เฉกเช่น กรณีล่าสุดที่เกิดขึ้นจากข่าวคราวภรรยาจ้างวานฆ่าสามีที่สร้างกระแสสนใจและวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมเป็นวงกว้าง ในเรื่องนี้ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ซึ่งคลุกคลี และขับเคลื่อนปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว สะท้อนมุมมองแตกต่างเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อฝ่ายหญิงเป็นผู้กระทำ โดยระบุ ที่ผ่านมาสถานการณ์ความรุนแรงเกือบทั้งหมดฝ่ายชายมักเป็นผู้ก่อเหตุ จนสังคมชินชากับการรับรู้ ทำให้ไม่ได้พูดถึงข้อมูลเชิงลึกเหตุการณ์
กระทั่งผู้กระทำเป็นฝ่ายหญิงซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นให้เห็นบ่อยนัก จึงกลับกลายเป็นที่สนใจ ทั้งที่เรื่องราวเช่นนี้ไม่ควรมองเพียงผิวเผินภายนอก เพราะเหตุการณ์รุนแรงในครอบครัวไม่ว่าฝ่ายใดลงมือ ก็ไม่ควรถูกนำเสนอเพียงพฤติกรรมแล้วจบ แต่ควรวิเคราะห์ให้ลึก เพื่อสะท้อนให้เห็นสิ่งที่ยังเป็นปัญหา และต้องแก้ไข
โดยเฉพาะกลไกของรัฐในการทำงานเรื่องนี้ ต้องยอมรับว่าในเชิงป้องกันก่อนนำไปสู่เหตุร้ายยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ยกตัวอย่าง กระบวนเมื่อเกิดปัญหาแล้วมีการร้องขอความช่วยเหลือ หรือเข้าแจ้งความ หากกลไกรัฐ เช่น ตำรวจสามารถเข้าไปจัดการได้ก็ควรทำให้ดี เพราะสุดท้ายอาจไม่นำไปสู่เหตุสลด
ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ชี้จากข้อมูลที่รวบรวมได้พบว่าสาเหตุใหญ่ที่ภรรยาฆ่าสามี มักมาจากการป้องกันตัวเองจากการถูกทำร้ายมานาน จนวันหนึ่งทนไม่ไหวและตอบโต้กลับ เพราะแจ้งความแล้วคดีไม่คืบหน้า หรือมุมมองของสังคมที่คิดว่าต้องอดทน สุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกก็จบลงด้วยการโต้กลับรุนแรง เมื่อถูกทำร้ายซ้ำ ซึ่งการวางแผน หรือจ้างวาน แม้มีให้เห็นแต่เมื่อเทียบกับป้องกันตัวเองจะไม่ได้มีเยอะมาก และมักเป็นกลุ่มที่มีเงื่อนไขคือมีเงินมากพอจ้างวาน ขณะที่ส่วนใหญ่การก่อเหตุโดยฝ่ายหญิงมักมาจากความไม่ตั้งใจแต่เป็นไปเพื่อป้องกันตัวเอง
จากข้อมูลสถานการณ์ข่าวความรุนแรงในครอบครัวล่าสุดที่รวบรวมไว้ปี 65พบว่า “การฆ่ากัน” มีมากถึง 534 ข่าว เพิ่มขึ้นชัดเจนจากปี 64 ที่มี 195 ข่าว
ทั้งนี้ การฆ่ากันสูงสุดเป็นความสัมพันธ์ในสถานะสามี-ภรรยา 213 ข่าว รองมาเป็น ระหว่างคู่รัก(แฟน) 109 ข่าว , ระหว่างเครือญาติ 104 ข่าว , ระหว่างพ่อ แม่ ลูก 101 ข่าว และฆ่ายกครัว 7 ข่าว
ในจำนวน 534 ข่าวฆ่ากัน มี 157 ข่าว ที่สามีกระทำต่อภรรยา ส่วนภรรยากระทำต่อสามี มี 12 ข่าว
สำหรับมูลเหตุ “สามีฆ่าภรรยา” มักมาจากสามีหึงหวง ระแวงว่าจะนอกใจ รองมาเป็นเรื่องตามง้อแล้วภรรยาไม่คืนดี ขณะที่มูลเหตุ “ภรรยาฆ่าสามี” มักมากจากการถูกทำร้ายทุบตีเป็นประจำ รองมาคือหึงหวง และถูกขู่ฆ่า ช่วงอายุที่สามี-ภรรยาที่กระทำกันมักอยู่ในช่วง 46-50 ปี รองมาคือ 31-35 ปี
ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ย้ำสิ่งที่ซ่อนอยู่ในสถานการณ์ปัญหานี้คือ ไม่ว่าฝ่ายชายหรือหญิงก็ไม่ควรถูกใช้ความรุนแรง และกลไกรัฐต้องทำงาน เพื่อให้ผู้ถูกกระทำมีทางเลือก และมีความเชื่อมั่นเมื่อไปแจ้งความ หรือขอความช่วยเหลือแล้วกลไกยุติธรรมทำงานจริง เช่น ต้องรับแจ้งความ เมื่อแจ้งความแล้วต้องกระบวนการเรียกอีกฝ่ายพูดคุย มีข้อตกลงหากยังกระทำเช่นเดิมต้องถูกดำเนินคดี เพื่อให้อีกฝ่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ขณะที่สังคมต้องปรับทัศนคติไม่มองความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว และหน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) อสม. ท้องถิ่นอย่างผู้ใหญ่บ้านก็ต้องเข้าใจปัญหาว่าความรุนแรงเช่นนี้เป็นอาชญากรรมที่ไม่หยุดยั้ง“ไม่ได้” เพราะสุดท้ายอาจนำไปสู่การฆ่ากัน ดังนั้น ต้องช่วยกันสอดส่อง เฝ้าระวัง หรือเข้าไปจัดการก่อนลุกลาม
“ไม่อยากให้ปัญหาความรุนแรงกลายเป็นเรื่องเคยชิน สถิติปี 65 กระโดดเพิ่มขึ้นมาก ต้องคิดเรื่องนี้ให้มากขึ้น กลไกรัฐต้องจริงจัง พม.ดูแลเรื่องกฎหมาย ส่วนกระบวนการยุติธรรม ตำรวจต้องจัดการจริงจัง เพื่อให้ผู้ที่มาแจ้งความมั่นใจว่าจะได้รับการช่วยเหลือ ไม่ใช่ต้องกลับไปถูกทำร้าย หรืออาจถูกฆ่า”
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ทำงานที่คลุกคลีกับปัญหาความสัมพันธ์ แนะจับสัญญาณที่ไม่ควรปล่อยผ่าน เพราะอาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรง อาทิ อย่าเชื่อว่าการหึงหวงคือความรัก, การสื่อสารพูดจาด้วยถ้อยคำหยาบคายขึ้นเรื่อยๆ พฤติกรรมเหล่านี้เมื่อกระทำนานวันจะเกิดความอึดอัด และมีโอกาสนำไปสู่การลงไม้ลงมือ
“ห่วงสังคมมองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ อยากบอกว่าแค่ใช้วาจา คำพูด ก็คือสัญญาณหนึ่งแล้ว” ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ทิ้งท้าย.
ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน