วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อชุดข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการดูดวง…ที่ในทางจิตวิทยานั้นก็ได้มีการศึกษา มีการวิเคราะห์และสะท้อนไว้ ซึ่งก็ฉายภาพ… “อะไรที่ทำให้คนตัดสินใจดูดวง?”…

ตัดสินใจดูดวง” ก็ “อาจจะมีปัจจัย”

มีปัจจัยที่ “นอกเหนือจากเชื่อชอบ”

และก็อาจ “มีผลที่มากกว่าแค่รู้ดวง”

เกี่ยวกับการวิเคราะห์ “ปัจจัยที่ทำให้คนตัดสินใจดูดวง” ที่ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” นำข้อมูลมาสะท้อนต่อนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากผลงานวิทยานิพนธ์ของ เรวดี สกุลอาริยะ ในฐานะนิสิตสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้จัดทำไว้เมื่อปี 2552 ภายใต้หัวข้อ “การพยากรณ์โชคชะตาและกระบวนการช่วยเหลือด้านจิตใจ”โดยมี ผศ.ดร.กรรณิการ์ นลราชสุวัจน์ เป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ ซึ่งชุดข้อมูลนี้ยังน่าสนใจ-ร่วมสมัย โดยมีการระบุถึง “จิตวิทยากับการพยากรณ์โชคชะตา” ไว้ว่า…การพยากรณ์โชคชะตานั้นก็ถือเป็น หนึ่งในรูปแบบการให้คำปรึกษาแนะนำเช่นกัน…แต่การพยากรณ์โชคชะตาหรือการดูดวงก็จะ แตกต่างในแง่สัมพันธภาพ ที่จะ ไม่เหมือนการปรึกษาในทางจิตวิทยา

ทั้งนี้ ทางผู้จัดทำวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ระบุไว้ว่า… การให้คำปรึกษาทางจิตวิทยาจะมีลักษณะสัมพันธภาพในเชิงบำบัดที่มากกว่าการพยากรณ์โชคชะตาหรือการดูดวง เนื่องจากการดูดวงหรือพยากรณ์โชคชะตานั้น ผู้ที่เข้าไปดูดวงมักจะเริ่มต้นเพราะ “ต้องการคำตอบ” ที่เป็นจุดประสงค์หลักทำให้เลือกตัดสินใจดูดวง และด้วยเหตุนี้เองจึงเป็นสาเหตุทำให้คนเลือกที่จะดูดวงมากกว่าจะเข้ารับคำแนะนำจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เนื่องจาก ต้องการที่พึ่งทางใจในยามทุกข์ ต้องการเพิ่มความมั่นใจ เพื่อตัดสินใจเรื่องบางเรื่อง ต้องการทราบอนาคต เพื่อลดความกังวล ซึ่งก็จะแตกต่างจากศาสตร์จิตวิทยา

อนึ่ง นอกจากจุดประสงค์ต่าง ๆ คือต้องการที่พึ่งทางใจ ต้องการเพิ่มความมั่นใจ ต้องการทราบอนาคตเพื่อลดความกังวลใจ จนทำให้ตัดสินใจไปดูดวงกับหมอดู มากกว่าจะไปปรึกษานักจิตวิทยา ก็ยังมี “คนอีกกลุ่มหนึ่ง” ที่เลือกจะไปดูดวงด้วยเหตุผลคือ รู้สึกท้าทาย หรือที่เรียกกันว่า “อยากลองของอยากพิสูจน์” …นี่ก็เป็นคนอีกกลุ่มที่ตัดสินใจที่จะไปดูดวง

พูดง่าย ๆ ก็คือมีทั้งที่ “ใจอยากพึ่ง”

และที่ “ใจอยากจะลองท้าทายนี่ก็มี”

ในรายงานดังกล่าวยังระบุถึง “รูปแบบสัมพันธภาพ” ที่มักจะพบได้ใน “บริการพยากรณ์โชคชะตาบริการดูดวง” ไว้ว่า… ที่พบได้มากในสังคมไทยจะมี 3 รูปแบบดังนี้คือ… 1.มีความสนิทสนมคุ้นเคยกันอยู่ก่อน ที่เป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นมาจากการไปมาหาสู่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่บ่อยครั้ง, 2.มีความเป็นที่พึ่งที่ปรึกษา เป็นรูปแบบภาวการณ์พึ่งพา ซึ่งผู้ดูดวงจะมองหมอดูหรือนักพยากรณ์โชคชะตาว่าเป็นผู้ชี้แนะแนวทางการตัดสินใจในชีวิต และ 3.เป็นเพียงผู้รับบริการ จากคนแปลกหน้าเพื่อใช้เป็นที่ระบายปัญหาเท่านั้น …นี่เป็น “สัมพันธภาพ 3 แบบ”หลัก ๆ ระหว่าง “หมอดู” กับ “ผู้ที่ดูดวง”

