สวัสดีจ้า สัปดาห์นี้ทีมงาน “ขาสั้น คอซอง” จะพาไปทำความรู้จักกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีเชื้อสายชาวไทยทรงดำ “น้องปกป้อง” ปรวีร์ ปานเพชร ชั้นป.5 “น้องเปีย” ณัฐธิยา หงษ์ยิ้ม และ ”น้องปุ๊ก” เนติยา หงษ์ยิ้ม ชั้นป.6 โรงเรียนวัดหนองปรง (บุญมานุสรณ์) อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี กันจ้า

โดยที่โรงเรียนแห่งนี้นักเรียนส่วนใหญ่มีเชื้อสายชาวไทยทรงดำ ทั้งยังมีการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยทรงดำ และเมื่อเร็วๆนี้ทั้ง “น้องปกป้อง”, “น้องเปีย” และ ”น้องปุ๊ก” ยังได้มีโอกาสนำเสนอวัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยทรงดำต่อ น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม ในโอกาสลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการพัฒนาศักยภาพแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่ศูนย์วัฒนธรรมไทยทรงดำ อ.ย้อย ด้วย

ทั้งสามคนร่วมกันเล่าประวัติความเป็นมาของชาวเผ่าไทยทรงดำ ไทดำ หรือลาวโซ่ง ว่า มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่เมืองแถน ซึ่งแต่เดิมเป็นเมืองใหญ่แคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือจังหวัดเดียนเบียนฟู อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศเวียดนาม มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศลาว ทิศเหนือติดกับตอนใต้ของประเทศจีนได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในแผ่นดินไทยนานกว่า 200 ปี ชาวไทยทรงดำอพยพเข้ามาสู่ประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 ตั้งถิ่นฐาน อยู่ทั่วไปในเขตภาคกลาง เช่น เพชรบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และที่อ.เขาย้อยมีประชากรมากกว่าร้อยละ 80 เป็นชาวไทยทรงดำ ชาวไทยทรงดำมีวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งเรื่องของการแต่งกาย ทรงผม อาหาร ภาษา พิธีกรรมและประเพณี

3 ตัวแทนนักเรียนเชื้อสายชาวไทยทรงดำ บอกถึงการเรียนรู้และกิจกรรมของโรงเรียนเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีชาวไทยทรงดำด้วย ว่า ที่โรงเรียนนักเรียนส่วนใหญ่มีเชื้อสายชาวไทยทรงดำ จึงมีหลักสูตรท้องถิ่นให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของชาวไทยทรงดำ และเชิญอาจารย์ถนอม คงยิ้มละมัย ปราชญ์ท้องถิ่นด้านวัฒนธรรมประเพณีชาวไทยทรงดำมาถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียน โดยการเรียนหลักสูตรท้องถิ่นแบ่งเป็นระดับชั้นประถมเรียนเกี่ยวกับการละเล่นและวิถีชีวิตของชาวไทยทรงดำ และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น นักเรียนหญิงให้เรียนเกี่ยวกับเย็บผ้า ปักลายหน้าหมอนซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาของชาวไทยทรงดำและนำมาทำเป็นเครื่องประดับ พวงกุญแจ และนักเรียนชายเรียนดนตรีเป่าแคนและโรงเรียนมีวงแคนนางรำด้วย จะออกแสดงในกิจกรรมโรงเรียนและงานต่างๆของชุมชนและจังหวัดเพชรบุรี นอกจากนี้ ทุกวันอังคารโรงเรียนให้นักเรียนแต่งชุดไทยทรงดำซึ่งเป็นชุดพื้นถิ่นและทำกิจกรรมรำแคนด้วย

ทั้ง 3 คน เป็นแบบอย่างของเยาวชนรุ่นใหม่ ที่มีความภาคภูมิใจในการสืบสาน และเรียนรู้ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมของตัวเอง ทั้งพร้อมร่วมอนุรักษ์สืบสานวัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้ให้คงอยู่ต่อไป