ขณะที่สังคมไทยยุคนี้กับการมีแฟน หรือมีคนที่ใช้ชีวิตร่วมกัน แล้วเกิดกรณี ’หึงโหด“ เกิดการ ’ทำร้ายสังหาร“ เป็นเรื่องที่นับวันจะยิ่งน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ… ในขณะเดียวกันก็มี ’อีกด้านที่ตรงข้าม??“… ทั้งนี้ จำนวนผู้เข้าร่วมกลุ่มของ เพจชื่อ หาเพื่อนเที่ยวหาเพื่อนกิน” ที่ก่อตั้งในสื่อโซเชียลเมื่อปี 2022 ผ่านมาแค่ราว 2 ปี มีสมาชิกเข้าร่วมมากกว่า 8 แสนราย!! นี่เป็นอีก ’ปรากฏการณ์สังคมที่น่าสนใจ“หลังจากก่อนหน้านี้ก็เคยมีกระแสฮือฮาแล้ว…กรณีแอปบริการ ’เพื่อนกินเพื่อนเที่ยว“ หรือ ’แฟนเช่า“โดยเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย ที่นักสังคมวิทยาและมานุษย วิทยาก็มีการศึกษาวิเคราะห์ไว้…

ปรากฏการณ์ ’เพื่อนเช่า-แฟนเช่า“…
สะท้อนภาพใหม่สังคมไทย ’น่าคิด??“

เกี่ยวกับเรื่องที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลวันนี้เรื่องใหม่ภาพใหม่ในสังคมไทยกรณีนี้มี “มุมวิเคราะห์” โดย ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ฝ่ายวิจัยและส่งเสริมวิชาการ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ที่ได้สะท้อนไว้ผ่านบทความบทวิเคราะห์ชื่อ “อาชีพเพื่อนเที่ยวและฟิลแฟน” ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ www.sac.or.th โดยได้ฉายภาพไว้ว่า… เพื่อนเที่ยว“ ได้เติบโตพัฒนาจนกลายเป็น อีกอาชีพหนึ่งของสังคม เกิด บริการเป็นเพื่อนคุย เพื่อนกินข้าว เพื่อนดูหนัง ซึ่งผู้ที่ทำอาชีพนี้ส่วนใหญ่จะเป็น นักศึกษา และคนหนุ่มสาว โดยเป็นอาชีพหรือเป็นงานที่หลายคนมักจะมองว่า… ทำง่าย และมีรายได้ดี“

ในบทความดังกล่าวทาง ดร.นฤพนธ์ ฉายภาพไว้ว่า… รูปแบบขอบเขต” การทำงานเป็น “เพื่อนเที่ยว” นั้นเป็นเรื่องสำคัญต่อผู้ให้บริการอาชีพนี้ โดยผู้ให้บริการเป็นเพื่อนเที่ยวจะต้องมีการระบุชัดเจนถึงระยะเวลาทำงานกับขอบเขตเช่น เป็นแค่เพื่อน หอมแก้มได้ แต่ห้ามจูบ, ไม่เป็นเพื่อนดื่ม แค่ทานอาหาร หรือผู้รับบริการสามารถแตะเนื้อต้องตัวได้แค่ไหน เป็นต้นอย่างไรก็ตาม แต่สิ่งที่ทำให้หลายคนมองผู้ที่ทำอาชีพเพื่อนเที่ยวในแง่ลบ ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจาก “แฮชแท็กที่นิยมใช้” เพื่อให้คนที่สนใจทักมาพูดคุย อย่างคำว่า “รับงาน” จนถูกโยงเข้ากับกรณีการขายบริการทางเพศ

เรื่องรูปแบบการสร้างตัวตนของเพื่อนเที่ยวนั้น…ก็น่าสนใจ โดย ดร.นฤพนธ์ ระบุไว้ว่า… ด้วยความที่ “เพื่อนเที่ยว” ต้อง’สร้างจุดเด่นให้เป็นที่สนใจ“ จึงต้องอธิบายรูปร่างหน้าตา ความสามารถ ความต้องการส่วนตัว นอกเหนือจากเงื่อนไขการให้บริการ โดยวิธีการที่มักจะนำมาใช้เพื่อสร้างความประทับใจคือการ ใช้รูปภาพตัวเองที่ดูดีที่สุด ซึ่งใน “มุมธุรกิจ” ถือว่า “เป็นกลไกสร้างตัวตน” ของผู้ประกอบการ ซึ่งมีความสำคัญในระบบเศรษฐกิจที่ ให้มูลค่ากับอารมณ์และความรู้สึก

อาชีพเพื่อนเที่ยวจึงเป็นปรากฏการณ์สังคมที่บ่งบอกถึงแรงงานชนิดใหม่ ซึ่งต้องลงทุนด้วยอารมณ์และความรู้สึกของตนเอง หรือเป็นแรงงานอารมณ์ (emotional labour)“ …เป็นคำอธิบายปรากฏการณ์ “อาชีพเพื่อนเที่ยว”

ที่โยงระบบเศรษฐกิจ “มูลค่าอารมณ์”

นักวิชาการท่านเดิมระบุไว้อีกว่า… ท่ามกลางการแสดงตัวตนของ “เพื่อนเที่ยว” ที่สะท้อนความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่ต้องพึ่งเทคโนโลยีสื่อสารดิจิทัล การหาเพื่อนในแอปพลิเคชันกลายเป็นตัวเลือกให้คนขี้เหงาและผู้ต้องการหาเพื่อนที่คอยดูแลเอาใจใส่ ทำให้ ความหมายของเพื่อนต่างไปจากเดิม เพื่อนที่เคยสนิทสนมจากการคบหาเรียนรู้ระยะยาวด้วยกัน ค่อย ๆ มีความรู้สึกต่อกันที่หดสั้นลง ถูกทดแทนโดย “เพื่อนผ่านแอปพลิเคชัน” ที่ค้นหาไม่นานก็เจอคนที่คิดว่าเป็นเพื่อนคุยกันได้ ซึ่งนับเป็นการตัดตอนเวลาการเรียนรู้กันและกันให้หดสั้นเหลือ 1-2 ชั่วโมง เป็นบรรทัดฐานสร้างเพื่อนแบบใหม่

เพื่อนแบบใหม่ ’เพื่อนแบบฉับพลัน“

ทาง ดร.นฤพนธ์ ยังระบุไว้ว่า… ที่น่าสนใจคือ ความสัมพันธ์แบบ ’เพื่อนเที่ยว“ อาจช่วยเยียวยาจิตใจคนที่ไม่มีเพื่อน ไม่สามารถแสวงหาเพื่อนได้ในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่คนแปลกหน้ามาพบกัน สิ่งที่คาดเดาไม่ได้ย่อมเกิดขึ้น ดังนั้น ความคาดหวังจึงเป็นเรื่องไม่แน่นอน และแม้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือที่ทำให้การหาเพื่อนง่ายและเร็วขึ้น แต่การกระทำต่อกันทั้งกายและใจก็ยังคงจำเป็น จึงเกิดคำถามว่า… ทำไมการแสวงหาเพื่อนต้อง ’ใช้เงินซื้อหรือใช้สินทรัพย์แลกเปลี่ยน?“ซึ่งคำตอบอาจมีความหมายมากกว่าแค่คลายเหงา คำตอบอาจหมายถึง ’เติมเต็มสิ่งที่ชีวิตจริงทำไม่ได้“

ทั้งนี้ บริการนี้ช่วยให้คนเลือกเพื่อนจากรูปร่างหน้าตาที่ชอบได้ ไม่เหมือนชีวิตจริงที่ทำไม่ค่อยได้ ซึ่งสังคมปัจจุบัน ยุค “วัฒนธรรมบริโภค” คนมักต้องการมีเพื่อนหน้าตาดี มีเสน่ห์ทางเพศ ดังนั้น “เพื่อนเที่ยว” จึงเป็นแหล่งรวมหนุ่มสาวที่ใช้รูปร่างหน้าตาดีเป็นทุนหารายได้ โดยสิ่งนี้ก่อตัวขึ้นบน ความสัมพันธ์ต่างตอบแทน ฝ่ายหนึ่งได้เงิน อีกฝ่ายได้สุขทางใจหรือทางกาย

อนึ่ง อีกบางช่วงบางตอน ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ระบุไว้ด้วยว่า… เพื่อนเที่ยวเพื่อนแบบฉับพลัน” นี้ ลักษณะเด่นสำคัญคือต้องแสดงความเป็นมิตรอย่างรวดเร็ว เพื่อแลกเปลี่ยนความพึงพอใจกับเงิน ซึ่งการที่เทคโนโลยีมีบทบาททำให้คนมีเพื่อนเพียงชั่วพริบตา สะท้อนว่า…มนุษย์ไม่ต้องเสียเวลาเรียนรู้กันต่อไปแล้ว การเรียนรู้จะเกิดขึ้นหลังการพบเจอกันครั้งแรก ซึ่งถ้าเพื่อนเที่ยว บริการน่าประทับใจ ลูกค้าก็จะกลับมาใช้บริการบ่อย ๆ หรือทำให้เกิดการสร้างความสัมพันธ์ขึ้นหลังจากนั้น แต่ถ้าหาก ไม่ถูกใจ หรือต่างฝ่ายรู้สึกไม่พอใจกันและกัน การติดต่อกันก็จะยุติอย่างสิ้นเชิง…ซึ่งจุดนี้ก็น่าสนใจ

’ถูกใจกันก็ต่อ“…ถ้า ’ไม่ถูกใจกันก็จบ“
’เพื่อนเช่า-แฟนเช่า“ คง ’ไม่มีหึงโหด“
’มีขอบเขต“ ก็ ’ไม่มีเหตุช็อกสังคม?“.