ขณะที่ “ปัจจัยเสริม” ที่จะนำไปสู่ “สัมพันธภาพที่ดี” ระหว่าง “หมอดูลูกค้า” นั้น เรื่องนี้ก็ได้มีการระบุไว้ว่า… จะต้องประกอบด้วย ความแม่นยำ ในการพยากรณ์, จรรยาบรรณโหร เช่น มีคุณธรรม จริงใจ ไม่ฉกฉวยผลประโยชน์, รักษาความลับ ของลูกค้าได้ดี และสุดท้ายคือ การเปิดใจยอมรับของหมอดู ที่ไม่ตัดสินถูกผิดกับความคิดของลูกค้า ซึ่งถ้าหากนักพยากรณ์โชคชะตาหรือหมอดูคนใดที่มีคุณสมบัติเหล่านี้ครบถ้วน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือทำให้ลูกค้าที่เข้ามาดูดวงไว้วางใจ เกิดศรัทธา เคารพนับถือ และเลือกจะกลับไปใช้บริการอีก รวมถึงยังอาจช่วยแนะนำหมอดูรายนี้ให้คนอื่นไปใช้บริการด้วย

ส่วน “กระบวนการสำคัญ” ที่ทาง “หมอดูนักพยากรณ์” มักจะนำมาใช้กับลูกค้านั้น ก็จะมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้… เริ่มจากการ สังเกตท่าทางผู้รับบริการ เพื่อประเมินความรู้สึกนึกคิดและวัดระดับอารมณ์เพื่อบอกคำพยากรณ์ โดยหลังจากได้ประเมินแล้ว หมอดูก็จะทำการ พยากรณ์ตามศาสตร์ที่ศึกษา โดยระหว่างพยากรณ์ก็จะมีการเปิดโอกาสให้ลูกค้าซักถามเพิ่มเติมในส่วนที่ยังคงรู้สึกสงสัยหรือคาใจอยู่ และสุดท้ายมักจะจบด้วยการ เสนอแนวทางการช่วยเหลือด้านจิตใจ

อย่างไรก็ตาม ทาง เรวดี สกุลอาริยะ ผู้จัดทำวิทยานิพนธ์ฉบับดังกล่าว ยังได้ระบุถึงผลสรุปการศึกษาวิเคราะห์เรื่องนี้ไว้ด้วยว่า…การให้คำปรึกษาของนักพยากรณ์โชคชะตา ก็ถือเป็นการให้คำแนะนำและชี้นำทาง แต่บางครั้งบางกรณีการชี้นำนั้นอาจไม่ได้เป็นสิ่งช่วยส่งเสริมให้ผู้รับบริการเกิดการ “ใคร่ครวญและตระหนักรู้ตัวเอง”อย่างแท้จริง ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาใหม่ ผู้รับบริการก็มักจะกลับไปใช้บริการดูดวงซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่วนในทางจิตวิทยานั้น การให้คำปรึกษาจะเป็นแบบไม่ชี้นำ จะเน้นให้คำปรึกษาแนะนำแนวทางในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งถ้าผู้รับบริการสามารถทำได้ก็ไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปปรึกษาอีก

…ทั้งนี้ เหล่านี้เป็นแง่มุมเรื่อง “ดูดวง” กับ “มุมจิตวิทยา” …ซึ่งเรื่องนี้ก็ย่อมเป็นสิทธิของแต่ละบุคคลที่จะเลือกตัดสินใจ แต่ ณ ที่นี้ก็ขอร่วมสะท้อนไว้ด้วยว่า…เรื่องดวง-เรื่อง “โหราศาสตร์” นั้นถือเป็น “ศาสตร์เชิงสถิติ” ที่ “ไม่ใช่ไสยศาสตร์”

ศาสตร์โหร” หลัก ๆ “ก็มีหลายแขนง”

ส่วน “แบบที่พิลึกทะลุมิติทำนายดวง”

นี่ “จะชอบ-จะเชื่อ…ใคร่ครวญให้ดี!!”.

ทีมสกู๊ปเดลินิวส์