังว่า…เมื่อปลุกปั้นขึ้นมาแล้ว ก็อย่าทอดทิ้งกลางทาง… ก็แค่นั้น!!.

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”

อ่านบทความทั้งหมดคลิกที่นี่