ภายใต้จุดขาย “เจนใหม่ บ้านใหญ่”  วันนี้  “คอลัมน์ตรวจการบ้าน” ได้รับเกียรติจาก กก.บห. นำทีมโดย “นก” ไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรค  “ธาม” ชลัฐ รัชกิจประการ สส.บัญชีรายชื่อ “พิม” น.ส.พิมพฤดา ตันจรารักษ์ สส.พระนครศรีอยุธยา รองเลขาธิการพรรค เป็นตัวแทน   มาเปิดใจเป็นที่แรก

โดย “ไชยชนก”  เปิดประเด็น ว่า เลขาฯ เป็นตำแหน่งโดยโครงสร้างขององค์กรก็จริง แต่ถ้าไม่ใช่คนภายในก็จะไม่รู้ ตั้งแต่วันแรกที่ผมก้าวเข้ามาการเมือง โดยได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนให้เป็นสส. พวกเราทำงานด้วยกันมาตลอดทุกคนที่อยู่ในทีมนี้และที่ไม่ได้อยู่ในห้องนี้ มาช่วยกันสนับสนุนทั้งสอนผมหลายๆเรื่อง หลายๆด้าน เราก็ค่อยๆพัฒนาตัวเองมาเรื่อยๆ ในทุกๆ ด้าน เพราะฉะนั้นพอถึงจุดที่เราได้มาเป็นกรรมการบริหารพรรค ก็ต้องบอกว่า มันไม่ใช่ภายใต้การบริหารของผม แต่เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม ซึ่งเราจะมีความเป็นทีมเวิร์คมากขึ้น มีการทำงานเป็นระบบมากขึ้น ช่วยเหลือกันมากขึ้น จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของผมและหลายคนที่ทำงานในภาคเอกชนมาก่อน จะเห็นว่าโครงสร้างภายในสำคัญมากสำหรับทุกองค์กร ยิ่งเป็นองค์กรใหญ่ยิ่งสำคัญ และจากการเป็นพรรคที่อนาคตอาจจะใหญ่กว่านี้

“ระบบเป็นเรื่องสำคัญเพราะถ้าไม่มีระบบก็เป็นเรื่องยากมากที่เราจะบริหาร จะประสานงาน และดึงศักยภาพของสส.ทุกคนออกมาใช้ได้จนถึงขีดจำกัด ซึ่งกระแสการเลือกตั้งที่ผ่านมา ถ้า”ไม่มีของจริง” ไม่มีทางเข้ามาเป็นสส.ได้ อันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ของมีทุกคน แต่เราจะดึงออกมาใช้ได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะสามารถเข้าใจ เข้าถึงและตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้มากขึ้น และสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มากขึ้น”

การเป็นทีม คนรุ่นใหม่ Gen ใหม่ บ้านใหญ่ 10 ตระกูลดัง ถือเป็น “จุดแข็ง”ของดรีมทีมชุดนี้ หรือไม่

คำว่า “บ้านใหญ่” ไม่จำเป็นต้องอธิบาย เพราะคิดว่าทุกคนเข้าใจดี แต่ถามว่าจะส่งผลกระทบอะไรมีจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร ผมมองว่า เหรียญมี 2 ด้าน ถ้าเรามีทรัพยากร มีประสบการณ์ มีการสนับสนุนของผู้ใหญ่ เข้ากับทุกๆ คนได้ มีการยอมรับ ถือเป็นประสบการณ์ชีวิตที่แตกต่างจากคนอื่นแล้ว รวมไปถึงว่า การที่เรามีโอกาสเข้าถึงประชาชนในพท้นที่ เพราะการเป็น “บ้านใหญ่” อย่างที่เราพูดถึงนั้น พื้นที่จะต้องค่อนข้างแน่น เข้าถึงและสัมผัสประชาชนมาตั้งแต่เด็ก ได้ซึมซับมาตลอด ซึ่งประสบการณ์ตรงนี้จะบอกว่าหากนำมาใช้ในทางที่ถูกก็จะเป็นประโยชน์ เสริมศักยภาพตัวตนของเราในการที่จะเป็นนักการเมือง สร้างการเปลี่ยนแปลงของประเทศ แต่ต้องใช้เวลาและผลงานของพวกเราก็ต้องทำออกมาให้พี่น้องประชาชนได้เป็นคนตัดสิน 

คุณพ่อ (เนวิน ) ได้มีการบอกหรือสอนอะไรหรือไม่

“คุณพ่อเป็นฟิวแบบนักเลงๆ ไม่ได้มานั่งคุยกับเราตรงๆ แต่คุณพ่อเปรียบเสมือนหนังสือที่เปิดตลอดเวลา ใครก็ตามที่อยู่รอบตัวคุณพ่อต้องคอยสังเกต จะสามารถได้บทเรียนอยู่ตลอดเวลา คุณพ่อจะสอนโดยการกระทำ โดยการปฏิบัติ ในทุกอย่างที่เขาทำ วิธีการคิด สิ่งที่เขาตัดสินใจ ถ้าคุณใส่ใจพอ ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็จะได้บทเรียนคำสอน ผมก็โชคดีมากๆ ที่มีเวลาเยอะกว่าคนอื่นที่ได้รับตรงนี้”

