ทว่าสำหรับคนเล่นว่าว ไม่ว่าจะเป็นแบบสวยงาม แบบความคิดสร้างสรรค์ หรือแบบว่าวขึ้นสูง โดยเฉพาะอย่างหลังพวกเขาไม่ได้สนใจฝุ่นลูกรังแดงเหล่านั้นเลยสักนิด เพราะการที่มีลมแรงต่อเนื่องนั้นหมายความถึงการที่ว่าวของพวกเขาจะสามารถลอยตัวขึ้นสูงจนไปติดลมบนเล่นลมโชว์ความสวยงามอยู่อย่างนั้นได้เป็นเวลานาน ๆ

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นใน “มหกรรมการแข่งขันว่าวนานาชาติ จังหวัดยะลา ครั้งที่ 1” (Yala Colorful to Kite) กิจกรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรม “ว่าวบูรงนิบง” สู่เทศกาลวัฒนธรรมจังหวัดยะลา ของคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา โดยได้รับสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

ผศ.นินุสรา มินทราศักดิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาการปกครองและกฎหมายมหาชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา สมาชิกทีมวิจัย เล่าว่า ว่าวบูรงนิบง คือโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการวิจัยเรื่องนกของยะลาที่ทำไปปีก่อน เหตุผลที่เลือกว่าวมาเป็นโจทย์ในครั้งนี้เพราะเห็นว่า ว่าว “บูรงนิบง” หรือ “ว่าวเบอร์อามัส” ที่คนเรียกกันว่า “ว่าวเทวดา” นั้น เพราะเป็นหนึ่งในภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมของคนในแถบมลายูทั้งยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ทั้งคำว่า “บุรง” ที่แปลว่า “นก” ยังเชื่อมโยงกับงานวิจัยที่ทำไปก่อนหน้าได้เป็นอย่างดีด้วย ส่วน “นิบง” เป็นคำเรียกแทน “ยะลา” จึงกลายมาเป็นชื่อ “ว่าวบูรงนิบง” เพื่อให้เป็นว่าวที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของเมืองยะลา นำไปสู่การต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตามมาเพื่อสร้างรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของคนในพื้นที่

“โครงการวิจัยปีแรกทางมหาวิทยาลัยฯ ได้หยิบเอาเรื่อง “นก” ที่เป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดยะลา ทั้งในบริบทที่สร้างเศรษฐกิจและเป็นสัญลักษณ์ประจำถิ่นเมืองยะลา อย่างนกเงือกในป่าฮาลาบาลา หรือนกเขาชวา ที่มีการแข่งขันเป็นงานเทศกาลประจำจังหวัด และล่าสุดมีการสนับสนุนนกกรงหัวจุกให้เป็นนกที่สร้างเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้คนยะลาอีกชนิด โดยมีประเพณีแห่นกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีเป็นอีกส่วนที่เชื่อมโยง”

“ว่าวบูรงนิบง” หรือ “ว่าวเบอร์อามัส” เป็นที่รู้จักในนาม “ว่าวทองแห่งมลายู” ถือเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาอย่างยาวนาน บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของคนเชื้อสายมลายูสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในอดีตว่าวชนิดนี้จะมีเพียงกษัตริย์เท่านั้นจึงจะเล่นได้ อีกทั้งรูปลักษณ์ของว่าวที่ดูคล้ายกับเทวดาแต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศ จึงทำให้มีชื่อเรียกว่า “ว่าวเทวดา” ด้วยอีกชื่อ โดยมาจากคติความเชื่อของฮินดู-พราหมณ์ นอกจากนี้ในอดีตว่าวเบอร์อามัสจะใช้เพื่อพยากรณ์ ดิน ฟ้า อากาศสำหรับการทำเกษตรกรรม โดยก่อนจะทำการขึ้นว่าว เจ้าเมืองมลายูทั้ง 7 หัวเมือง จะต้องทำพิธีปิดทองที่หัวว่าว เมื่อเจ้าเมืองขึ้นว่าวเบอร์อามัสแล้ว ราษฎรจึงจะสามารถเล่นว่าวได้ ซึ่งเป็นกิจกรรมการละเล่นหลังจากฤดูการเก็บเกี่ยว

“จากที่ทีมคณะวิจัยได้สืบค้นเสาะหาปราชญ์ชาวบ้าน ในพื้นที่ยะลาเราพบปราชญ์ที่ยังทำว่าวเบอร์อามัสมีอยู่ 3 คน และยังไม่มีกลุ่มหรือชมรมของคนเล่นว่าวในพื้นที่ด้วย แต่การจัดงานครั้งนี้ปรากฏว่ามีทีมที่เข้ามาแข่งว่าวเฉพาะประเภทว่าวขึ้นสูงถึง 36 ทีม จากทั้งจังหวัดใกล้เคียงและเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย”

ขณะที่ ผศ.ดร.เกสรี ลัดเลีย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ระบุวัตถุประสงค์สำคัญในการจัดงานก็เพื่อฟื้นฟูการเล่นว่าวบูรงนิบง ที่เป็นฐานทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ ควบคู่ไปกับการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรม “ว่าวบูรงนิบง” ในมหกรรมว่าวนานาชาติครั้งปฐมฤกษ์นี้ มีว่าวหลากหลายประเภทจาก 6 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ได้แก่ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา สตูล ตรัง และจากประเทศมาเลเซีย เข้าร่วมแสดงรวมกว่า 1,280 ตัว

ผศ.นูรีดา จะปะกียา หัวหน้าโครงการวิจัยการยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรมว่าวบูรงนิบง สู่เทศกาลวัฒนธรรมจังหวัดยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ชี้แจงเพิ่มเติมว่า โครงการวิจัยนี้เป็นการสืบสาน ฟื้นฟู รักษา และต่อยอด ขยายผลองค์ความรู้ที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจของลูกหลานคนมลายูสามจังหวัดชายแดนใต้ในการทำว่าว นำเรื่องเล่าที่สูญหายในพื้นที่ ตลอดจนกรรมวิธีการทำว่าว ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ นำไปพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มาจากรากทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และส่งต่อสู่ลูกหลานเป็นการสืบสานศิลปะภูมิปัญญาท้องถิ่นใต้ โดยนำลวดลายที่เป็นอัตลักษณ์ของว่าวบูรงนิบง มาพัฒนาสร้างต้นแบบผลิตภัณฑ์ เสื้อ กระเป๋า และอยู่ระหว่างดำเนินการขอจดสิทธิบัตร ขณะเดียวกันก็ผลักดันเทศกาลว่าวนานาชาติ ให้ยกระดับเทศกาลวัฒนธรรมประจำของจังหวัดยะลา เพื่อความยั่งยืน

“โครงการวิจัยนี้จะก่อเกิดผลลัพธ์หลายมิติ ทั้งการสร้างกลไกประชาคมเครือข่ายว่าวบูรงนิบง การเสริมพลังทุนทางวัฒนธรรม และสืบสานคุณค่าทุนทางวัฒนธรรม และเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างความมั่นคงแก่เศรษฐกิจชุมชน เศรษฐกิจฐานรากในระดับพื้นที่”

ด้าน ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ บพท. กล่าวว่า โครงการวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เป็นการ “ฟื้นคุณค่า สร้างมูลค่า สร้างความยั่งยืน” ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์บนฐานทุนพหุวัฒนธรรมในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม” (Cultural Capital) ฟื้นคุณค่าของทุนที่เป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น จะเป็นการกระตุ้นให้เจ้าของทุนทางวัฒนธรรมเกิดความภาคภูมิใจและสำนึกถึงท้องถิ่น การหนุนเสริมให้เกิดระบบการจัดการผ่านการสร้างพื้นที่ตลาดวัฒนธรรมและย่านวัฒนธรรม สามารถนำไปสู่การสร้างมูลค่าใหม่ เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้

“เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่โดยใช้วัฒนธรรมเป็นตัวจักรขับเคลื่อนที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจฐานวัฒนธรรม” (Cultural Economy) ซึ่งจะทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนนำไปบำรุงรักษาทุนเดิม ส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดทุนทางวัฒนธรรมไปยังคนรุ่นหลังต่อไป ใช้องค์ความรู้ในพื้นที่ (Area Based Knowledge) มาพัฒนาพื้นที่งานมหกรรมว่าวนานาชาติครั้งปฐมฤกษ์ของจังหวัดยะลา”

สำหรับการแข่งขันว่าวขึ้นสูงนั้น มีทีมเข้าร่วมแข่งขัน 36 ทีม จากทั้งจังหวัดใกล้เคียงและเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย โดยส่งว่าวเข้าร่วมแข่งถึง 1,400 ตัว ซึ่งการแข่งขันยังคงใช้วิธีการดั้งเดิม ทั้งการจับเวลาแข่งขันด้วยกะลามะพร้าวเจาะรูที่คำนวณมาแล้วว่านํ้าจะเข้าจนจมในเวลา 3 นาที และโครงเหล็กโค้งที่มาแทนที่ไม้ไผ่แต่ยังคงใช้กิ่งไม้ขัดวางไล่เรียงจากองศาน้อยไปมากดังเดิม

มาถึงยะลาแล้วนอกจากอาหารถิ่นแดนใต้หลากหลายเมนูที่ห้ามพลาด ตอนเช้าหากพักโรงแรมที่ไม่รวมอาหารเช้าที่นี่คือคำตอบ “THE CHAPATI” ร้านโรตีสไตล์ปากีสถานและอินเดียที่มีทั้งแป้งโรตีที่ทำจากแป้งโฮลวีตแผ่นบางแต่นุ่มหอม และโรตีนาน เนื้อหนานุ่มเหนียวกำลังดี ทั้งสองอย่างใช้วิธีนาบบนเตาแบบไร้นํ้ามันจนสุกหอม ทานกับแกงเนื้อ แกงไก่ แกงสมองวัว แกงถั่วดาน แกงถั่วลูกไก่ หรือใครไม่ถนัดมีไส้กรอกไก่กับไข่ดาวให้จับคู่แทน หรือหากอยากได้มื้อเช้าหนักกว่านั้นก็มีข้าวหมกไก่-เนื้อ-แพะ แต่ต้องมาเช้าตรู่หน่อยไม่งั้นอาจพลาดได้แค่ดูเมนูต่างหน้า แล้วอย่าลืมสั่ง “ชาปากี” ชาแท้กลิ่นหอมผสมกับนมสด สูตรต้นตำรับต้องทานแบบร้อนเท่านั้น.

อธิชา ชื่นใจ