โรค ITP หรือ immune thrombocytopenia คือ โรคเกล็ดเลือดต่ำทางภูมิคุ้มกัน เกิดจากภาวะในร่างกายไปกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้เข้าโจมตีเกล็ดเลือดของตัวเอง ทำให้เกล็ดเลือดมีระดับลดลง เกล็ดเลือดเป็นเซลล์เม็ดเลือดชนิดหนึ่งมีขนาดเล็กทำหน้าที่ห้ามเลือด เมื่อมีการฉีกขาดของหลอดเลือด เกล็ดเลือดจะทำการอุดบาดแผลและกระตุ้นการสร้างลิ่มเลือดเพื่อให้เลือดหยุด ดังนั้นหากเกล็ดเลือดมีจำนวนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจึงมีอาการเลือดออกง่ายหยุดยากเกิดขึ้น

โรค ITP ในเด็กส่วนใหญ่มักไม่เรื้อรัง ภูมิคุ้มกันที่ทำลายเกล็ดเลือดมักหายไปได้เองภายใน 6 เดือนถึง 1 ปี ส่วนน้อยเท่านั้นที่มีเกล็ดเลือดต่ำนานเกิน 1 ปี ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีเกล็ดเลือดต่ำเรื้อรังอยู่นานหลายปีกว่าจะกลับมามีระดับเกล็ดเลือดปกติ หรือบางราย (ส่วนน้อยมาก) กลายเป็นโรคทางภูมิคุ้มกันอื่นๆ เช่น โรคเอสแอลอี (SLE)

จุดเลือดออก (petechiae)

อะไรคือสัญญาณและอาการของโรค?

อาการเลือดออกง่ายในเด็กที่ไม่เคยมีปัญหาด้านนี้มาก่อน เช่น:

                   •   จุดเลือดออกใต้ผิวหนัง (petechiae) หรือจ้ำเลือดตามตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งร่องรอยดังกล่าวเกิดในจุดที่ไม่มีการกระทบกระแทก หรือเกิดขึ้นหลายตำแหน่งพร้อมกัน

                   •   เลือดกำเดาไหลบ่อยหรือนานเกิน 10 นาที

                   •   เลือดออกผิดปกติในช่องปาก บ่อยหรือนานเกิน 10 นาที

                   •   จ้ำเลือดในช่องปาก (wet purpura)

                   •   เลือดออกในอุจจาระ หรือ ปัสสาวะ

                   •   ประจำเดือนมามากและนานขึ้น (ในเด็กผู้หญิง)

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP?

                   –   เกิดตามหลังการติดเชื้อไวรัสหรือวัคซีน เช่น วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม: ปกติแล้วภายหลังจากการติดเชื้อไวรัสหรือการได้รับวัคซีนประมาณ 2-4 สัปดาห์ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันสำหรับป้องกันการติดเชื้อในอนาคต แต่ผู้ป่วย ITP ภูมิต้านทานที่สร้างขึ้นไปโจมตีเกล็ดเลือดของตัวเองและแสดงอาการในช่วงเวลาดังกล่าว

                   –   เกิดจากโรคภูมิคุ้มกันผิดปกติ เช่น โรค SLE หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (พบน้อยมาก)

อย่างไรก็ดีผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีประวัติชัดเจนและไม่สามารถระบุได้ว่าอะไรเป็นสาเหตุกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเกล็ดเลือด 

จ้ำเลือดในช่องปาก (wet purpura)

เด็กกลุ่มไหนที่เป็นโรค?

ส่วนใหญ่เกิดในเด็กอายุ 1-7 ปี แต่ก็สามารถเกิดได้ในเด็กโตและวัยรุ่น โดยปกติจะเป็นเด็กที่สุขภาพแข็งแรงดีมาก่อน

โรคเกล็ดเลือดต่ำ ITP วินิจฉัยได้อย่างไร?

วินิจฉัยได้ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกายและตรวจเลือด เพื่อดูปริมาณและรูปร่างของเกล็ดเลือด ตรวจสอบให้แน่ใจว่าจำนวนเม็ดเลือดอื่นๆ (เซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์เม็ดเลือดขาว) เป็นปกติ รวมทั้งตรวจเพื่อคัดแยกสาเหตุอื่นๆของภาวะเกล็ดเลือดต่ำออกไป

โรคเกล็ดเลือดต่ำ  ITP มีการรักษาอย่างไร?

การรักษาขึ้นกับความรุนแรงของอาการ (ไม่ขึ้นกับระดับเกล็ดเลือด) เนื่องจากเป็นโรคที่ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่สามารถหายได้เองเมื่อภูมิต้านทานต่อเกล็ดเลือดหมดไป การรักษาเป็นเพียงการเพิ่มระดับเกล็ดเลือดขึ้นชั่วคราว (เมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น) เพื่อหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนจากยาเพิ่มเกล็ดเลือด เด็กที่มีเพียงรอยช้ำและจุดเลือดออกที่ผิวหนังอาจไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใดๆ แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาในผู้ป่วยที่มีอาการมากหรือมีผลต่อคุณภาพชีวิต

                   เมื่อจำเป็น การรักษาได้แก่:

                   •  ยาที่ออกฤทธิ์ยับยั้งภูมิต้านทานไม่ให้โจมตีเกล็ดเลือด เช่น:

                        – ยากลุ่มสเตียรอยด์

                        – ยา IVIG (ภูมิต้านทานชนิดอิมมูโนโกลบูลิน G ทางหลอดเลือดดำ)

                   •   ยาที่ช่วยให้ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดมากขึ้น

                        – ยา eltrombopag

                   •   การผ่าตัดเอาม้ามออก เนื่องจากม้ามเป็นอวัยวะที่ทำลายเกล็ดเลือด  การรักษานี้จะทำเฉพาะเมื่อผู้ป่วยมีอาการร้ายแรงซึ่งไม่ดีขึ้นเมื่อรักษาด้วยวิธีอื่นๆเท่านั้น

บทบาทของพ่อแม่ในการดูแลเด็กที่ป่วยเป็นโรค ITP 

                   •   หลีกเลี่ยงกิจกรรมหรือกีฬาที่มีการกระทบกระแทกหรือเลือดออกได้ง่าย เช่น กิจกรรมโลดโผน การขี่จักรยานปรับสิ่งแวดล้อมในบ้าน ป้องกันการกระทบกระเทือน ระวังการพลัดตก หกล้ม

                   •   ใช้แปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม เพื่อลดเลือดออกในช่องปาก

ระวังการติดเชื้อ เพราะอาจจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันทำให้เกล็ดเลือดต่ำลงได้

                   •   หลีกเลี่ยงยาที่มีผลยับยั้งการทำงานของเกล็ดเลือด เช่น ลดไข้สูงประเภทแอสไพรินและ ibuprofen  (JunifenÒ, NurofenÒ) และการทานยาประเภทอื่นๆ ควรอยู่ภายใต้คำสั่งเแพทย์

ผู้ป่วยเด็กส่วนใหญ่ระดับเกล็ดเลือดจะฟื้นตัวในเวลาไม่กี่เดือน ผู้ปกครองควรพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนระยะยาวต่อผู้ป่วย      

ข้อมูลจาก รศ.นพ.นัทธี นาคบุญนำ สาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

นายแพทย์สุรพงศ์  อำพันวงษ์

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่