ความสำเร็จที่เราเห็นกันที่นี่ เป็นหนึ่งในหลายโครงการที่ทำตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระ บรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร“ …นี่เป็นส่วนสำคัญยิ่งส่วนหนึ่งจากคำกล่าวของ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโอกาสที่เป็นประธานในกิจกรรม “ปลูกต้นไม้” เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว ณ ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี โดยทาง ดร.สุเมธได้กล่าวถึง…
หลักสำคัญของความสำเร็จงานพัฒนา
พัฒนาแหล่งน้ำและคุณภาพชีวิตชุมชน
รวมถึงยังได้ให้ “แง่มุมดี ๆ แง่คิดดี ๆ“
กิจกรรม “ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว“ ซึ่งจัดที่ “ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง“ จัดเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดย บริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) เอกชนที่ร่วมเป็นผู้สนับสนุนหลักในการพัฒนาชุมชนแห่งนี้ผ่านทาง มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ มาตั้งแต่ปี 2560 และในปี 2567 นี้ที่เป็นปีที่ 7 เป็นการต่อยอดความยั่งยืนสู่พื้นที่ชุมชน โดยทางคณะผู้บริหารและพนักงานบริษัทฯ กว่า 100 ชีวิต นำโดย สมพล ชัยสิริโรจน์ ได้ลงพื้นที่ปลูกต้นไม้ต่าง ๆ โดย ปลูกหญ้าแฝก บริเวณรอบสระน้ำของชุมชนจำนวน 25,000 กล้า และปลูกต้นไม้โดย “ปลูกไม้ 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง“ ได้แก่… ไม้ใช้งาน หรือไม้สร้างบ้าน หรือไม้เศรษฐกิจ, ไม้กิน หรือไม้ผล และไม้ฟืน ซึ่งประโยชน์อย่างที่ 4 นั่นก็คือ…การรักษาและอนุรักษ์ดิน
ชนิดพันธุ์ไม้ที่มีการปลูก คือ… โพธิ์, ตะแบก, ประดู่, พะยูง, ยางนา, สักทอง, ไม้แดง, มะม่วง พร้อมติดตั้งระบบกระจายน้ำที่ใช้ดูแลต้นไม้ทุกต้นได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาพื้นที่รอบสระ ระยะทาง 700 เมตร ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่นำไปใช้ทำการเกษตรของสมาชิกชุมชน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว รักษาหน้าดิน ป้องกันการพังทลายของตลิ่ง ช่วยให้พื้นที่สระโดยรอบร่มรื่น
นี่ก็ถือเป็นการ “พัฒนาแหล่งน้ำ“ เช่นกัน
ทั้งนี้ ในโอกาสเป็นประธานในกิจกรรมปลูกต้นไม้ที่ชุมชนแห่งนี้ ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาแหล่งน้ำและคุณภาพชีวิตคน ดร.สุเมธ กล่าวถึง “หลักสำคัญของความสำเร็จงานพัฒนาแหล่งน้ำและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน“ ไว้ว่า… ชุมชนเพชรน้ำหนึ่งเป็นหนึ่งในหลายโครงการที่ทำตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทั้งนี้ พระองค์ทรงใช้เวลาตลอด 70 ปีทำให้การผลิตของไทยยืนอยู่ได้ทั้งน้ำ ดิน ป่า
พร้อมกันนี้ ดร.สุเมธ ได้กล่าวสรุปเป็นแนวทางความเข้าใจว่าความสำเร็จจะเกิดได้นั้น ขึ้นอยู่กับ 5 ปัจจัยคือ… ปัจจัยที่ 1 ชุมชนร่วมมือร่วมใจ เจ้าของพื้นที่ เจ้าของชะตาชีวิต นั่นก็คือชาวชุมชนทั้งหลาย ถ้าจะหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก ใจคุณ มือคุณ ต้องตัดสินใจ ต้องลงมือก่อน เราเชื่อใน 2 มือและสมอง, ปัจจัยที่ 2 มีผู้นำ มีหัวหน้าที่ดี ผู้นำทางธรรมชาติมันจะเกิดขึ้นเอง อย่างคุณ ซอ ดำรัสสิริ ทิ้งชีวิตในกรุงเทพฯ เพื่อมาอยู่ที่นี่ มาทำตรงนี้ มีความสุขตรงนี้
