ข้อมูลจาก กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่าสถานการณ์อุทกภัยถือเป็นภัยที่มีความรุนแรงและก่อเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง พื้นที่เกษตรกรรมหลายจังหวัดได้รับความเสียหาย ก่อให้เกิดการสูญเสียมวลดินที่มีธาตุอาหารพืชและอินทรียวัตถุในดินโดยการชะล้างพังทลายผิวหน้าดิน และเกิดตะกอนพัดพาทับถมในส่วนต่ำของพื้นที่ ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์และความสามารถในการให้ผลผลิตของดินลดลง เกิดความเสื่อมโทรมของดินในที่สุด

จากสภาพน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน ก่อให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย รากพืชเน่า พืชเสียหาย เกิดโรคและแมลง ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนต่อพื้นที่เพาะปลูก ผลผลิต รายได้ สภาพเศรษฐกิจ และสุขภาพอนามัยของประชาชน

จากเหตุการณ์มหาอุทกภัยเมื่อปี 54 ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศ (66 จังหวัด) โดยเฉพาะพื้นที่ข้าวนาปีได้รับผลกระทบอย่างหนัก ปศุสัตว์ล้มตาย และเกิดโรคระบาด ผลของอุทกภัยดังกล่าวทำให้เกษตรกรขาดรายได้ และมีหนี้สิน สินค้าทางการเกษตรขาดแคลนและมีราคาแพง ท้ายที่สุดก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจสูงมาก หน่วยงานภาครัฐจึงมีแผนในการป้องกันบรรเทาภัย และฟื้นฟูพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้ครัวเรือนสามารถรับมือกับภัยน้ำท่วมในอนาคตได้

น่าห่วง! พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 26.8 ล้านไร่

โดยเฉพาะกรมพัฒนาที่ดินได้คาดการณ์พื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ด้วยวิธีการรวบรวมข้อมูลในเชิงพื้นที่ การใช้แผนที่ภาพถ่ายดาวเทียม และระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ พบว่าทั้งประเทศมีพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก 26.8 ล้านไร่ โดยแบ่งออกเป็น 3 พื้นที่คือ

1.พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นครั้งคราว (น้ำท่วมขังไม่เกิน 3 ครั้งในรอบ 10 ปี) ประมาณ 13.5 ล้านไร่ 2.พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากบ่อยครั้ง (น้ำท่วมขัง 4-7 ครั้งในรอบ 10 ปี) ประมาณ 11.7 ล้านไร่ และ 3.พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำ (น้ำท่วมขัง 8-10 ครั้งในรอบ 10 ปี) ประมาณ 1.6 ล้านไร่ โดยพื้นที่มีปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำดังกล่าวประกอบด้วยบางส่วนของ จ.สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร และนครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครศรีธรรมราช พัทลุง ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ กาฬสินธุ์ และนครพนม

สำหรับข้อมูลจากการคาดการณ์ดังกล่าว สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารทรัพยากรน้ำเชิงนโยบายได้ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ดังนั้นกรมพัฒนาที่ดินซึ่งมีหน้าที่หนึ่งในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการนำองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อพื้นที่เกษตรกรรม โดยเน้นหลักการบริหารเพื่อเพิ่มความสามารถของเกษตรกรในการปรับตัวให้เข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และลดอันตรายหรือความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากน้ำท่วมซ้ำซาก ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว

เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้นและมีฝนตกชุก ปัญหาการพังทลายของดินและการตกตะกอนของอนุภาคดินเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ในพื้นที่เกษตรที่ไม่มีสิ่งปกคลุมหน้าดิน เมื่อโดนเม็ดฝนตกกระทบ เม็ดดินจะแตกออกเป็นอนุภาคดินและแขวนลอยไปกับน้ำที่ไหลบ่า ถ้าเป็นอนุภาคขนาดใหญ่เท่าเม็ดทรายอาจตกจมบริเวณใกล้ ๆ แต่หากมีอนุภาคขนาดเล็กมาก เช่น อนุภาคดินเหนียวที่มีขนาดตั้งแต่ 2 ไมโครเมตรลงไป จะแขวนลอยไปได้ไกลจนกว่าน้ำจะหยุดไหล และไปทับถมในพื้นที่ที่ต่ำกว่า อนุภาคดินเหล่านี้ดูดซับสารต่าง ๆ เอาไว้ เช่น ธาตุอาหาร และสารเคมี ส่วนของเสียจากบ้านเรือน ฟาร์มปศุสัตว์และโรงงานจะไหลปนมากับน้ำและตกตะกอนในพื้นที่ต่ำกว่าที่น้ำท่วมขัง

สูญเสียดินคิดเป็นค่าปุ๋ย 8.4 พันล้านบาท/ปี

โดยปริมาณตะกอนดินที่ทับถมกันในพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังสามารถประเมินคร่าว ๆ ได้จากอัตราการสูญเสียดิน จากการชะล้างพังทลาย ซึ่งอัตราการสูญเสียดินของแต่ละภูมิภาคแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับลักษณะของดิน ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ พืชพรรณที่ขึ้นปกคลุมพื้นที่ และมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำ

ทั้งนี้ภาคใต้มีการชะล้าง พังทลายของดินรุนแรงที่สุด พื้นที่ส่วนใหญ่มีการสูญเสียดินอยู่ระหว่าง 0-50 ตัน/ไร่/ปี รองลงมาคือ ภาคเหนือ 0-38 ตัน/ไร่/ปี ภาคกลางมีค่าการสูญเสียดินระหว่าง 0-17 ตัน/ไร่/ปี ภาคตะวันออกมีค่าการสูญเสียดินระหว่าง 0-16 ตัน/ไร่/ปี ภาคตะวันตกมีค่าการสูญเสียดินระหว่าง 0-10 ตัน/ไร่/ปี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการสูญเสียดินต่ำที่สุด มีค่าระหว่าง 0-4 ตัน/ไร่/ปี

เมื่อนำอัตราการสูญเสียดินมาประเมินเป็นมูลค่าการสูญเสียธาตุอาหารพืชในตะกอนดินที่ถูกชะล้างทั่วประเทศ โดยแสดงในรูปของปุ๋ย จะมีมูลค่าสูงถึง 8,468.5 ล้านบาท/ปี คิดเป็นการสูญเสียในรูปของปุ๋ยยูเรีย 1,293.6 ล้านบาท/ปี ปุ๋ยทริปเปิลซูเปอร์ฟอสเฟต 2,337.5  ล้านบาท/ปี และปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ 4,837.4 ล้านบาท/ปี เมื่อพิจารณาผลกระทบเป็นองค์รวมพบว่าการทับถมของตะกอนดินในพื้นที่เพาะปลูก มีผลกระทบต่อระบบ สิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง อาทิ ตะกอนดินที่สะสมอยู่ในแหล่งน้ำหรือพื้นที่ต่ำกว่า ทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน และปัญหาน้ำท่วมฉับพลันสร้างความเสียหายให้กับพืช

กำหนด 2 ระยะช่วยเหลือเกษตรกร

ทางด้าน น.ส.เบญจพร ชาครานนท์ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่าจากปัญหาน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากในหลายจังหวัด สร้างความเสียหายต่อพื้นที่การเกษตร ดังนั้นกรมพัฒนาที่ดินจึงเร่งให้ความช่วยเหลือ โดยกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย เพื่อฟื้นฟูดินและช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความผลกระทบเป็น 2 ระยะ คือ 1.ระยะประสบอุทกภัย ให้สำนักงานพัฒนาที่ดินเขตและสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัด ประเมินสถานการณ์ จัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบอุทกภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลจัดการดิน พืช และน้ำภายหลังน้ำลดให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ สำหรับพื้นที่น้ำท่วมขังนาน อาจทำให้น้ำเน่าเสีย เกิดลูกน้ำและยุง ส่งผลเสียต่อสุขภาพอนามัยประชาชน แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีชีวภาพ สารเร่ง “ซุปเปอร์ พด.6” ซึ่งมีประสิทธิภาพในการย่อยสลายขยะสด ช่วยบำบัดน้ำเน่าเสียและขจัดกลิ่นเหม็นจากเศษอาหารเหลือทิ้งในครัวเรือน

2. ระยะหลังน้ำลดหรือหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย ได้เตรียมพร้อมช่วยเหลือและกำหนดแนวทางโดยให้หน่วยพัฒนา ที่ดินจังหวัด เร่งสำรวจพื้นที่ของเกษตรกร เพื่อปรับพื้นที่ให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้โดยเร็วที่สุด กำหนดแนวทางให้ความรู้ทางวิชาการการฟื้นฟูหลังน้ำลด ให้คำแนะนำการใช้สารเร่ง “ซุปเปอร์ พด.” ต่าง ๆ เมล็ดปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยหมัก และปุ๋ยชีวภาพ ในการช่วยบำรุงฟื้นฟูสภาพดินหลังน้ำลดลง รวมทั้งแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรตามชนิดพืชที่ปลูก โดยเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถขอรับบริการสารเร่งซุปเปอร์ พด.6 ได้ที่สำนักงานพัฒนาที่ดินในเขต 1-12 สถานีพัฒนาที่ดินทุกจังหวัด หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่กองเทคโนโลยีชีวภาพทางดิน กรมพัฒนาที่ดิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ

ดินดำน้ำชุ่ม-ปัญหาเช่าที่ทำการเกษตร

รศ.ดร.เสาวนุช ถาวรพฤกษ์ หัวหน้าภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กล่าวว่าผลกระทบต่อพื้นที่เพาะปลูกที่ถูกน้ำท่วม ที่มีต่อพืชที่ปลูกจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาของการถูกน้ำท่วม รวมทั้งชนิดและช่วงอายุของพืชที่กำลังเจริญเติบโตอยู่ในขณะนั้น เช่น พื้นที่ปลูกข้าวที่ยังไม่ถึงช่วงออกรวง แล้วมีน้ำท่วมประมาณ  1 สัปดาห์ ต้นข้าวอาจจะไม่ตาย และมีแนวโน้มที่จะให้ผลผลิตต่อไปได้ ความเสียหายก็ไม่มาก แต่ถ้าต้นข้าวอยู่ในระยะออกรวงแล้วกำลังสุกใกล้จะเก็บเกี่ยวได้ ถ้าน้ำท่วม 1 สัปดาห์ ความเสียหายจะเกิดขึ้นได้มาก เนื่องจากเมื่อเก็บข้าวแล้วอาจจะไม่มีที่ตาก

ส่วนกรณีที่เป็นที่ดินว่างเปล่า เพราะเก็บเกี่ยวผลผลิตไปแล้ว น่าจะเป็นผลดีเพราะน้ำท่วมจะพาซากพืช และตะกอนจากต้นน้ำมาทับถม ซึ่งตะกอนเหล่านี้มีประโยชน์ มีแร่ธาตุอาหารพืชอยู่มาก หรือที่เราคุ้นหูกันว่า “ดินดำ น้ำชุ่ม”

โดยปกติเกษตรกรจะเข้าใจธรรมชาติของพื้นที่อยู่แล้ว ดังนั้นจึงมีการวางแผนการปลูกพืช คือปลูกให้ทันน้ำ ต้องเก็บเกี่ยวก่อนที่น้ำจะมา ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลุ่ม หรือที่ราบน้ำท่วม ตรงนี้จะไม่ค่อยได้รับผลกระทบเหมือนพื้นที่ดอน หรือพื้นที่ลาดชันซึ่งไม่มีพืชปกคลุม เมื่อน้ำมาเร็วไปเร็ว จะพัดพาหน้าดินไป เกิดการพังทลายของหน้าดิน เมื่อน้ำไปแล้วจึงต้องฟื้นฟูสภาพดินให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก

ปัญหาการทำเกษตรของบ้านเราขณะนี้มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ 1.เจ้าของที่ดินทำเอง 2.เช่าที่ดินทำ ถ้าเป็นเจ้าของดินก็อยากปรับปรุงบำรุงดินให้ดีตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่หรือผู้เชี่ยวชาญ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการเช่าที่ดินทำเกษตรกันมากกว่า โดยเช่าจากนายทุนที่ไม่ต้องการเสียภาษีที่ดินว่างเปล่า จึงนำมาปล่อยเช่าทำการเกษตร ส่วนคนเช่าจะไม่ปรับปรุงบำรุงดิน เพราะคิดว่าเป็นภาระ ตรงไหนดินเปรี้ยว ดินเป็นกรด เคยไปแนะนำให้ใส่ปูน ใส่ปุ๋ยสูตรต่าง ๆ ก็ไม่สนใจ เพราะคิดว่าไม่ใช่ที่ดินของเขา ไม่อยากเป็นภาระ สุดท้ายต้องใส่ปุ๋ยเคมีในปริมาณมากขึ้นทุกปี ต้นทุนต่อไร่สูงขึ้น กำไรจึงเหลือน้อย.