รัฐธรรมนูญที่ดี กฎหมายที่ได้มาตรฐาน จะต้องไม่เปิดช่องให้ใครก็ตามใช้ “ดุลพินิจ” อย่างไม่มีขอบเขต และไม่มีมาตรฐาน

พยัคฆ์น้อย” จั่วหัวขึ้นมาแบบนั้น หลังจากมีข่าวพรรคการเมืองต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) เป็นรายมาตรา โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

แต่การเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราในเรื่องจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ในช่วงนี้น่าจะเป็นไปได้ยาก! เพราะ สส.ในสภากำลังเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับอยู่แล้ว

โดยต้องเดินหน้าไปสู่การทำ “ประชามติ” ซึ่งขณะนี้กฎหมายประชามติได้ผ่านชั้น สส. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สว. คงอีกไม่นานจะมีการบังคับใช้

ถ้าประชามติผ่านความเห็นชอบของประชาชนทั้งประเทศ น่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะเป็นวิธีการที่ทำให้คนในสังคมเกิดการยอมรับในกติกาการอยู่ร่วมกัน

เมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญไปถึงมือ ส.ส.ร. แล้ว! ก็ควรถือโอกาสเดินตามรอยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 60 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 59 ที่มีการยัด “คำถามพ่วง” ให้ สว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีเข้ามาด้วย!

แต่เที่ยวนี้ขอให้ ส... ช่วยใส่ “คำถามพ่วง” มาให้ประชาชนออกเสียงประชามติด้วยว่าเห็นควรยุบ! หรือไม่ควรยุบ! ศาลรัฐธรรมนูญ

ส่วนมาตราที่เกี่ยวข้องกับจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้ง สว.-สส.-รัฐมนตรี-นายกรัฐมนตรี ถ้ายังต้องการให้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ก็ต้องวางกรอบไว้ให้ชัดเจน

จริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต ควรให้หน่วยงานไหนเป็นคนชี้ จะเริ่มนับตั้งแต่เมื่อไหร่? จริยธรรมความซื่อสัตย์สุจริตควรเริ่มนับหนึ่งเมื่อเริ่มเข้าสู่ตำแหน่ง! หรือว่าจะเอาเรื่องจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตย้อนหลังไปไกล แม้ว่าจะเกิดเรื่องราว 10-20 ปี ผ่านมาแล้ว!

รวมทั้งกฎเกณฑ์เรื่องการถูกจำคุก-การรอลงอาญา-นับตั้งแต่ศาลชั้นไหน-คดีแพ่ง-คดีอาญา-คดีลหุโทษ-คดีหมิ่นประมาท-คดีต่างประเทศ-พ้นโทษมากี่ปี จึงให้ถือเป็นผู้บริสุทธิ์

ต่าง ๆ เหล่านี้ต้องเขียนไว้เป็นกรอบให้ชัดเจน และครอบคลุมที่สุด! เพื่อปิดประตูการใช้ “ดุลพินิจ” แบบกว้างเกินไป จนไร้ซึ่งมาตรฐานทางกฎหมาย หรือมีรายการ 2 มาตรฐาน

เพื่อไม่ให้ “ลูกตุ้ม” ของฝ่ายตุลาการ มีน้ำหนักมากกว่าฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ พูดง่าย ๆ ว่าอำนาจของ 3 เสาหลัก (บริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ) ต้องไม่ล่วงล้ำก้ำเกินกัน จนทำให้ประเทศและประชาชนต้องเสียเวลาและเสียโอกาสบ่อยนัก!

ดังนั้นจึงต้องแก้ไขให้เป็นกรอบที่ชัดเจนกันไปเลย! เพื่อไม่ต้องมานั่งตีความเรื่องจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตของคนอื่น ด้วยดุลพินิจปัจเจกบุคคล!!.

………………………………
พยัคฆ์น้อย

อ่านบทความทั้งหมดที่นี่…