โดย “สมชัย” เปิดประเด็นว่า การที่กกต.ออกแบบให้มีการเลือกสว.แบ่งออกเป็น 20 กลุ่มนั้นก็เพื่อต้องการให้ได้สว.ที่มีความรู้ความสามารถมาจากหลากหลายอาชีพ แต่ภายใต้กติกาที่ออกแบบมาเห็นว่า มีปัญหาเบื้องต้นอยู่ 2 ข้อ คือ 1. การที่ให้ผู้สมัครเลือกได้เองว่าจะลงสมัครกลุ่มไหน โดยให้มีผู้รับรองเพียงแค่คนเดียว แทนที่จะออกแบบให้ อาจจะทำให้ไม่ได้คนตรงตามอาชีพจริงๆ เพราะคนจะไปสมัครในกลุ่มอาชีพที่เห็นว่า มีการแข่งขันน้อย แทนที่จะออกแบบให้อย่างน้อย ส่วนราชการ หรือบริษัทเอกชน หรือนิติบุคคล หรือบุคคลที่มีตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นคนรับรอง ซึ่งจะทำให้เกิดความถูกต้องมากขึ้น

2. ในแง่ของการเลือกกันเอง โดยให้ผู้สมัครแนะนำตัวในหมู่ผู้สมัครด้วยกันเองเท่านั้น ผ่านการกรอกแบบฟอร์มแนะนำตัวที่เรียกว่า สว.3 ให้ใส่ประวัติความรู้ความสามารถ ประสบการณ์แค่ 5 บรรทัด หรือให้เขียน 2 หน้ากระดาษ A4 เผยแพร่ผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์  ถือเป็นการจำกัดเกินไป ซึ่งจะไม่รู้เลยว่า ผู้สมัคร คือ ใคร อยู่ที่ไหน และจะติดต่อเขาได้อย่างไร ทำให้ผู้สมัครรับคัดเลือก แทบไม่มีโอกาสรู้ เข้าใจต่อคนที่เขาจะเลือกต่อเท่าที่ควร อาจจะแพ้ฝ่ายที่มีการจัดตั้งกันมา ซึ่งเขาจะมีโอกาสรู้จักกันเองได้อยู่แล้ว อาจจะทำให้การเลือกไม่มีคุณภาพ และไม่ได้ สว.ตามที่ต้องการ

ทั้งนี้ การจัดตั้งถือว่า ผิดกติกา เพราะอาจจะมีการออกค่าใช้จ่ายเพื่อมาสมัคร ถือเป็นการให้ผลประโยชน์เพื่อจูงใจให้เกิดการสมัคร ซึ่งตอนนี้ไม่ใช่เห็นแค่สัญญาณของการจัดตั้งเท่านั้น แต่เราเห็นเรื่องราวที่เกิดขึ้น เรียกว่าชัดเจน ทุกจังหวัดเลยก็ว่าได้ ซึ่งฝ่ายที่มีอิทธิพล มีบารมีในแต่ละจังหวัดเตรียมการส่งคนของตัวเองมาเป็นผู้สมัคร เพื่อให้ผ่านในรอบแรกๆ คือ รอบของการคัดเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มอาชีพ ที่ได้ยินมาเยอะ คือ การจ้างคนมาสมัคร โดยออกค่าสมัคร มีค่าเสียเวลา ค่าเดินทาง มาทำหน้าที่เป็นผู้เลือกคนที่เขาต้องการอีกด้วย ซึ่งอัตราที่ได้ยิน คือ ค่าสมัคร 2,500 บาท ไม่ต้องออก ค่าเสียโอกาสค่าเสียเวลา ในการสมัครและมาดำเนินการเลือกกันเอง อีกเท่าตัว และยังได้ข่าวว่ามีบางจังหวัดที่ให้ตัวเลขสุงถึงหลักหมื่นบาท ดังนั้นมีโอกาสที่จะได้คนผ่านรอบแรกมาจากการจัดตั้งสูง

@ แปลว่าการเลือกสว.ครั้งนี้เป็นเพียงพิธีกรรม สุดท้ายแล้วก็จะได้สว.ที่ไม่แตกต่างจากการจัดตั้งหรือไม่

