ชีวิตเด็กๆ ที่ครอบครัวยากจนอาศัยอยู่ตามจังหวัดต่างๆ หลังโควิด-19 ระบาด รัฐบาลสั่งให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์ น้องๆ หนูๆ ต้องนั่งเรียนอยู่ที่บ้าน หลายคนน่าสงสารเพราะบางบ้านมีโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวเท่านั้น!! แต่พ่อแม่มีลูกหลายคน ซึ่งเรียนอยู่กันคนละชั้น พี่ต้องเสียสละโทรศัพท์มือถือให้น้องได้เรียน หรือต้องสลับกันใช้ทำให้เรียนกันได้ไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย..

อย่างเช่นชีวิตของเด็กรักดีใฝ่เรียนคนนี้ ด.ช.มหาสมุทร ทองดี หรือ “น้องขอบคุณ” อายุ 9 ขวบ นักเรียนชั้น ป.4 โรงเรียนบ้านโตก ต.บ้านโตก อ.เมืองเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ อาศัยอยู่บ้านหลังเล็กๆ กับครอบครัวซึ่งอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียนมากนัก

“น้องขอบคุณ” เป็นลูกคนโต มีน้อง 2 คน เรียนอยู่ชั้น ป.3 และ ป.2 ครอบครัวยากจน คุณแม่คือ นางสาวกันติชา ทองดี อายุ 30 ปี ต้องทำหน้าที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เดิมทีมีอาชีพเป็นนักร้อง แต่พอโรคโควิดระบาดไม่มีงานทำจึงต้องหันมารับจ้างหาเช้ากินค่ำ ได้ค่าแรงวันละ 250-300 บาท เลี้ยงทั้งครอบครัว 5 ชีวิต ทั้งสามพี่น้องอยู่บ้านกันทุกวัน มี นางสมพร เอมสวัสดิ์ อายุ 63 ปี ผู้เป็นยายคอยดูแล ทุกคนเป็นเด็กดี ขยันขันแข็งช่วยงานบ้าน จะมีซุกซนบ้างก็เป็นไปตามวัย

ครอบครัวนี้มีโทรศัพท์มือถืออยู่ 2 เครื่อง เป็นของแม่และยาย กลางวันแม่ออกไปทำงานจะนำโทรศัพท์มือถือติดตัวไปด้วยเผื่อว่าหากทางบ้านมีเรื่องอะไรจะได้ติดต่อกัน ส่วนของยาย เด็กๆ ก็นำมาใช้เรียนออนไลน์ แต่ปัญหาคือจะเรียนพร้อมกันไม่ได้เพราะอยู่กันคนละชั้น

ด้วยความที่เป็นพี่คนโต น้องขอบคุณ จึงเลือกที่จะเสียสละให้น้อง 2 คน สลับกันเรียน พอตกเย็นแม่กลับจากทำงานน้องขอบคุณจึงได้ใช้โทรศัพท์แม่พูดคุยกับเพื่อนๆ เพื่อสอบถามเรื่องเรียนและติดตามงานการบ้านที่ครูสั่ง ก่อนจะรีบทำเพื่อส่งครูตอนค่ำมืดจนครบไม่มีขาด

เรื่องนี้ทำคุณครูที่โรงเรียนต่างแปลกใจอย่างมาก เนื่องจากน้องขอบคุณไม่ได้เข้าเรียนออนไลน์เหมือนเด็กคนอื่นๆ แต่กลับมีงานและการบ้านส่งครูตลอด!! ด้วยความสงสัย น.ส.กรชนก อยู่ถมสังข์ ครูประจำชั้น ป.3 จึงได้โทรฯ ไปสอบถามแม่น้องขอบคุณและทราบถึงความจำเป็นต่างๆ ที่เด็กต้องขาดเรียน..

หลังจากนั้น ครูกรชนก ไม่รอช้านำเรื่องราวของน้องขอบคุณและเด็กๆ อีกหลายคนที่ขาดแคลนโทรศัพท์มือถืออุปกรณ์สำคัญในการเรียนออนไลน์ไปโพสต์ในโซเชียลเพื่อขอรับบริจาคจากโทรศัพท์มือถือทั้งใหม่และเก่า หรือแม้แต่เครื่องที่เสียหายก็ขอรับเพื่อนำไปซ่อมแซมส่งต่อให้หนูน้อยที่ขาดแคลน ซึ่งมีเสียงตอบรับจากเพื่อนๆ ครูหลายคน ร่วมบริจาคแท็บเล็ตและมือถือมาให้

ต่อมา นางนงลักษณ์ ทาสาย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโตก และ น.ส.กรชนก อยู่ถมสังข์ ครูประจำชั้น ป.3 ได้นำแท็บเล็ต 1 เครื่อง เดินทางไปมอบให้น้องขอบคุณถึงที่บ้าน ท่ามกลางความดีใจของยายและเด็กๆ สามพี่น้อง หลังมีแท็บเล็ตเป็นของตัวเอง น้องขอบคุณ ดีใจโผเข้ากอดครูกรชนกทันที ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่นั่งลูกคลำเปิดดูแอพพลิเคชั่นต่างๆ พร้อมพรั่งพรูออกมาว่า “จากนี้จะได้เรียนออนไลน์เหมือนเพื่อนคนอื่นแล้ว ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีที่บริจาคมาให้ ผมสัญญาว่าจะตั้งใจเรียน และจะเป็นเด็กดีครับ”

ครูกรชนก กล่าวว่า หลังใช้ระบบการเรียนการสอนออนไลน์ ปัญหาที่พบคือเด็กบางรายที่ผู้ปกครองไปทำงานและมีความจำเป็นต้องนำโทรศัพท์ติดไปด้วย จึงทำให้นักเรียนไม่ได้เข้าเรียน ไม่นานมานี้สังเกตว่ามีนักเรียนคนหนึ่งเมื่อก่อนเวลาเข้าเรียนออนไลน์ก็จะถามและตอบครูอยู่เป็นประจำ แต่ต่อมากลับเงียบหายไปหลายวัน จึงได้โทรศัพท์ไปหาผู้ปกครอง และทราบว่าโทรศัพท์ตกพื้นจนเครื่องเสียแต่ไม่มีเงินซ่อม ตนเห็นว่าเด็กคนดังกล่าวมีความตั้งใจเรียน อีกทั้งบ้านมีฐานะยากจนจึงคิดหาทางช่วยเหลือโดยการโพสต์ขอรับบริจาคจากเพื่อนๆ ปรากฏว่ามีคนบริจาคมือถือแท็บเล็ตมาให้หลายเครื่อง

“ส่วนใหญ่มือถือแท็บเล็ตที่ได้มาจะสภาพดีมาก บางเครื่องอาจจะมีปัญหาเล็กน้อยก็จะนำไปซ่อมแซมจนใช้ได้ ก่อนจะนำไปมอบให้กับเด็กๆ นอกจากนี้ครูยังได้ทำการสอนซ้ำให้กับนักเรียนทุกวันในช่วง 2 ทุ่ม เพื่อให้นักเรียนที่พลาดโอกาสเรียนในตอนกลางวันได้เรียนเหมือนเพื่อนๆ และให้ได้ความรู้อย่างเต็มที่ ครูรักนักเรียนทุกคนเหมือนลูกหลาน อยากให้ทุกคนเติบโตมามีความรู้และมีอนาคตที่ดี”

ด้านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโตก กล่าวว่า ครูกรชนกได้มาปรึกษาเป็นห่วงนักเรียนที่ไม่มีมือถือแท็บเล็ตใช้เรียนออนไลน์ และจะขอรับบริจาคจากเพื่อนๆ เพื่อนำไปมอบให้นักเรียนที่ขาดแคลน ตนจึงเห็นชอบด้วย แต่ทั้งนี้การที่จะมอบให้เด็กนักเรียนนั้น จะต้องดูความประพฤติของเด็กว่ามีความสนใจหรือตั้งใจเรียนจริง รวมทั้งมีฐานะยากจนจริงหรือไม่ และเมื่อมอบให้แล้วก็ได้ทำข้อตกลงกับผู้ปกครองและเด็กๆ ว่า หากไม่ตั้งใจเรียนหรือนำไปใช้ในทางที่ผิด ก็จะขออุปกรณ์คืนเพื่อนำไปมอบให้แก่เด็กคนอื่นใช้ประโยน์ต่อไป

คอลัมน์ : นิยายชีวิต โดย : อสงไขย

เรื่องและภาพโดย : กิตติ ตันติมาลา จ.เพชรบูรณ์

แนะนำเรื่องราวชีวิตดั่งนิยาย หรือสอบถามได้ที่ [email protected]

[[คลิก]] อ่านเรื่องราว “นิยายชีวิต” เพิ่มเติมได้ที่นี่..