หาก 14 ต.ค.16 เป็นชัยชนะของขบวนการนักศึกษา 6 ต.ค.19 ก็เป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ หลัง จอมพลถนอม กิตติขจร บวชเป็นพระลักลอบหนีกลับไทย จนมีการต่อต้านรุนแรง ลุกลามกระทั่งมีการ “ล้อมปราบ นศ.ประชาชนที่ธรรมศาสตร์อย่างโหดเหี้ยม มีการเอาไม้ตอกที่อวัยะเพศของ นศ.หญิง รอบ ๆ สนามหลวงมีการลากศพ นศ.ไปแขวนคอใต้ต้นมะขาม มีการเผานั่งยาง นศ.อีกคนจนไหม้เกรียม” มีผู้สูญหายและตายไปจำนวนมาก ที่เหลือต้องหนีเข้าป่าร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์ฯ จับปืนสู้กับรัฐไทยอยู่หลายปี จนมี “นโยบาย 66/23” ออก ก.ม.นิรโทษกรรมให้ นศ.คืนสู่เมืองในสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

แต่ปริศนาและความลับดำมืดของเหตุการณ์ทมิฬ “การสังหารหมู่ นศ.และประชาชนครั้งใหญ่ก็ยังไม่เคยมีการชำระ ปวศ.มีแต่ถูกทำให้ถูกลบเลือนหายไปจนถึงที่สุด” แม้จนบัดนี้ เช่นเดียวกับเหตุการณ์เข่นฆ่าประชาชนในครั้งต่อ ๆ มา ไม่ว่าจะพฤษภาคมปี 35 หรือพฤษภาคม ปี 53 

ท่ามกลางการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงของกลุ่ม นร.-นศ.-ประชาชน ที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มราษฎร” เมื่อ 19 ก.ย.ปี 63 เพื่อหวังหยุดการสืบทอดอำนาจของ “รบ.ทหาร 3 ป.” ในหอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ เองก็มีการจัด “นิทรรศการ 6 ต.ค.” ควบคู่ไปด้วย ทำให้รู้ว่ามีกลุ่มคนเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่งรวมตัวพยายามจัดตั้ง “พิพิธภัณฑ์ 6 ต.ค.19” ขึ้นมา ทั้งที่ขาดแคลนไปเสียทุกอย่าง ทั้งข้อมูลและเงินทุนสนับสนุน แต่เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้รับทราบถึงความจริงอีกด้านที่นำไปสู่การสังหารหมู่ขบวนการประชาธิปไตยที่โหดเหี้ยมสุดของไทย นี่จึงเป็นความเสียสละจริง ๆ เพราะทำด้วยใจ และไม่รู้จะสำเร็จหรือล้มเหลวด้วยซ้ำ?!?

รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อ.ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ 1 ในกลุ่มผู้ดำเนินการ บอกว่า ปีนี้ (2563) เป็นครั้งแรกที่มีคนสนใจเข้ามาดูนิทรรศการ 6 ต.ค.19 มากสุด นับแต่เริ่มจัดทำมา มีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าช่วย ทำให้ย้อนกลับไปดูสถานที่จริงซ้อนภาพจำลองการก่อเหตุจริง แค่กดปุ่มเท่านั้น เช่น การจับ นศ.ถอดเสื้อลากไปแขวนคอใต้ต้นมะขามเอารองเท้ายัดปาก โดยมีเด็กหลายคนมุงดูพลางหัวเราะชอบใจ คณะผู้จัดทำพยายามตามหาคนในรูปเพื่อสอบถามความรู้สึกและเหตุการณ์ขณะนั้น ซึ่งเด็กทุกคนล้วนโตเป็นผู้ใหญ่หมดแล้วในวันนี้ จึงเป็นงานที่ยากมาก และไม่มีใครอยากพูดถึงมันอีก

แม้สิ่งที่นำมาจัดนิทรรศการวันนั้น จะมีของไม่กี่ชิ้น แต่ก็ทำให้น้ำตาไหลไม่รู้ตัว มีลำโพงที่ถูกกระสุนยิงจนพรุนไปหมดมาตั้งอยู่ มีกางเกงยีนที่ขาดวิ่นของ ดนัยศักดิ์ เอี่ยมคง และสมุดบันทึกของพ่อ อ่อง เอี่ยมคง เขียนด้วยลายมือ แด่ลูกอ้อยด้วยดวงใจ…พ่อต้องเสียลูกไป แต่พ่อไม่รู้สึกว่าลูกจากพ่อไปแล้ว…มีเสื้อ นร. สีขาวปักชื่อ รร. และเสื้อ รด. ของ จารุพงษ์ ทองสินธุ์ ที่ครอบครัวยังเก็บข้าวของทุกชิ้นไว้ที่ อ.พระแสง สุราษฎร์ธานี ด้วยความหวังว่า “หากลูกไม่ตาย ลูกต้องกลับบ้าน” ยังมี นสพ.เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 6 ต.ค.เคลือบพลาสติกอย่างดีทั้งฉบับติดบอร์ดไว้

และที่ทำให้ละสายตาไม่ได้เลย ก็คือ บานประตูเหล็กสีแดง บานนั้น ประตูสนิมเขรอะที่ 2 พนง.การไฟฟ้านครปฐม ชุมพร ทุมไมย และ วิชัย เกษศรีพงษา ซึ่งออกไปติดโปสเตอร์ต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอม ถูกแขวนคอห้อยอยู่หน้าประตูอย่างโหดเหี้ยมและโดดเดี่ยว เป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่คณะผู้จัดตามหาจนพบ แม้เวลาจะผ่านมาหลายสิบปีแล้วก็ตาม

ไม่รู้ปีนี้จะยังมีนิทรรศการนี้อีกหรือไม่ เพราะมีข่าว “ผู้บริหารธรรมศาสตร์ชุดนี้” พยายามเบรกการจัดงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ต.ค. สุดความสามารถ อ้างกลัวโควิดบังหน้า แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ขอเอาใจช่วย และขอบคุณด้วยหัวใจทั้งหมด แด่  อ.พวงทอง  และ คณะทำงานเล็ก ๆ ชุดนี้ ที่ริเริ่มจัดทำพิพิธภัณฑ์สำคัญนี้ได้สำเร็จ เพื่อเป็นการบันทึก ปวศ. การสังหารโหด นร.-นิสิต-นศ.-ประชาชนในเหตุการณ์ “ไม่อยากจำ แต่ลืมไม่ลง” ณ วันที่  6 ต.ค.19 ให้ลูกหลานรุ่นต่อ ๆ ไปได้เรียนรู้ สืบทอดเจตนารมณ์ และเล่าขานต่อ ๆ กันไปอย่างไม่สิ้นสุด ชั่วฟ้าดินสลาย ตราบเท่าที่คนผิดทุกคนยังลอยนวล.

———————
ดาวประกายพรึก