 @ การทำงานระหว่าง “คนรุ่นใหม่” กับ “คนรุ่นเก่า” ในพรรคนั้นจะมีการผสมผสานอย่างไร

“ชลัฐ รัชกิจประการ” บอกว่า…การทำงานของ “คนรุ่นใหม่” และ “คนรุ่นเก่า” ค่อนข้างจะต่างกัน โดยคนรุ่นใหม่จะเน้นระเบียบเน้นการวางแผน แต่คนรุ่นเก่าจะเน้นขยัน และคว้าโอกาส ซึ่งเราสามารถรวมประสบการณ์และความขยันของเขามารวมกับแผนของคนรุ่นใหม่ให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น กับคุณพ่อ (พิพัฒน์) ที่เป็นรมว.ท่องเที่ยวฯในขณะนั้น  คุณพ่อไม่เคยทิ้งพื้นที่ จะทำงาน 7 วัน ไป 3 ปีเต็มๆ ในความขยันก็มีประสิทธิผลด้วย  ในช่วงของโรคโควิด -19 ระบาด สิ่งที่ผมช่วยทำจริงๆ คือ Sport tourism จะดึงรายได้เข้าประเทศอย่างไรในช่วงที่ปิดประเทศ ซึ่งถือว่าได้เป็นฟันเฟืองช่วยงานคุณพ่อ

“ไชยชนก” กล่าวเสริมว่า  ที่ถามเราว่าระหว่าง “เจนเก่า” กับ “เจนใหม่” สเต็ปแรกภูมิใจไทย ไม่เคยมีปัญหาในเรื่องการประสานงาน ระหว่าง 2 เจน เรื่องการตัดสินใจที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ปัจจุบันและในอนาคต ล้วนแต่เป็นการตัดสินใจที่มีการปรึกษาหารือ และคิดร่วมกัน สุดท้ายผู้ใหญ่ได้ไว้วางใจให้เราเข้ามาทำงาน ดังนั้นความหมายของคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่ สำหรับเราไม่ใช่เรื่องของอายุ แต่เป็นเรื่องของการทำงาน ที่สามารถปรับเปลี่ยนร่วมกันได้

ด้าน“พิมพฤดา ตันจรารักษ์”บ้านใหญ่ จ.พระนครศรีอยุธยา  บอกว่า วันนี้ได้เข้ามาทำหน้าที่สส. พบว่า ตอนเป็น สจ.อำนาจบางอย่างนั้น อบจ.ไม่สามารถจะจัดการได้ อย่างในพื้นที่มีปัญหาขยะอุตสาหกรรม มีการลักลอบทิ้งสารเคมีในโกดังร้าง ถ้าเป็น สจ.หรือ ทาง อบจ.เราไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ ๆ จะกำจัดหรือจัดการได้ แต่พอได้มาเป็นสส.ก็สามารถนำเรื่องนี้เข้าสู่สภา ทั้งตั้งกระทู้สด ถามทางรัฐมนตรีได้ หรือผ่านคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ได้  ก็จะสามารถทำงานเพื่อประชาชนได้มากขึ้น รวมถึงการแก้กฎหมายต่างๆ ด้วย

 “ไชยชนก” ได้กล่าวทิ้งท้ายถึง กก.บห.ชุดใหม่ ว่า หลายคนอาจจะคิดและเข้าใจว่าเป็นการ “รีแบรนดิ้ง” แบบฟูลรีแบรนดิ้ง ของพรรคภูมิใจไทย แต่จริงๆมันเริ่มแล้ว แต่จะเหมือนเป็นการดำเนินการภายในของการเริ่ม “รีแบรนดิ้ง”มากกว่า ยังไม่ใช่เป็นการเปิดให้เห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลง เราเพิ่งถูกแต่งตั้งมาได้ไม่กี่วัน ผ่านไปอีกอีก 2 เดือน ถามว่าจะให้เร่งทำมันเป็นไปได้หรือไม่ มันเป็นไปได้ แต่อะไรที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและมั่นคง มันไม่ควรเร่งทำกันจนเกินไป

@มีคำถามในโซเชียลว่าพยายามเปลี่ยน “คนรุ่นใหม่” ให้เหมือนพรรคก้าวไกล

ไชยชนก” บอกว่า ตรงนี้ต้องบอกว่า ทั้ง “ใช่” และ “ไม่ใช่”  ในความหมายของผมคือ ในความหมายที่ “ใช่” เหตุผลที่เปลี่ยนแปลงไวแล้วเราได้รับโอกาสไว เป็นเพราะผู้ใหญ่กลัว จะใช้คำว่ากลัวดีไหม ใช้คำว่า “ไม่เข้าใจ”ดีกว่า ไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของเวลา และวิธีการคิดของเจนใหม่ และเมื่อเกิดปัญหานี้ขึ้นมาเขาก็ตัดสินใจว่าเป็นเวลาประจวบเหมาะและคิดว่าอยากจะให้เราลองเอาสิ่งที่รุ่นเก่ามีเป็นประสบการณ์ มาผสมผสานกับวิธีคิดของพวกเรา ก็เลยทำให้เกิดเป็นว่า มันใช่ในมุมหนึ่ง

แต่เหตุผลที่ผมบอกว่า “ไม่ใช่” ก็คือว่าเป้าหมายของพวกผมคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ไม่ได้ตั้งมาเพื่อสู้กับพรรคก้าวไกล เราได้โอกาสนี้มานั้น “ใช่” เพื่อมาสู้กับก้าวไกล แต่เป้าหมายของพวกเรา คือ การพัฒนาตัวเองมากกว่า เพราะผมคิดว่าเราควรที่จะทำตัวเองให้ดีที่สุด ให้มีศักยภาพมีประสิทธิภาพมากที่สุด แล้วผลพลอยได้จะเป็นเรื่องการเติบโตของพรรค แล้วก็การช่วยเหลือประชาชนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และกลายเป็นการสู้กับก้าวไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจากประสบการณ์ในการเป็นลูกบ้านใหญ่ ทุกคนไม่ได้มีแค่เรื่องของความรู้ ทุกคนเคยผ่านงานมาแล้วและพร้อมที่จะเหนื่อย และเป็นน้ำที่ไม่เต็มแก้ว เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ ถ้าจะพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่