ระยะหลัง ๆ มานี้เกิด “กรณีเศร้าสลด” บ่อย ๆ อีกแล้ว!!…กับกรณี “คิดสั้นจบชีวิต” ที่มี “สาเหตุจากโรคภัยไข้เจ็บ” ซึ่งสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค.นี้ก็มีเหตุเกิดต่อเนื่อง… โดยวันที่ 4 พ.ค. มีเหตุนักธุรกิจคิดสั้นเพราะ “เครียดโรคประจำตัว” จากนั้นอีก 2 วัน คือวันที่ 6 พ.ค. ก็มีเหตุนักธุรกิจหญิงตัดสินใจจบชีวิตเพราะ “ทุกข์จากโรคมะเร็ง” โดยที่ 2 กรณีเศร้าสลดดังกล่าวนี้มี “มูลเหตุคิดสั้นคล้ายกัน” นั่นก็คือ… “ปัจจัยจากโรคที่ป่วยอยู่” ที่เป็น “แรงกระตุ้น” ทำให้เกิดการ “คิดสั้น”

หลัง ๆ เหตุสลดแบบนี้ก็เกิดขึ้นบ่อย
เป็น “ปรากฏการณ์น่าห่วง!!” ในยุคนี้

ปรากฏการณ์น่าเศร้าที่มีเหตุจูงใจจากการเจ็บป่วย-โรคประจำตัวนั้น… สังคมไทย “ไม่ควรปล่อยผ่าน” ควรร่วมคิดหาทางเพื่อ “สกัดกรณีน่าเศร้า” แบบนี้ และหนึ่งในแนวทางที่ดีคือ “ทำความเข้าใจกลุ่มเสี่ยง” เพื่อ “สังเกตความผิดปกติ” หรือ “สัญญาณเตือน” ในกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มอาจจะเลือกใช้วิธีจบความทุกข์จากอาการเจ็บป่วยด้วยวิธีฆ่าตัวตาย โดยการทำความเข้าใจกลุ่มเสี่ยงนั้น “ความรู้ทางจิตวิทยา” น่าสนใจ ซึ่ง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูล ทั้งนี้ “ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว” มีโอกาส “เสี่ยงเกิดปัญหาสุขภาพจิต” ด้วย ที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า “Psychosocial aspect of illness” หรือ…

“ภาวะจิตสังคมของการเจ็บป่วย”
มักพบใน “ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง-ร้ายแรง”

สำหรับคำอธิบาย “ภาวะจิตสังคมของการเจ็บป่วย” หรือ Psychosocial aspect of illness” นี้…ภาวะนี้มีชุดข้อมูลบทความให้ความรู้ความเข้าใจไว้โดย รศ.พญ.ศรีธรรม ธนะภูมิ อาจารย์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ได้เขียนไว้ถึงภาวะนี้ และมีการเผยแพร่ไว้ผ่าน www.rama.mahidol.ac.th โดยสังเขปมีว่า… ความเจ็บป่วยเป็นภาวะที่กระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ และผู้ป่วยแต่ละคนมีวิธีปรับตัวต่อการเจ็บป่วยแตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของโรค ลักษณะและวิธีการแก้ปัญหาของผู้ป่วย ตลอดจนสภาพแวดล้อมทางครอบครัวและสังคม

ในบทความนี้ชี้ไว้ถึง “ความสำคัญ” ในการ “ทำความเข้าใจภาวะ Psychosocial aspect of illness” ในกลุ่มผู้ป่วย ว่า…ผู้ให้การรักษาพยาบาลก็ควรสนใจเกี่ยวกับ “ภาวะจิตสังคมของผู้ป่วย” ไม่แพ้การค้นหาและเลือกวิธีรักษาโรค ทั้งนี้เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะ “กลุ่มเสี่ยงสูง” คือ ผู้ป่วยโรคร้ายแรง ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ซึ่งมีโอกาสเกิดผลกระทบทางจิตใจสูง จนอาจนำสู่พฤติกรรมที่ทำให้เกิดปัญหา …นี่เป็นความสำคัญในการ “ทำความเข้าใจ” เพื่อ…

สังเกตปฏิกิริยาที่ผู้ป่วยแสดงออกมา”
ที่จะต่างกันไป…และ “ปรับตัวต่างกัน”

ส่วน “ลำดับขั้นผู้ป่วย” ที่มักจะมีการ “แสดงออก” นั้น พบว่า…มักจะมีลำดับขั้นดังนี้คือ… 1.ตกใจ กับปฏิเสธ (shock and denial) โดยผู้ป่วยที่ทราบ หรือแค่อาจสงสัย ว่าจะเป็นโรคที่รักษาไม่หาย และอาจจะต้องเสียชีวิต มักจะมีอาการช็อก รู้สึกกังวล สับสน หรือควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึ่งในขั้นนี้ผู้ป่วยมักจะปฏิเสธความจริง และพยายามที่จะหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อจะลบล้างผลตรวจเดิม ถัดมา… 2.กังวล สับสน โกรธ (anxiety or anger) เมื่อไม่สามารถจะปฏิเสธความจริงได้ ผู้ป่วยจะกังวลจนความคิดสับสน หรือบางรายอาจแสดงวาจากิริยาก้าวร้าว หรือมีการต่อต้านการตรวจและคำแนะนำของแพทย์

จากนั้นก็… 3.ต่อรอง (bargaining) ในขั้นนี้ผู้ป่วยที่เริ่มสงบลงบ้างมักแสดงออกด้วยการต่อรองกับแพทย์ว่าตนเองอาจไม่ได้เป็นโรคร้ายแรง ซึ่งเป็นการกลับไปสู่ระยะของการปฏิเสธความจริงอีกครั้ง หรือบางรายก็อาจมีความหวังว่าจะมีการตรวจที่พบว่าตนเองยังไม่ได้เป็นโรคร้าย เพื่อเพิ่มความหวังให้ตัวเอง หรือแค่เพื่อการยืดเวลาออกไปอีกสักระยะ ก่อนที่จะยอมรับความจริง และ… 4.เศร้าหมดหวัง (depress) ในขั้นนี้ผู้ป่วยเริ่มหมดหวัง แต่ยังไม่ยอมรับความจริง มักซึมเศร้า มีความรู้สึกผิด และแยกตัวอยู่คนเดียวบ่อยขึ้น หรือ บางครั้งจะเกิดความรู้สึกอยากตาย!! ซึ่งรายที่อาการมาก ๆ จะหูแว่ว หรือหวาดระแวง

สุดท้ายคือ… 5.ยอมรับความจริง (acceptance) โดยในขั้นนี้ผู้ป่วยจะยอมรับความจริงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาการซึมเศร้าจะลดน้อยลง ผู้ป่วยจะเริ่มซักถามรายละเอียดของโรครวมถึงวิธีรักษามากขึ้น แต่กับบางรายอาจเฉย ๆ โดยปล่อยให้เป็นหน้าที่ของแพทย์และญาติ ๆ ซึ่งเมื่อผ่านถึงลำดับขั้นนี้ผู้ป่วยจะค่อย ๆ ปรับตัวต่อการรักษาได้ และเลือกที่จะดำเนินชีวิตต่อไป รวมถึงมักจะเริ่มรับฟังคำแนะนำและให้ความร่วมมือในการรักษา …นี่เป็น “ลำดับภาวะจิตสังคม” ที่ผู้ป่วยมักแสดงออก

หลังจาก “รู้-สงสัยว่าป่วยเป็นโรคร้าย”

ทั้งนี้ ในบทความให้ความรู้โดย รศ.พญ.ศรีธรรม ธนะภูมิ ระบุไว้ด้วยว่า… การแสดงออกของผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเรียงลำดับเสมอไป อาจข้ามขั้นตอน หรือแสดงออกแค่บางขั้นตอนก็ได้ ขณะที่ “ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับตัว” จะประกอบด้วย… 1.ปัจจัยโรค เช่น อาการ ตำแหน่งโรค ระยะโรค การรักษา 2.ปัจจัยตัวผู้ป่วย เช่น บุคลิกภาพ วัยของผู้ป่วย 3.ปัจจัยสภาพแวดล้อม เช่น สภาพเศรษฐกิจ ความช่วยเหลือจากครอบครัว ค่านิยม ประเพณี …นี่ก็เป็นข้อมูลอีกส่วนที่ “น่าสนใจ”