ทั้งนี้ เกิดเหตุวิทยุสื่อสารระเบิดพร้อมกัน ในพื้นที่หลายแห่งของเลบานอน เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไม่ต่ำกว่า 20 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 450 คน ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์
ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงในกลุ่มฮิซบอลเลาะห์กล่าวว่า การระเบิดส่วนใหญ่เกิดขึ้นตามฐานที่มั่นของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน คือในภาคใต้ ภาคตะวันออก และบางเขตของกรุงเบรุต โดยวิทยุสื่อสารยังคงเป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ใช้ติดต่อกัน
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงวันเดียว หลังเพจเจอร์หลายพันเครื่องที่มีการใช้งานในเลบานอน ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สื่อสารที่กลุ่มฮิซบอลเลาะห์นิยมใช้เช่นกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการดักสัญญาณจากอิสราเอล ระเบิดพร้อมกัน เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ รวมถึงเด็กหญิงวัย 10 ปี ที่เป็นบุตรสาวของหนึ่งในสมาชิกกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บมากกว่า 2,800 คน
ด้านนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) เรียกร้องคู่กรณีทุกฝ่ายอดกลั้น และหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน ส่วนนายจอห์น เคอร์บีย์ โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ กล่าวว่า การยกระดับหรือขยายขอบเขตปฏิบัติการทางทหาร ไม่อาจช่วยคลี่คลายความขัดแย้งและวิกฤติทั้งหมดได้
จนถึงตอนนี้ อิสราเอลยังปฏิเสธให้ความเห็นอย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ผู้นำอิสราเอล กล่าวว่า คณะรัฐมนนตรีความมั่นคงทางการเมืองมีมติ “ขยายเป้าหมายสงคราม” ว่านอกเหนือจากการกวาดล้างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา พรมแดนทางเหนือของอิสราเอลที่ติดกับเลบานอน “ต้องปลอดภัย” เช่นกัน เพื่อให้ประชาชนที่อพยพออกไปก่อนหน้านั้น สามารถกลับเข้าไปอาศัยได้ตามเดิม
ส่วนนายโยอาฟ กัลลันต์ รมว.กระทรวงกลาโหมอิสราเอล กล่าวว่า “แรงโน้มถ่วงของสงครามเหวี่ยงไปทางเหนือของอิสราเอลแล้ว” ขณะที่อิหร่านซึ่งเป็นพันธมิตรกับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ ประณามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “เป็นการก่อการร้ายของรัฐไซออนิสต์” ซึ่งเป็นคำที่อิหร่านใช้เรียกแทนอิสราเอล
อีกด้านหนึ่ง บริษัทโกลด์ อะพอลโล ของไต้หวัน และบริษัทบีเอซี คอนซอลติง เคเอฟที ซึ่งเป็นพันธมิตรในฮังการีของโกลด์ อะพอลโล ต่างออกมาปฏิเสธ ว่าเป็นผู้ผลิตเพจเจอร์ที่ระเบิดในเลบานอน ส่วนบริษัท “ไอคอม” ของญี่ปุ่น กล่าวว่า “กำลังตรวจสอบอย่างละเอียด” หลังปรากฏว่า มีตราสัญลักษณ์ของบริษัทอยู่บนวิทยุสื่อสารของกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ที่เกิดการระเบิด และชี้แจงในเบื้องต้นว่า วิทยุสื่อสารดังกล่าวเป็นรุ่น “ไอซี-วี82” ซึ่งบริษัทผลิตเองจริง และส่งออกไปยังภูมิภาคตะวันออกกลาง ระหว่างปี 2547 จนถึงเดือนต.ค. 2557 และนับจากนั้นเป็นต้นมา บริษัทไม่เคยผลิตและส่งออกสินค้ารุ่นนี้อีก
กรณีที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลต่อสภาพจิตใจ ต่อประชาชนในเลบานอนอย่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ แน่นอนว่าโดยเฉพาะกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ อย่างไรก็ดี สำหรับหลายฝ่ายโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานข่าวกรอง เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ชื่อของ “หน่วย 8200” กลับมาเป็นที่จับตาและกล่าวถึงอีกครั้ง ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวถือเป็น “หน่วยข่าวกรองระดับหัวกะทิ” ของกองทัพอิสราเอล และเคยมีรายงานว่า ตลอดระยะเวลานานเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา บุคลากรของหน่วยงานซุ่มวางแผนการหลายอย่าง เพื่อใช้กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์โดยเฉพาะ
แหล่งข่าวระดับสูงคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า หนึ่งในโครงการที่หน่วย 8200 กำลังพัฒนาและมีการทดสอบอยู่เป็นระยะ รวมถึงการหาวิธีติดตั้งระเบิดภายในอุปกรณ์สื่อสาร ตั้งแต่เมื่ออุปกรณ์นั้นยังอยู่ในกระบวนการผลิต
สำหรับสมาชิกส่วนใหญ่ในหน่วย 8200 ยังคงเป็นบุคลากรหนุ่มสาว และผ่านการคัดเลือกเป็นรายบุคคลจากผู้บังคับบัญชา หน่วยงานแห่งนี้มีความสำคัญอย่างมากต่อโครงสร้างความมั่นคงกลาโหมของอิสราเอล ในระดับที่เป็น “แกนกลาง” ไม่ต่างจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐ ( เอ็นเอสเอ )
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลและกองทัพอิสราเอลแทบไม่เคยกล่าวถึง “การมีตัวตน” ของหน่วย 8200 แต่ยอมเอ่ยถึงครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2561 ว่าหน่วยงานแห่งนี้มีบทบาทสำคัญอย่างมาก กับปฏิบัติการสกัดการโจมตีของกลุ่มไอเอส ที่มีเป้าหมายคือ “ประเทศตะวันตกแห่งหนึ่ง” ด้วยการ “โจมตีตอบโต้ทางเทคโนโลยี”
นอกจากนี้ รายงานหลายกระแสยังระบุไปในทางเดียวกัน ว่าหน่วย 8200 ยังมีความเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการหลายครั้งนอกอิสราเอล รวมถึง การโจมตีทางไซเบอร์เพื่อขัดขวาง และสร้างความขัดข้องให้กับการทำงานของเครื่องหมุนเหวี่ยงสำหรับเสริมสมรรถนะยูเรเนียมในอิหร่าน
อย่างไรก็ตาม ผู้บัญชาการหน่วย 8200 ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อต้นเดือนก.ย. ที่ผ่านมา เพื่อแสดงความรับผิดชอบ ต่อความล้มเหลวด้านข่าวกรอง จนปล่อยให้กลุ่มฮามาสสามารถจู่โจมออกจากฉนวนกาซา เข้ามาก่อการร้ายในภาคใต้ของอิสราเอล
ขณะเดียวกัน การทำงานของหน่วย 8200 ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในแวดวงข่าวกรอง ว่าต้องเป็น “การคิดนอกกรอบ” และเจ้าหน้าที่ทุกระดับผ่านการฝึกฝนเป็นอย่างดี ในการจัดการและเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ “ที่ไม่เคยประสบมาก่อน”
ส่วนวัฒนธรรมการทำงาน ที่รวมถึงการปลูกฝังแนวคิดการทำงานให้กับเจ้าหน้าที่ทุกระดับของหน่วย 8200 นั่นคือ “ต้องทำให้ได้” และ “ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้”.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP