นกกกหรือนกกาฮัง เป็นนกที่มีลำตัวขนาดใหญ่ที่สุดในกลุ่มนกเงือก 13 ชนิดที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย มีลำตัวยาวจากหางถึงปาก อาจจะถึง 150 ซม. น้ำหนักหลายกิโลกรัม เป็นนกที่มีอายุยืนได้ถึง 30-40 ปี และเป็นนกประจำถิ่นสามารถหาดูได้ไม่ยาก เป็นนกเงือก
ชนิดเดียวที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ชอบกินผลไม้เป็นอาหาร โดยเฉพาะลูกไทร ลูกตาเสือและอื่น ๆ และยังกินสัตว์ขนาดเล็กเป็นอาหาร ช่วงจังหวะบินจะมีเสียงดังได้ยินมาแต่ไกลและจะเกาะกิ่งไม้ใหญ่ ก่อนที่จะกระโดดออกไปกินลูกไม้

นกกาฮังชอบรวมตัวอยู่กันเป็นฝูงประมาณ 4-10 ตัว จะหากินร่วมกันไปจนกว่าจะถึงฤดูผสมพันธุ์ หรือประมาณเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี ก็จะแยกจับคู่ สร้างโพรงรังวางไข่ออกลูกตามโพรงต้นไม้ขนาดใหญ่ ช่วงขณะที่วางไข่นกกาฮังตัวเมียจะเข้าไปอยู่ในโพรงรังที่เตรียมไว้ นกกาฮังตัวผู้จะนำดินหรือยางไม้ปิดปากโพรง เหลือไว้แค่รูพอที่จะยื่นปาก ป้อนน้ำป้อนอาหารให้ได้เท่านั้น นกตัวผู้จะทำหน้าที่เลี้ยงตัวเมียและลูกที่อยู่ในโพรงไปจนกว่าลูกจะเติบโตบินได้ อาจจะใช้เวลายาวนานถึง 3 เดือน แต่ในขณะเดียวกันถ้านกตัวผู้ถูกทำร้ายตายไป ตัวเมียและลูกนกที่อยู่ในโพรง ก็จะขาดน้ำอดอาหารและตายตามไปในที่สุด

นกกกหรือนกกาฮังตัวผู้และตัวเมียรูปร่างหน้าตาและขนาดเท่า ๆ กัน มีปีกสีดำคาดเหลือง ปลายปีกสีขาว หางสีขาวคาดดำ ตัวผู้มีโหนกอยู่บนปากมีสีดำ ตัวผู้มีตาเป็นสีแดง ตัวเมียมีตาสีขาว

นกกาฮังเป็นนกประจำถิ่นอาศัยอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศไทย แต่มีที่ผู้นิยมส่องนกและถ่ายภาพนกพบได้บ่อย พบได้ทั้งปีก็มีที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ฮาลา บาลา อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส.

บุญเลิศ ชายเกตุ