ปัจจัยที่ 3 มีพี่เลี้ยงที่ดี มีผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ มีข้อมูลวิชาการ มี GPS มีภาพถ่ายทางดาวเทียมให้นำมาใช้ ไม่ใช่นึกอยากจะขุดสระน้ำก็ขุด พอขุดเสร็จแล้วบอกไม่มีน้ำ เพราะไปขุดในที่ที่น้ำไม่ลง, ปัจจัยที่ 4 มีทุนจากผู้สนับสนุนจากองค์กรที่ต้องการคืนกำไรสู่สังคม เพราะถ้าเอากำไรไปหมดแล้ว แต่สังคมไม่อยู่ ลูกค้าคุณก็จะอยู่ไม่ได้
“คุณสมพลกับผมเจอกันครั้งแรกคือมาเชิญผมไปงานนกเงือก หลังจากนั้นก็ชวนไปเป็นประธานปล่อยช้าง ผมไปเป็นประธานปล่อยช้างเป็น 100 ตัว ตอนนี้ก็ได้ลูกกลับมา 40 ตัว และตอนนี้ผมกับคุณสมพลก็มาทำป่าด้วยกัน” …ดร.สุเมธ เล่าไว้
และ ปัจจัยที่ 5 มีภาคี รู้–รัก–สามัคคี และต้อง มีความเข้าใจ เข้าถึง พัฒนา เข้าใจปัญหา เรียนรู้และแก้ปัญหา เข้าถึงการปฏิบัติ นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งผลสุดท้ายชีวิตเราก็จะรอด …ทางประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ ระบุไว้
นอกจากที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้สะท้อนมาข้างต้นแล้ว ในโอกาสเป็นประธานกิจกรรมปลูกต้นไม้ที่ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง ต.กลัดหลวง อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรีทาง ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ยังได้กล่าวให้แง่คิดไว้ว่า… คนยุคนี้ถูกล่อด้วยเงินซึ่งเป็นของปลอม เพราะคนกินเงินเข้าไปไม่ได้เลยต้องเอาไปแลกสิ่งต่าง ๆ มา ดั่งคำที่ว่า “เงินตราเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง“
ทั้งนี้ กล่าวสำหรับกิจกรรม “ปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว” ซึ่งจัดที่ “ชุมชนเพชรน้ำหนึ่ง” เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยทาง ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนลร่วมกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ และเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนนั้น ทาง ดร.สุเมธ ระบุว่า… เป็นการ อนุรักษ์ไม้ถิ่น ซึ่งแต่ละแห่ง แต่ละสถานที่ ก็มีข้อดีของตัวเอง โดย การปลูกต้นไม้ก็จะต้องคำนึงถึงทั้งสังคม ภูมิประเทศ ธรรมชาติ
ประธานกรรมการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังได้ทิ้งท้ายโดยให้ “แง่มุมดี ๆ แง่คิดดี ๆ” ไว้เพิ่มเติมด้วยว่า…“ทุกวันนี้เราทุกคนกำลังทำลายโลกอยู่ เพราะการหายใจเอาออกซินเจนเข้าไป และคายคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา มันก็คือการทำลายโลกแล้ว สิ่งที่จะมาช่วยตรงนี้ได้คือต้นไม้ เพราะจะช่วยฟอกคาร์บอนไดออกไซด์ได้ ถ้าไม่มีต้นไม้ ออกซิเจนเราจะน้อยลง เราจะต้องสูดคาร์บอนได ออกไซด์เข้าไป ให้สงสารลูกหลานที่ต้องมารับมรดกแผ่นดินนี้ต่อ ไม่ต้องคิดใหญ่ว่าจะต้องทำเพื่อประเทศชาติ ให้คิดแค่ว่าเราจะทำเพื่อตัวเอง…
เพื่อส่งต่อให้ลูกหลานของเราต่อไป
และเขารักษาเพื่อส่งต่อไปไม่รู้จบ…
ซึ่งนี่แหละคือ…ความยั่งยืน“.