ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวชาวอินเดียจำนวนมาก หันไปประกอบอาชีพบนสื่อสังคมออนไลน์ หลังลาออกจากสำนักข่าวหรือสื่อที่พวกเขาทำงานให้ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าของบริษัทไม่กี่ราย ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลนิวเดลี ส่งผลให้พวกเขาสามารถตั้งคำถามสำคัญต่อรัฐบาล และหยิบยกประเด็นที่ไม่สามารถพูดถึงได้ก่อนหน้านี้ ท่ามกลางเสรีภาพสื่อในประเทศ ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

กระนั้น ร่างกฎหมายกำกับดูแลบริการแพร่ภาพกระจายเสียง ฉบับปี 2567 ซึ่งครอบคลุมการออกอากาศผ่านอินเทอร์เน็ต (โอทีที) ในกลุ่มผู้ให้บริการรายอื่น ก่อให้เกิดความกังวลเป็นพิเศษ เนื่องจากคำจำกัดความของ “ผู้ประกาศข่าวดิจิทัล” (ดีเอ็นบี) ที่คลุมเครือ และ “ภาระการกำกับดูแล” ที่บังคับใช้กับพวกเขา”

อนึ่ง ร่างกฎหมายฉบับใหม่กำหนดให้ดีเอ็นบี เป็นบุคคลที่ผลิตเนื้อหา หรือเขียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ปัจจุบัน หรือข่าวอื่น ๆ ทางออนไลน์ รวมถึงช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ตามส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางธุรกิจ, ทางวิชาชีพ หรือเชิงพาณิชย์อย่างเป็นระบบ ซึ่งคำจำกัดความที่กว้างเช่นนี้ อาจรวมถึงอินฟลูเอนเซอร์ด้านฟิตเนส ที่พูดถึงนโยบายด้านสุขภาพและโภชนาการของรัฐบาลด้วย

ดีเอ็นบีจะต้องแจ้งสถานะของพวกเขาให้รัฐบาลทราบ ภายในหนึ่งเดือนนับจากวันประกาศใช้กฎหมาย ตลอดจนแต่งตั้งเจ้าหน้าที่จัดการเรื่องร้องเรียนภายใน และเข้าร่วมองค์กรกำกับดูแลตนเองที่จัดตั้งขึ้นตามกฎของรัฐบาล โดยผู้ที่ฝ่าฝืนอาจได้รับคำเตือน และถูกปรับตั้งแต่ 20,000 รูปีอินเดีย (ราว 8,400 บาท) ไปจนถึง 25 ล้านรูปีอินเดีย (ราว 10.5 ล้านบาท)

ความพยายามของรัฐบาลนิวเดลี ในการยกระดับการควบคุมเนื้อหาออนไลน์ เกิดขึ้นในช่วงที่ชาวอินเดียรุ่นใหม่จำนวนมาก หันมาติดตามข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ แทนหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ซึ่งนักข่าวบางคนมองว่า รัฐบาลตระหนักถึงอำนาจของอินฟลูเอนเซอร์และสื่อสังคมออนไลน์ “เป็นอย่างดี” และต้องการควบคุมอำนาจนั้น

ทั้งนี้ ร่างกฎหมายฉบับเดิมซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว ถูกแทนด้วยฉบับปัจจุบัน แต่การปรึกษาหารืออย่างลับ ๆ และจังหวะการเปิดเผยร่างกฎหมายฉบับแก้ไขต่อสาธารณชน ซึ่งเกิดขึ้นไม่นานหลังการเลือกตั้งทั่วไปสิ้นสุดลง ทำให้เกิดกรคาดเดาว่า ร่างกฎหมายฉบับใหม่นี้ อาจเป็นความพยายามของรัฐบาลอินเดีย ที่ต้องการจำกัดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทางออนไลน์

นอกจากนี้ มีความกังวลว่า การควบคุมของรัฐบาลตามที่ระบุไว้ในร่างกฎหมาย อาจทำให้คนหนุ่มสาวชาวอินเดีย ไม่สามารถหารายได้จากการเป็นผู้สร้างคอนเทนต์ในเศรษฐกิจที่ขาดแคลนตำแหน่งงาน จนถึงขั้นอาจขัดขวางการเติบโตของธุรกิจสื่อออนไลน์ได้.

เลนซ์ซูม

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES