ในทางกฎหมายการยกมรดกให้คนนอกเช่นนี้มีประเด็นใดน่าสนใจ หรือควรรู้บ้าง “ทีมข่าวอาชญากรรม” สอบถามนายสุชาติ ชมกุล อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ข้อมูลว่า การให้มรดกกับคนนอก สามารถให้ได้ กฎหมายไม่มีข้อใดห้าม จากประสบการณ์เคยพบเคสลักษณะนี้เยอะมาก มักเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีผู้สูงอายุอยู่ตามลำพังกับแม่บ้าน คนสนิท ลูกหลานไม่เคยมาเยี่ยมเยียนดูแล จึงมักยกให้คนรับใช้ที่มีความผูกพันมากกว่า หรือยกให้วัด ให้มูลนิธิการกุศล
อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวังคือการระบุ“ชื่อ”ต้องชัดเจนว่าเป็นใคร และสะกดถูกต้อง หากใช้เพียง“ชื่อเล่น”เช่น ป้าติ๋ม แล้วไม่มีอะไรต่อ พินัยกรรมจะไม่เป็นผลและตกเป็น“โมฆะ”ได้ เพราะคนชื่อติ๋มในไทยมีกี่แสนล้านคน ไม่อาจระบุยืนยันตัวได้ชัดเจน ซึ่งอาจเป็นจุดที่ญาติ หรือผู้เกี่ยวข้องทางสายเลือดสามารถ“โต้แย้ง” โดยการขอคัดค้านและอ้างเหตุ เช่น เป็นการหลอกให้ทําพินัยกรรม , ลายมือชื่อปลอม , ระหว่างทำพินัยกรรมผู้ทำมีสติไม่สมบูรณ์ ก็ต้องขอให้มีการสืบพยานหลักฐานและให้ศาลตัดสิน
ตามกฎหมายไทยการพิมพ์ใส่คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถใช้ได้ หากไม่ลงลายเซ็น ลายมือชื่อผู้ที่ทําต้องพิสูจน์ได้ เพราะการพิมพ์ไว้ไม่ว่าใครก็สร้างพินัยกรรมปลอมได้ จึงไม่น่าเชื่อถือ นำไปอ้างไม่ได้ทั้งกับศาล ธนาคาร สำนักงานที่ดิน โดยผู้รับมรดกในพินัยกรรม เซ็นรับเป็นพยานไม่ได้เด็ดขาด เพราะจะเป็นโมฆะทันที
อีกกรณีคือ“คนนอก”ที่ระบุให้ได้รับมรดกตามพินัยกรรม ยังตอบปฏิเสธ“ไม่รับ” เรียกว่า“สละการรับมรดก” ผู้ที่ได้รับมรดกสามารถรับบางอย่าง ไม่รับบางอย่างได้ หรือไม่รับทั้งหมดตามที่ผู้ทำพินัยกรรมระบุไว้เลยก็ได้
“มีหลายกรณีที่ตนเคยพบ เช่น สละการรับมรดก เพราะไม่อยากมีปัญหากับญาติใกล้ชิดของผู้ให้ หรือมูลค่าน้อย อย่างเงินสด 10,000-20,000 บาท”
ทั้งนี้ การที่ผู้ได้รับมรดกไม่ว่าจะเป็น“สายเลือด”หรือ“คนนอก” หากมี“เจ้าหนี้”ของผู้ให้มรดกฟ้องก็ต้องรับผิดชอบหนี้ของผู้ให้มรดกด้วย แต่ไม่เกินกว่ามรดกที่ได้รับ เช่น รับมรดก 10 ล้านบาท ตรวจพบผู้มอบมรดกเป็นหนี้ 20 ล้านบาท ผู้รับมรดกก็รับผิดชอบได้แค่ 10 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนที่มาทรัพย์จะถูกต้องหรือได้มาผิดๆ ผู้รับมรดก“ไม่มีความผิด”ไปด้วย แต่ถ้าตรวจพบ เช่น ก่อนหน้าผู้ให้มรดกได้ทรัพย์บางอย่างมาโดยไม่ชอบ และมีการติดตามบังคับคดีก็ต้องคืน ส่วนมรดกที่อยู่ระหว่างพิพาทคดี อาทิ นายเอกำลังฟ้องครอบครองปรปักษ์แต่ดูแล้วกว่าคดีจะยุติอาจเสียชีวิตก่อน จึงเขียนพินัยกรรมระบุ ยกมรดกที่ดินดังกล่าวให้นายบี
ดังนั้น นายบีก็ต้องไปดําเนินคดีต่อเนื่อง เรียกว่า“การรับมรดกความ” กระทำได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงได้บัญญัติเรื่องการพิจารณาคดีเกี่ยวกับคู่ความมรณะไว้ 3 มาตรา ประกอบด้วย มาตรา 42, 43 และ 44
นายสุชาติ ยังอธิบายกรณีผู้รับมรดก“สละ”การรับแล้ว หรือป้าติ๋มไม่รับมรดก ทรัพย์สินจะจัดการเหมือนไม่เคยทำมรดก คือการสืบหาทายาทตามลำดับ ถ้าไม่มีจริงๆจึงค่อยเป็นของแผ่นดินตามกฎหมายไทย แต่กรณีต่างชาติอาจต้องดูกฎหมายของประเทศนั้นๆ เพราะบางประเทศถ้าผู้ครอบครองสัญชาติใดทรัพย์สินก็ต้องเป็นของสัญชาตินั้น
จากประสบการณ์ส่วนตัวเคยพบประเด็นนี้จากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 47 มีนักธุรกิจต่างชาติจดทะเบียนภรรยาคนไทย แต่เสียชีวิตทรัพย์ทั้งหมดจึงเป็นของภรรยาคนไทย แต่ไม่นานภรรยาก็เสียชีวิต ทรัพย์ทั้งหมดจึงกลายเป็นของญาติฝ่ายหญิงในไทย
“ส่วนตัวเห็นว่าพินัยกรรมชาวต่างชาติไม่ค่อยมีปัญหามากเหมือนคนไทย ด้วยวัฒนธรรมการเลี้ยงลูก เมื่อคุณโตแล้วก็ออกไปใช้ชีวิตด้วยตัวเอง บางคนก็ยังไม่ยกมรดกให้ลูกเลย ส่วนใหญ่มักจะบริจาคให้องค์กรการกุศลหรือบำรุงศาสนา และที่สำคัญคือภาษีมรดกต่างประเทศแพงมาก”
สำหรับกฎหมายไทยการทำพินัยกรรมที่ถูกต้องมี 3 ประเภท 1.ผู้ทำต้องเขียนเองด้วยลายมือทั้งฉบับ ไม่จำเป็นต้องมีพยาน 2.พินัยกรรมที่มีการกรอกข้อความ ต้องมีลายมือชื่อผู้ที่ทำ และต้องมีพยานที่ไม่ได้มีส่วนได้มรดกเซ็นรับรอง 2 คน 3.พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ต้องทำในที่ว่าการอําเภอ หรือที่ว่าการเขต มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ชำนาญการจัดทําให้ เป็นพินัยกรรมที่มีความน่าเชื่อถือที่สุดในการพิจารณาของศาล โดยต้องนำสำเนาทะเบียนบ้าน,บัตรประชาชน และพยาน2 คน พินัยกรรมประเภทนี้ไม่เคยมีการโต้แย้งชนะ เพราะผู้จัดทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ บุคคลภายนอกไม่มีส่วนได้เสีย
ส่วนที่มักเห็นในละครที่ทนายความเปิดพินัยกรรมกับทายาท นายสุชาติ ชี้มีอยู่จริง ส่วนใหญ่อยากให้เป็นความลับ และทำกับทนายความที่สนิทคุ้นเคย เพื่อมั่นใจว่าไม่รั่วไหล โดยทนายความจะรู้อยู่แล้วว่า มีใครที่รับมรดกและใครไม่ได้ ดังนั้น ต้องเก็บเป็นความลับสุดยอดระหว่างลูกความ จากนั้นทนายจะติดตามความเป็นไปของลูกความ เมื่อพบว่าถึงเวลาเปิดพินัยกรรมแล้ว จะต้องทําหนังสือแจ้งทายาท เช่น
นายเอมีลูก 5 คน ก็ทําหนังสือแจ้งทุกคน แล้วนัดเวลา สถานที่เปิด แต่ไม่จำเป็นต้องมาทุกคนก็ได้ ถือว่าแจ้งให้ทราบแล้ว ส่วนผลออกมา ใครไม่พอใจ หรือสงสัยในรายละเอียด สามารถฟ้องร้องศาล โดยทนายความต้องขึ้นเป็นพยานตามสมควรจนคดีสิ้นสุด.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน