เล่นเอาอึ้ง!!! กับ “ทัศนคติแย่ ๆ” ของบางคน ที่ไม่เพียงจะไม่รู้สึกสงสารหรือเห็นใจ แต่ยังมีการขอวาร์ป หนำซ้ำมีชาวโซเชียลจำนวนไม่น้อยกลับเลือกจะ “กล่าวโทษเหยื่อคลิปหลุด” แบบไม่น่าเชื่อ!!! ทั้งนี้ เรื่องนี้ก็กลายเป็นกระแสอื้ออึง…อื้ออึงถึง “พฤติกรรมเชิงลบ” แบบนี้ โดยการกระทำลักษณะนี้อันที่จริงก็ไม่ได้เพิ่งเกิดครั้งแรก แต่เกิดบ่อย ๆ หรือแทบทุกครั้งที่มีกรณี “ภาพหลุด-คลิปหลุด” สะท้อนได้จากกรณีล่าสุดที่เป็นกระแสดัง ที่บางคนกลับ “โทษเหยื่อ…แทนที่จะโทษคนปล่อยคลิป” อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องนี้ก็มี “คำอธิบายเกี่ยวกับพฤติกรรม” โดยพฤติกรรมแบบนี้ “ในทางจิตวิทยา” มีศัพท์เรียกขาน…

พฤติกรรมนี้เป็นการ “victim blaming”
เป็น “พฤติกรรมเชิงลบ” ที่พบบ่อย ๆ
ที่ “ทำให้ผู้เสียหายตกเป็นเหยื่อซ้ำ ๆ”

เกี่ยวกับพฤติกรรมลบ ๆ อย่างการ “กล่าวโทษเหยื่อ” หรือที่ศัพท์จิตวิทยาใช้คำว่า “victim blaming” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลนั้น มีข้อมูลโดย รวิตา ระย้านิล นักจิตวิทยา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้อธิบายพฤติกรรมนี้ไว้ในบทความที่มีการเผยแพร่ใน www.psy.chula.ac.th โดยสังเขปมีว่า… บ่อยครั้งที่เกิดกรณี ล่วงละเมิดทางเพศ ภาพลับ-คลิปหลุด แล้วสังคมพบ “ข้อคิดเห็นเชิงลบ” ที่มีลักษณะ “ตั้งคำถามเกี่ยวกับเหยื่อ” อาทิ เหยื่อแต่งตัวโป๊, เหยื่อเป็นเด็กเอน, เหยื่อเดินคนเดียวในซอยเปลี่ยวทำไม จนถึงเหยื่อสมยอม หรือยอมให้ถ่ายภาพเก็บไว้ทำไม ซึ่งเหล่านี้…

“พุ่งเป้าที่เหยื่อ” หรือผู้เสียหายเป็นหลัก
ที่ “ผู้ทำผิดมักนำไปใช้เป็นข้อแก้ต่าง”

ทั้งนี้ นักจิตวิทยาท่านดังกล่าวได้ระบุแจกแจงถึงเรื่องนี้ไว้ในบทความต่อไปว่า… ข้อความที่มุ่งไปที่เหยื่อเหล่านี้ จะทำให้เหยื่อได้รับผลกระทบทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง โดย การ “กล่าวโทษเหยื่อ” เป็นรูปแบบที่ปรากฏให้เห็นในสังคมได้อยู่เรื่อย ๆ และ “ไม่เคยหมดไป” จากสังคม ซึ่งบางคนเมื่อได้รับข้อมูลของเหยื่อมากขึ้น ก็ยิ่งกระตุ้นให้คน ๆ นั้นแสดงออกทางพฤติกรรมแบบนี้มากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมองว่า… ผู้เสียหายมีรูปแบบการเป็น “เหยื่อในอุดมคติ (ideal victim)” หรือมีลักษณะที่อยู่ภายในกรอบที่สังคมกำหนดทุกประการ เช่น แต่งตัวมิดชิด ไม่ดื่มเหล้า เป็นผู้เยาว์ เป็นต้น

ทางผู้จัดทำบทความเรื่องนี้ยังขยายความ victim blaming – การโทษเหยื่อ ไว้ว่า… นอกจากจะเป็นเหมือนการซ้ำเติมเหยื่อให้ได้รับความเจ็บปวด จนอาจจะทำให้เหยื่อไม่กล้าเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ตัวเองแล้ว… ยังลดทอนความร้ายแรงของการกระทำผิด และเพิ่มความชอบธรรมให้แก่ผู้กระทำผิดได้ด้วย จนส่งผลเสียทั้งต่อตัวผู้เสียหายและต่อสังคมโดยรวม ที่จะไม่มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเหยื่อ รวมถึงทำให้เกิดความโน้มเอียงต่อการตัดสินเชิงจริยธรรมของคนในสังคมด้วย…

นี่เป็น “ผลเสีย” พฤติกรรมลบแบบนี้

แล้ว พฤติกรรมโทษเหยื่อแบบนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?… กรณีนี้ก็มีการระบุไว้ว่า… การศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า…การโยนความผิดไปยังผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ มีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่อง “โลกนี้มีความยุติธรรม” โดยผู้ที่มีความเชื่อนี้จะเชื่อว่า…ผู้ทำดีย่อมได้รับผลดี และผู้ทำไม่ดีย่อมได้รับผลที่ไม่ดี ซึ่งความเชื่อดังกล่าวเป็นแรงจูงใจพื้นฐานของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม แม้ความเชื่อโลกนี้มีความยุติธรรมจะเป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นเกราะป้องกันทางจิตใจ และช่วยให้คนคิดต่อเหตุการณ์ด้านลบน้อยกว่า แต่อีกด้านของเหรียญของความเชื่อนี้ก็มี นั่นก็คือ… บางครั้งถูกแสดงออกมาผ่านการ “ดูหมิ่นผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ”

โดย… “มองว่าเป็นผลจากการทำไม่ดี”
ที่สะท้อน “ความโน้มเอียงในเชิงอคติ”

ทั้งนี้ กับแนวทางลดการกล่าวโทษเหยื่อ ข้อมูลในบทความได้ระบุไว้ว่า… การลดการกล่าวโทษเหยื่อนั้น สังคมจะต้องช่วยกันสร้างการตระหนักรู้เท่าทันในวิธีการคิดของตน ช่วยกันเน้นย้ำว่าเหยื่อคือผู้ถูกกระทำ คือผู้ที่ได้รับความเจ็บปวด และเป็นผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือกับการปกป้องจากการถูกซ้ำเติม เพราะผู้ที่ต้องเผชิญจากการตั้งคำถามจากสังคมคือผู้ที่กระทำผิด นอกจากนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม และสื่อ ก็ต้องพิทักษ์เหยื่อ …นี่เป็นแนวทางที่มีการแนะนำไว้ กับ “วิธีลด” กรณีการกล่าวโทษเหยื่อ หรือvictim blaming” ที่คีย์เวิร์ดคือ “สังคมต้องตระหนัก”

“สังคมมนุษย์เป็นสังคมที่ประกอบด้วยความแตกต่างหลากหลาย ทำให้การจัดกลุ่มทางสังคมเป็นเรื่องธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม หากแต่การประเมินคุณค่าของบุคคลด้วยการเหมารวมตามความเชื่อหรือความคิดของตัวเองนั้น กลับเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความเจ็บปวดให้กันและกันได้ ดังนั้น การเคารพในความแตกต่างจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะแม้มนุษย์แต่ละคนจะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนก็ล้วนต้องการให้มีคนที่เข้าใจ เพื่อที่บุคคลนั้นจะได้มีชีวิตอย่างปลอดภัยร่วมกัน ที่ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของมนุษย์ทุกคน”…นักจิตวิทยาท่านดังกล่าวระบุไว้

กรณี “victim blaming” กล่าวโทษเหยื่อ
ที่…“ไม่แค่ทำให้เหยื่อเป็นเหยื่อซ้ำ ๆ”
ยัง “ลดทอนความผิดผู้ที่ทำผิดด้วย!!”.