ขณะนี้ภายใต้กติกาที่ออกแบบมา ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่สมัครรับเลือกโดยอิสระ หรือฝ่ายที่มีการจัดตั้ง มีการเตรียมแผนการต่างๆ กันมาอย่างเป็นระบบ  แต่ทุกฝ่ายไม่สามารถคาดการณ์ ถึงผลที่จะเกิดขึ้นได้เลย เพราะมีการเลือกถึง 6 ขั้น 3 ระดับ ทั้งเลือกตรงและเลือกไขว้ ดังนั้นใครจะทำอะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่มีสิทธิ์ ที่จะหวังผลในขั้นสุดท้ายได้ 100% ว่าหน้าตาสว.สุดท้ายแล้วจะเป็นอย่างไร จะเป็นคนมีความรู้ความสามารถจริงหรือไม่ เป็นคนที่มีประสบการณ์ตรงกับกลุ่มอาชีพหรือไม่ หรือมาจากฝ่ายที่มีการจัดตั้งก็ต้องรอดูผลที่เกิดขึ้น  

@ กติกาเลือก 3 ระดับ 6 ขั้น ทั้งเลือกทางตรงและเลือกไขว้จะป้องกันการฮั้วได้หรือไม่

ได้ระดับหนึ่ง ในขั้นของการเลือกไขว้เราจะไม่รู้ว่ากลุ่มอาชีพใด จะเป็นฝ่ายที่จะมาเลือกเรา อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีการวางแผน วางกระบวนการที่คิดมาอย่างแยบยล และพร้อมที่จะใช้จ่ายเงินโดยไม่จำกัด เขาก็อาจจะมีสิทธิ์ทะลุมาได้ในรอบลึกๆ พอสมควร แต่จนถึงวันนี้เรายังไม่รู้ว่า แต่ละฝ่ายจะเตรียมการ เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากน้อยแค่ไหน แต่ทุกฝ่ายจะไม่มีใครสามารถคาดการณ์อะไรได้เลย แม้กระทั่งคน ซึ่งเตรียมการจัดตั้งเข้ามา ก็ไม่สามารถประเมินตัวเองได้ว่า จะสามารถทะลุเข้ามาได้ถึงรอบไหน สามารถหลุดได้ทุกรอบ

@ ชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของกติกาเลือกสว.ครั้งนี้เป็นอย่างไร

คิดว่าครั้งนี้เป็นอีกครั้งหนึ่งของการทดลองวิธีการได้มาซึ่งสว. เพราะเหมือนกับว่าประเทศไทยยังไม่สามารถหารูปแบบ วิธีการได้มาของสว. ที่เหมาะสมได้ ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนตลอด จากสมัยแรกๆ ที่แต่งตั้ง 100% ก็มาเป็นการเลือก 100% และเปลี่ยนมาเป็นเลือกตั้งผสมกับสรรหา จนถึงตอนนี้เป็นการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ

“เหมือนกับว่าเรายังไม่สามารถหารูปแบบที่นิ่งตายตัว และเกิดประโยชน์สูงสุดได้ คิดว่าหลัง ได้สว.มาแล้วถึงจะรู้ว่ากลไกนี้ใช้ได้ผลหรือไม่ แต่ก็เชื่อว่าไม่ได้ใช้ต่อไปในอนาคต ก็ต้องหารูปแบบอื่นๆ หรือจะคิดถึงขนาดทบทวนว่าไม่จำเป็นต้องมีสว.เลยก็ได้ เพราะภายใต้บทบาทที่มีอยู่ในปัจจุบันเชื่อว่าสส.ทำหน้าที่แทนได้เกือบหมด” ทุกอย่างจบขั้นสส.ก็พอ  เหลือแค่การให้ความเห็นชอบเรื่ององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญว่า ต้องการให้ได้คนที่เป็นกลาง ซึ่งจริงๆ ก็สามารถสร้างกลไกให้โหวตในชั้นสภาผู้แทนราษฎรก็สามารถทำให้ได้คนที่เป็นกลางได้

ดังนั้นตรงนี้จึงเป็นแค่อีกครั้งหนึ่งของการทดลองก็ต้องรอดูผลที่เกิดขึ้น แต่เป็นการทดลองที่มีราคาแพงเพราะมีค่าใช้จ่าย ในการจัดเลือกอย่างน้อยก็ 1,200-1,500 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ยังไม่รวมต้นทุนที่อาจจะเสียโอกาสจากการได้สว.ที่มีปัญหาไม่สามารถทำงานตามหน้าที่ที่ต้องการได้ไปอีก 5 ปี ซึ่งต้องจ่ายทั้งเงินเดือน ค่าตอบแทน ค่าผู้ช่วยต่างๆ อีกมากมาย

@ กระบวนการได้มาของสว.ที่ไม่เบ็ดเสร็จ ปัญหาอยู่ที่ระเบียบกกต.หรือ เป็นกับดักของรัฐธรรมนูญ  

การออกแบบอยู่ในรัฐธรรมนูญ และถอดออกมาเป็นพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งการได้มาของสว. ส่วนกกต. เป็นฝ่ายที่มาถอดออกมาเป็นระเบียบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระเบียบการเลือกสว. ระเบียบการแนะนำตัวสว.ซึ่งเป็นปัญหาอยู่ขณะนี้ เพราะฉะนั้นบางเรื่องอาจจะเป็นเรื่อง ที่กกต.ทำอะไรไม่ได้ เพราะอยู่ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูก แต่บางเรื่องก็อยู่ในวิสัยที่กกต.สามารถช่วยทำให้การเลือกนั้นมีคุณภาพมากขึ้นได้

แต่สิ่งที่น่าเสียดายในปัจจุบัน คือ กกต.ไม่ได้ใช้ความสามารถของตัวเองในการออกระเบียบ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ได้สว.ที่มีคุณภาพ แต่กกต.ออกระเบียบภายใต้การตีความทางกฎหมายเท่านั้น หากเกินจากนั้นเดี๋ยวผิด ที่เห็นชัดคือการแนะนำตัว ซึ่งกกต.ตีความว่า ในเมื่อผู้สมัครเท่านั้นเป็นผู้เลือก จึงให้แนะนำตัวต่อผู้สมัครกันเองเท่านั้น เกินจากนี้ถือว่าผิด ซึ่งการคิดแบบนี้ไม่ถูก เป็นการตีความที่จำกัดตัวเองเกินไป การแนะนำตัวต่อประชาชนจะทำให้อย่างน้อยที่สุดประชาชนจะได้รู้จักสว. และมีส่วนในการให้ความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ต่อตัวผู้สมัคร เมื่อผู้สมัครได้ฟังความเห็นจากประชาชนก็จะเอาความเห็นนั้นไปประกอบในการพิจารณาเลือกก็ได้ แต่ตอนนี้เราตัดประชาชนออกจากกระบวนการทั้งหมด ซึ่งจริงๆ ผู้สมัครก็ไม่รู้จะแนะนำตัวเองต่อผู้สมัครด้วยกันอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าผู้สมัครเป็นใคร อยู่ที่ไหน กระทั่งสมัครเสร็จก็ยังไม่มีที่อยู่ ไม่มีเบอร์โทรศัพท์ที่จะติดต่อกันได้ รู้แค่ข้อมูลที่เผยแพร่เพียงแค่ 5 บรรทัด และตัดสินใจในการเลือกเท่านั้นเอง

@ ฝากถึงผู้เกี่ยวข้องกับการเลือกสว.และฝากอะไรถึงประชาชน

ประชาชนที่คิดว่าตัวเองมีศักยภาพ สามารถเข้าไปทำหน้าที่เป็นสว.ได้ ก็อยากให้ท่านใช้สิทธิ์ตรงนี้ ยิ่งมีประชาชน ผู้สมัครเยอะ กระบวนการคัดเลือกก็จะยิ่งโปร่งใสมากขึ้น และกระบวนจัดตั้งก็จะได้ผลน้อยลงไปเรื่อยๆ  

ส่วนประชาชนทั่วไป อยากให้ติดตาม การเลือกสว. คราวนี้อย่างใกล้ชิดเท่าที่จะมีข้อมูลทำ อย่ามองว่าไม่เกี่ยว ไม่สนใจ และปล่อยให้เป็นเรื่องของคนอายุ 40 ปีที่มีเงิน 2,500 บาทให้ไปคุยกันเอง เลือกกันเอง  เพราะการทำงานของสว.ท้ายที่สุดก็จะกระทบกับประชาชน ถ้าเราสนใจติดตาม วิพากษ์วิจารณ์ให้ความเห็นต่างๆ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงบ้างในบางเรื่อง

และที่ฝากถึงกกต. ในเรื่องของกติกาต่างๆ หากยังมีเวลา และรับฟังได้ อะไรปรับได้ก็ขอให้ปรับ ให้เป็นประโยชน์ที่สุดกับประชาชน ไม่ใช่ยืนยันว่าทำตามกฎหมายแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แล้วจะให้เป็นการเลือกสว.แบบเงียบที่สุด ไม่รู้ข้อมูลมากที่สุด ต่างคนต่างไม่รู้แล้วไปหลับหูหลับตาเลือกคิดว่าไม่เป็นผลดีกลับประเทศ.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่