โลกยุคปัจจุบัน เราพึ่งพาเทคโนโลยีในการใช้ชีวิตอย่างมาก เทคโนโลยีด้านการแพทย์ เป็นเทคโนโลยีที่นิยมอันดับต้นๆ เราจะเห็นได้ว่า เมื่อมีการสำรวจ “อาชีพที่ไม่ตกงาน” พบว่า เป็นอาชีพทางด้านที่เกี่ยวกับการแพทย์ อาทิ เวชศาสตร์ชะลอวัย หรือหมอความงาม เป็นอาชีพที่มีโอกาสตกงานน้อยที่สุด และเราก็เห็นคลินิกความงามผุดขึ้นยังกะดอกเห็ดในเมืองไทย และไทยเองก็มีนโยบายที่จะเป็น hub สุขภาพ.. ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัย นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ที่จะดึงผู้สูงอายุจากชาติต่างๆ มาดูแลสุขภาพในเมืองไทย ซึ่งเป็นชาติที่มีกำลังจ่ายอย่างตะวันออกกลาง ประกอบกับไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องงานบริการดูแลด้วย ก็ส่งเสริมเรื่อง hub สุขภาพได้ดี

คนเราปัจจุบันนี้ต้องการมีอายุยืนยาวขึ้น ดังนั้น เทคโนโลยีทางการแพทย์จึงเป็นสิ่งที่หลายคนให้ความสำคัญ ในการมีอายุยืนยาวไม่ใช่มาทำเรื่องเวชศาสตร์ชะลอวัยกันตอนแก่ แต่ต้องดูแลรักษาสุขภาพมาตั้งแต่ร่างกายยังแข็งแรง เพราะเสริมสุขภาพจากที่ดีอยู่แล้วมันง่ายกว่าแก้ไขปัญหาสุขภาพที่เสื่อมโทรม ..และในช่วงนี้เกิดการระบาดของเชื้อ ไวรัสโคโรนา หรือ เชื้อโควิด-19 ทำให้คนยิ่งมองความสำคัญของการรักษาสุขภาพมากขึ้นไปอีก ทั้งการที่ต้องมีเทคโนโลยีใน การป้องกันรักษาโควิด และการมี เทคโนโลยีช่วยดูแลสุขภาพทางอ้อมให้ติดโควิดยากขึ้น

ผลการทดลองยาเม็ดต้านโควิด 'Merck' ลดป่วยเข้า รพ.-เสียชีวิตได้ 50%  จับตาอนุมัติเป็นยารักษาที่บ้าน

การสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศ คือการ สร้างเทคโนโลยีสุขภาพของตัวเอง ขึ้นมาให้ได้ หรือกระทั่งเอกชนเองก็ตามก็ต้องพยายามสร้าง “ยูนิคอร์น” (หรือหมายถึงธุรกิจเกิดใหม่ที่ทำกำไรมหาศาล) ทางด้านสุขภาพ ..หลายคนไขว่คว้าอยากสร้างนวัตกรรมนี้จนกลายเป็นเรื่องหลอกลวง ที่กระฉ่อนโลกที่สุดคือกรณีของเครื่อง “เทรานอส” ที่อลิซาเบธ โฮล์ม ชาวอเมริกันพัฒนาเป็นยูนิคอร์นที่ตอนแรกน่ามูลค่าสูงมาก เทรานอสเป็นเครื่องตรวจเลือดที่ใช้ปริมาณเลือดตัวอย่างน้อยมาก และสามารถประเมินผลสุขภาพได้แบบครบวงจร แต่สุดท้ายก็ถูกเปิดเผยว่า หลอกลวง และมันก็พังพินาศไป

ในประเทศไทยน่าจะต้องมีการส่งเสริมเรื่องการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้มากๆ ..อย่างที่ว่าไปตอนต้นคือ “คนเราไม่ได้คิดเรื่องการดูแลสุขภาพ ยืดอายุตอนอายุมากแล้ว แต่รักษาสุขภาพกันตั้งแต่ยังหนุ่มสาว” นวัตกรรมทางการแพทย์จึงเป็นที่นิยม ไม่ใช่เพียงแค่ในประเทศแต่ถึงระดับสากล ที่ถ้าเราทำได้จะดึงเม็ดเงินได้มหาศาล…วันนี้อยากมาเล่าถึงการดำเนินการเรื่อง การส่งเสริมเทคโนโลยีสุขภาพในไต้หวัน เนื่องจากเห็นว่าน่าสนใจ และไต้หวันเองก็พยายามเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีหลายอย่าง เอาเฉพาะด้านไอที ทั่วโลกแทบจะรู้จัก “ออเดรย์ ถัง” รัฐมนตรีข้ามเพศที่อายุน้อยที่สุดของไต้หวัน ที่เป็นผู้นำนวัตกรรมมาใช้แก้ปัญหาโควิดจนไต้หวันสามารถแก้ปัญหาได้เร็ว

ไต้หวันชูแนวคิดว่า “การแพทย์อัจฉริยะคือทางรอดแห่งอนาคต” และวางแผนให้ตัวเองเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีอัจฉริยะของโลก สืบเนื่องจากการที่ไต้หวันเป็นผู้ผลิตส่งออกชิ้นส่วนไอทีระดับโลกแล้ว อีกเป้าหมายหนึ่งก็เตรียมจะเป็นผู้นำด้านการแพทย์อัจฉริยะเช่นกัน ความพร้อมของไต้หวันคือการที่ ถูกจัดเป็นอันดับ 2  ของระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดในโลกรองจากเกาหลีใต้ โดยดัชนีสาธารณสุขของนิตยสาร CEOWorld เมื่อปี 2564 จาก 89 ประเทศ พิจารณาจากโครงสร้างพื้นฐาน บุคลากรทางการแพทย์ ราคา ความพร้อมทางด้านยา ความพร้อมของรัฐบาล และไต้หวันกำลังก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์หรือ Medtech (เมดเทค)

สิ่งที่สำคัญคือ ไต้หวันตั้งเป้าการเปลี่ยนแปลงสาธารณสุขด้วยเทคโนโลยีระดับโลก โดย กรมการค้าต่างประเทศ ของเขา (BOFT) และ สภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน (TAITRA) สนับสนุนเต็มที่ เมื่อมีเทคโนโลยีออกใหม่ก็เปิดเผยให้ทั่วโลกรู้ถึงการพัฒนาที่ไม่หยุดนิ่ง ในช่วงโควิดอาจไม่ได้จัดแถลงข่าว แต่ก็ทำเป็นสัมมนาออนไลน์ โดยล่าสุดเพิ่งจัดไปเมื่อวันที่ 14 ต.ค. เรื่อง “การแพทย์อัจฉริยะและการทดสอบทางชีวภาพ: ปฎิวัติความคิดฝ่าวิกฤติโลกใหม่”

ไต้หวันจัดโครงการ Taiwan Excellence และมอบรางวัลความเป็นเลิศ ให้แบรนด์ที่พัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยปีนี้ แบรนด์ที่ได้รับรางวัลคือ 1.เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ จาก Taiwan Advanced Nanotech (TANbead) ที่ลดขนาดเครื่องให้มีความกระทัดรัด, 2.เครื่องพิมพ์ 3 มิติสำหรับผลิตแว่นสายตา จาก MIICraft ความละเอียดสูง 4 ล้านพิกเซล เพิ่มความคมชัด ความแม่นยำสูง พิมพ์เลนส์ด้วยวัสดุเนื้อนุ่ม โดยบริษัท Young Optics Inc.

3.นวัตกรรมการวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยบริษัท Sigknow Biomedical Co., Ltd. การวิเคราะห์และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจต่อเนื่อง 14 วัน มีการเก็บข้อมูลการบันทึก ซึ่งจะช่วยตรวจจับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่ เพื่อหากมีปัญหาจะได้รักษาดูแลสุขภาพทันท่วงที โดยเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวจะไม่รุกล้ำเข้าไปในร่างกาย ได้รับใบรับรองโดยองค์การอาหารและยาของไต้หวัน (TFDA) และได้รับตราเศรษฐกิจหมุนเวียนการผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ รับรองโดยศูนย์อายุรศาสตร์โรคหัวใจระดับโลก

4.การสกัดเกล็ดเลือดพลาสมา จาก บริษัท Aeon Biotherapeutics Corp. เพื่อรักษาน้ำไขกระดูก สร้างจากเลือดของผู้รักษาเอง ทำให้เกิดโอกาสภาวะแทรกซ้อนน้อย เพิ่มความปลอดภัย จะกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเติบโตของเซลล์ต่างๆ ได้สูงมากเมื่อเทียบกับระบบอื่นๆ ผลัดเซลล์ที่ตายออก ซ่อมแซมฟื้นฟู สร้างความเปล่งปลั่งของเซลล์ที่ดี ส่งผลต่อการรักษาโรคในหลายๆ ด้าน นับเป็นนวัตกรรมเพื่อยืดอายุขัย …ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ล้วนเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมและแตกตัวธุรกิจใหม่ด้านสุขภาพ ตอกย้ำจุดแข็งอีกอย่างของไต้หวันในฐานะ “ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางของวงการแพทย์อัจฉริยะและสุขภาพ”

หากสนใจ สามารถรับชมเรื่องนวัตกรรมได้ในช่องยูทูบ Taiwan Excellence Official Channel  ซึ่ง นายจีวัน ลิน รองประธานและผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องมือและเทคโนโลยีชีวการแพทย์ของสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมแห่งไต้หวันกล่าวว่า “ไต้หวันมองเห็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ทางการแพทย์เกิดขึ้นได้ในช่วงโควิด ไม่ใช่เฉพาะเรื่องโควิด แต่เป็นการมองกว้างไปถึงว่า หลังโควิด การบริการทางการแพทย์จะเปลี่ยนจากการรวมศูนย์ไปสู่การรักษาเฉพาะบุคคลเพื่อตอบโจทย์ความต้องการที่ต่างกัน”  ทำนองว่า โควิดอาจทำให้คนสนใจดูแลสุขภาพมากขึ้น ไต้หวันก็ใช้โอกาสตรงนี้ มานำเสนอบริการสุขภาพไม่ว่าจะเกี่ยวกับโควิดหรือไม่ ไต้หวันเร่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อดึงเม็ดเงินเข้าประเทศด้วย

นายจีวัน ย้ำว่าการพัฒนานวัตกรรม ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการแพทย์ อย่างยาป้องกัน การทดสอบทางชีวภาพ เครื่องมือดูแลสุขภาพ แต่ต้องรวมไปถึงการ พัฒนานวัตกรรมทางการสื่อสารควบคู่ไปด้วย เพื่อการสื่อสารทางไกลในการดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล คือระบบที่สามารถดูแลสุขภาพตัวเองได้โดยไม่ต้องพบแพทย์ ซึ่งเป็นระบบรักษาสุขภาพที่สะดวกกับทุกฝ่าย และน่าจะเป็นวิธีที่นิยมมากในอนาคต ที่ต่างคนต่างซื้ออุปกรณ์เองและปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์

ทั้งนี้ โครงการรางวัล Taiwan Excellence เกิดจากการริเริ่มร่วมกันระหว่างกรมการค้าต่างประเทศ (BOFT) และสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกไต้หวัน (TAITRA) ตั้งแต่ปี 2535 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบริษัทต่างๆ ในไต้หวันให้สร้างนวัตกรรม ปัจจุบันรางวัล Taiwan Excellence เป็นรางวัลที่แสดงถึง ความเป็นเลิศระดับสูงสุดสำหรับผลิตภัณฑ์ของไต้หวัน การได้รับรางวัลนี้คือการก้าวขึ้นสู่อันดับโลกของผู้ผลิตที่มีคุณภาพของไต้หวันทั้งในด้านนวัตกรรม การออกแบบและการผลิต ที่เป็นมาตรฐานขั้นสูง และจะการันตีให้ผลิตภัณฑ์ของไต้หวันสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้

นวัตกรรมด้านสุขภาพ เป็นนวัตกรรมที่ประเทศไทย ควรส่งเสริมและเอาอย่างประเทศพัฒนาแล้วอย่างไต้หวัน สร้างความรู้และทัศนคติให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมทางการแพทย์ในทุกมิติ ทั้งผลตอบรับที่ผู้พัฒนานวัตกรรมและประเทศจะได้รับประโยชน์ ที่สำคัญคือการพูดถึงประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ.. เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีแรงบันดาลใจ เพื่อต่อยอดไปถึงการพัฒนาไทยให้เกิดการแข่งขันได้ในระดับโลก พัฒนา สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ จดสิทธิบัตรนำรายได้เข้าประเทศ ไม่เพียงแต่เรื่องยา แต่นวัตกรรมอื่นๆ ที่เป็น hardware ก็ต้องมีการพัฒนาต่อเนื่อง

Chula Hosts ASAIHL Online World Congress 2020 and Introduces COVID-19  Technological Innovations by Thai Creators – Chulalongkorn University

วันนี้ เราก็กำลังพัฒนาผลิตวัคซีนโควิดโดยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  และยังมีการพัฒนาอื่นๆที่อยู่ในชั้นการวิจัยที่ยังไม่เปิดเผยอีกมาก ที่ดูจะฮิตที่สุดคือการใช้กัญชาและกระท่อมในการรักษาโรค .. ซึ่งก็ต้องย้อนไปที่ว่า “นวัตกรรมทางการแพทย์จะเป็นตัวสร้างรายได้มหาศาลในยุคที่คนต้องการมีชีวิตยืนยาว” นโยบายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องส่งเสริมให้มากขึ้น และอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะพูดถึงคือ การป้องกันการผูกขาด เพื่อพัฒนาที่กว้างขวางในหลายรูปแบบ เช่น การพัฒนากัญชา

การสนับสนุนที่สำคัญมาจากภาครัฐ เริ่มตั้งแต่การวางหลักสูตรการศึกษาเพื่อสร้างบุคลากรและกำหนดนโยบาย.

………………………………………….
คอลัมน์ : ที่เห็นและเป็นอยู่
โดย “บุหงาตันหยง”
ขอบคุณภาพจาก : Pixabay