“ทีมข่าวอาชญากรรม”สอบถาม รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล รองอธิการบดี และประธานกรรมการคณะอาชญาวิทยา และการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต เพื่อฉายภาพสถานการณ์และการรับมือแนวโน้มอนาคต โดยระบุ จากอดีตที่ผ่านมาพบว่าต่างชาติที่เข้ามามีหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มผิวสี จะมีรูปแบบพฤติการณ์ในการหลอกลวงเหยื่อทั้งคนไทยและต่างชาติด้วยกัน ขณะที่กลุ่มยุโรป รัสเซีย จีน อินเดีย หรือปากีสถาน ก็จะมีรูปแบบต่างออกไป  มีการกระทำเป็นเครือข่ายที่อาศัยรู้จักกับคนไทย หรือเครือข่ายในไทย หรือมีเจ้าหน้าที่รัฐไปมีส่วนร่วมรู้เห็น หรือให้การช่วยเหลือ ทำให้การจับกุมไม่ง่าย

ประกอบกับรูปแบบองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ต้องอาศัยการประสานงานระหว่างหน่วยงานในและระหว่างประเทศ ซึ่งจุดนี้ยังเป็นปัญหา โดยเฉพาะประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่สามารถทำได้เป็นมาตรฐานสากลนัก

“อย่างที่ทราบดี ปัจจุบันยังมีข่าวตำรวจทะเลาะกัน หรืออีกหลายมิติ เช่น ระบบรับแจ้งเบาะแสจากประชาชนที่ต้องมีมั่นใจในตัวเจ้าหน้าที่รัฐ จึงจะแจ้งเบาะแสเข้าไป เมื่อแจ้งแล้วดำเนินการอย่างไร บ้านเรายังไม่ชัด ซึ่งในต่างประเทศความเป็นมืออาชีพของตำรวจ เบาะแสจากภาคประชาชนมีความสำคัญมากๆในการเฝ้าระวังป้องกันเหตุอาชญากรรมหลากหลายรูปแบบ”

นอกจากนี้ มองว่าควรต้องมีการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับกฎ ระเบียบ ที่ใช้อยู่ว่าเท่าทันการดำเนินการกับคนร้ายในปัจจุบันหรือไม่ พร้อมยกตัวอย่าง การใช้กฎหมายฟอกเงิน ที่ยังมีปัญหาเรื่องกำลังคน งบประมาณ ทักษะความเชี่ยวชาญที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ทำให้การบังคับใช้กฎหมายกับเครือข่ายองค์กรอาชญากรรม ไม่ว่าจะยาเสพติด ค้ามนุษย์ ค้าอาวุธ หรือแรงงานเถื่อน ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร  

สำหรับอาชญากรรมที่ก่อปัญหาอันดับต้น รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ระบุ เป็นเรื่องยาเสพติดที่มีมานาน เพียงแค่แก๊งต่างชาติจะมีแผนประทุษกรรมต่างกันในแต่ละกลุ่ม  ขณะที่แก๊งฝั่งตะวันตกจะมีรูปแบบอาชญากรรม เช่น ใช้ไทยเป็นฐานผลิตสื่อลามกเด็กเผยแพร่ทางออนไลน์ ซึ่งกำลังกลายเป็นอีกปัญหาสำคัญ เพราะไทยเป็นทั้งต้นทาง ทางผ่าน และปลายทางที่มีการกระทำความผิด

ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตเหตุที่ไทยเป็นฐานก่ออาชญากรรม ต้องยอมรับว่าไทยมีระบบฐานข้อมูลที่ยังไม่เชื่อมต่อกัน ทั้งการประสานหน่วยงานในประเทศ ระหว่างประเทศ และตำรวจสากล ประกอบกับการบังคับใช้กฏหมายที่ต้องเป็น“มืออาชีพ”มากขึ้น ทั้งในแง่ความโปร่งใส ไม่มีทุจริต มีความจริงเข้มงวดให้เป็นมาตรฐาน นอกจากนี้ ย้ำถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นกลไกหยุดยั้งสำคัญอย่างกฎหมายฟอกเงิน และระเบียบ กฎหมายใดที่ไม่เอื้อกับการทำงานก็ต้องแก้ไขด่วน

พร้อมชี้ปัญหานี้ประสบเหมือนกันทั่วโลก เป็นปัญหาเรื้อรังเปรียบเป็นมะเร็งร้าย แต่ต่างประเทศมีการวางแผนรักษา เทียบกับไทยยังไม่รู้ว่าเป็นระยะไหน แล้วแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านมะเร็งของเราเจอถูกตัวทุกคนหรือไม่ ซึ่งแพทย์ก็คือผู้กำหนดนโยบาย

ส่วนการเป็นประเทศท่องเที่ยว มีส่วนถูกใช้เป็นเส้นทางแฝงตัวก่ออาชญากรรมของต่างชาติหรือไม่ รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ เผยว่ามาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวต้องควบคู่ไปกับมาตรการความปลอดภัยทั้งในส่วนคนไทยและนักท่องเที่ยว ป้องกันไม่ให้กลายเป็นนักท่องเที่ยวเข้ามาแฝงตัวทั้งหลอกลวง ทำร้าย ข่มเหงคนไทยหรือนักท่องเที่ยวด้วย

เบื้องต้น เสนอมาตรการที่รัฐควรเพิ่มการตั้งรับ ได้แก่  1.ระบบฐานข้อมูล ความเชื่อมโยงระบบปฏิบัติการฐานข้อมูลต่างๆ ขณะนี้ไทยยังทำได้ไม่ดีพอ และจะเกิดปัญหาตามมาแน่จากจำนวนคนที่เข้ามามาก เพราะไม่เพียงกลุ่มถูกขึ้นบัญชีดำ ต้องเฝ้าระวัง หรือต้องสงสัย แต่ยังมีกลุ่มคนนอกบัญชีที่ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร และต้องอาศัยเบาะแสจากภาคประชาชนด้วย

2.ตำรวจ ภาครัฐ รัฐบาล ต้องมีช่องทางให้ประชาชนมั่นใจว่าเบาะแสที่แจ้งเข้าไปนั้นจะได้รับการตอบสนอง รวมทั้งการใช้คนให้เหมาะสมกับงาน ยกตัวอย่าง ส่งตำรวจไปอบรมอาชญากรข้ามชาติในต่างประเทศ แต่กลับมาใช้ทำงานเอกสาร และ3.นโยบายรัฐความปลอดภัยของรัฐควรต้องชัดเจน และคิดถึงผลพวงที่จะตามมา ยกตัวอย่าง การขยายเวลาเปิดสถานบริการ แต่ไม่ได้คำนึงถึงปัญหาเมาขับ

รศ.พ.ต.ท.ดร.กฤษณพงค์ ยังให้ข้อมูลถึงเหตุที่ทำให้มีการก่อเหตุเรียกค่าไถ่ในไทยว่า หลักๆมาจากระบบบริการจัดการด้านความปลอดภัยที่ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ และพัวพันในหลายมิติทั้งตำรวจที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมาย และมหาดไทยที่รับผิดชอบท้องถิ่น เพราะเมื่อมีการเข้ามา นักท่องเที่ยวต้องไปอาศัยอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งท้องถิ่นจะมีส่วนช่วยเฝ้าระวังได้ แต่ต้องมีระบบบูรณาการข้อมูลทั้งหมด                    

ดังนั้น เสนอหนึ่งแนวทางคือหาวิธีเชื่อมโยงระบบข้อมูล ย้ำว่าการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยของไทยยังเป็นปัญหา เพราะหากมองกลับกัน เหตุใดไม่เลือกก่อเหตุในประเทศแถบยุโรป นั่นเพราะบางประเทศมีระบบด้านความปลอดภัยที่ดีกว่า.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]