วันที่ 5 พ.ย.นี้ ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐ หรือประมาณช่วงเช้าของวันที่ 6 พ.ย. ตามเวลาประเทศไทย โลกใบนี้คงได้รับรู้กันแล้วว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ จะเป็นใครกันแน่ ระหว่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน หรือ “กมลา แฮร์ริส” จากพรรคเดโมแครต
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งนี้ จะเป็นตัวแปรที่กำหนดทิศทางนโยบายของสหรัฐ ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยไม่ว่าพรรคใดจะชนะการเลือกตั้ง ทั้งสองพรรคมีแนวโน้มที่จะยังคงสานต่อนโยบายการกีดกันการค้ากับจีนแต่ในระดับที่ต่างกัน อีกทั้งมีแนวโน้มที่จะเพิ่มการขาดดุลทางการคลังตามนโยบายการใช้จ่ายทางการคลังและภาษีที่แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตามในเวลานี้สายตาบรรดานักลงทุน นักเศรษฐศาสตร์ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านเศรษฐกิจ ต่างจับจ้องและลุ้นระทึกไปที่ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้ เพราะหากผลการเลือกตั้งในรอบนี้ “ทรัมป์” อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ชนะเลือกตั้งและกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้ง ย่อมทำให้โลกใบนี้สั่นสะเทือนไม่น้อยแน่นอน ขณะที่หากเป็น “แฮร์ริส” ก็พอจะเห็นนโยบายที่เชื่อว่าจะสานต่อนโยบายเดิมจาก “โจเซฟ โรบิเนตต์ ไบเดิน จูเนียร์” ประธานาธิบดีสหรัฐคนปัจจุบัน
“ทีมเศรษฐกิจ เดลินิวส์” ได้รวบรวมความเห็นจากทั้งภาครัฐและเอกชน ถึงผลดี ผลเสีย ต่อเศรษฐกิจไทยจากการเลือกตั้งสหรัฐในครั้งนี้ เริ่มจาก…
กระทบส่งออกแน่นอน
“อัทธ์ พิศาลวานิช” ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และที่ปรึกษาบริษัท อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซัลแตนท์ (ไออาร์ซี) จำกัด ที่วิเคราะห์ว่า ไม่ว่าจะเป็น “ทรัมป์” หรือ “แฮร์ริส” เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คนใหม่ ก็เชื่อได้ว่าการส่งออกไทยจะลดลงแน่นอน ส่วนการนำเข้าของไทยจากสหรัฐจะเพิ่มขึ้น ทำให้ดุลการค้าไทยกับสหรัฐลดลง เนื่องจากไทยนำเข้าจากสหรัฐน้อยมาก และหากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดี มาตรการการค้า และภาษีสินค้านำเข้า จะเข้มข้นขึ้น แต่ถ้าเป็นแฮร์ริส สินค้าส่งออกไทย จะถูกเก็บภาษีข้ามพรมแดน (ยูเอส ซีแบม) มากขึ้น
อย่างไรก็ตามนโยบายของ “ทรัมป์” เน้นใช้นโยบายอเมริกัน เฟิร์ส ที่เน้นเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก คาดว่ามูลค่าการส่งออกลดลง เพราะทรัมป์จะเก็บภาษีทุกประเทศ 10-20% และเก็บภาษีจีนมากกว่า 60% กระทบสินค้าไทยไปเป็นวัตถุดิบให้จีน การนำเข้าสินค้าจากจีนจะลดลง กติกานำเข้ายุ่งยากขึ้น รวมทั้งเน้นการเจรจาแบบทวิภาคี ไทยจะมีโอกาสมากขึ้นในการเจรจาการค้าเพื่อไปสู่เอฟทีเอ กับสหรัฐในอนาคต ไม่เน้นประเด็นสิ่งแวดล้อม สินค้าไทยที่ยังไม่พร้อมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โอกาสไทยส่งชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปยังไปได้ ขณะที่นโยบายการลดภาษีนิติบุคคล 21% เหลือ 15% ทำให้เกิดการผลิตในประเทศ ความต้องการสินค้าจากไทยจะมีมากขึ้น
ขณะที่ แฮร์ริส เน้นสิทธิแรงงานและสิ่งแวดล้อม สินค้าไทยที่ไม่คำนึงสิ่งแวดล้อมมีโอกาสส่งออกไปสหรัฐลดลง จะมีการเก็บภาษีข้ามพรมแดน (ยูเอส ซีแบม) จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เน้นการค้าแบบพหุภาคีทำให้มีการเจรจาทางการค้าด้วยเหตุและ
ผล และให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก หรือไอพีอีเอฟ
ทั้งหมดนี้หากผู้ประกอบการไม่ปรับตัว มีแนวโน้มสูงที่จะไม่รอด โดยเห็นว่า ถ้า “ทรัมป์” ชนะ ต้องดูว่าสินค้าไทยได้ดุลการค้าหรือไม่เพราะมีโอกาสสูงที่ต้องถูกเก็บภาษี ก็ต้องเร่งหาตลาดอื่นทดแทนและบริหารต้นทุนการผลิต รวมทั้งต้องศึกษามาตรฐานสินค้าที่ส่งออกไปสหรัฐ เร่งเจรจาและปรับให้เข้ากับมาตรฐาน, หาหุ้นส่วนธุรกิจในสหรัฐใหม่ เป็นต้น แต่ถ้า “แฮร์ริส” ชนะ ก็ต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจกในทุกกิจกรรมการผลิต เพื่อไม่ให้ถูกเก็บภาษียูเอส ซีแบม, ให้ดึงมาลงทุนในพลังงานสะอาด รวมทั้งดึงมาลงทุนในธุรกิจบีซีจี และให้เร่งใช้ประโยชน์ในกรอบไอพีอีเอฟ
มีทั้งโอกาสและท้าทาย
ด้านกูรูทางด้านเศรษฐศาสตร์อย่าง “อมรเทพ จาวะลา” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ วันที่ 5 พ.ย.นี้ กำลังจะส่งผลให้เกิดความผันผวนและความเปลี่ยนแปลง ถ้าหาก “ทรัมป์” กลับมานั่งประธานาธิบดีสหรัฐ จะเต็มไปด้วยทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยที่แน่นอนคือเศรษฐกิจโลกจะรอดจากภาวะถดถอย เพราะมาตรการลดภาษีนิติบุคคลจะกระตุ้นให้ธุรกิจในสหรัฐเพิ่มการจ้างงานและปรับขึ้นค่าแรง ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตขึ้น
นอกจากนี้ราคาน้ำมันดิบโลกจะลดลงจากนโยบายส่งเสริมการผลิตน้ำมันในสหรัฐและการทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์กับประเทศในตะวันออกกลางและรัสเซีย เป็นผลดีต่อประเทศที่นำเข้าพลังงานอย่างไทยและจะช่วยลดค่าครองชีพของคนในประเทศ และมีการย้ายฐานการลงทุนมาไทยเพิ่มขึ้น เพราะภาษีการค้าที่กำหนดต่อจีนจะกระตุ้นให้บริษัทจีนย้ายไปยังประเทศอื่น ช่วยเสริมสร้างอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และดิจิทัล
ส่วนด้านลบคือ การส่งออกของไทยเสี่ยงโตช้า จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน และความกังวลว่าการค้าระหว่างประเทศจะหยุดชะงัก, ต้นทุนกู้ยืมของรัฐบาลจะอยู่ระดับสูงตามความเสี่ยงทางการคลัง ไม่ใช่เพียงแต่ในสหรัฐแต่รวมถึงไทยด้วย เพราะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลมักเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน และ รายได้ภาคเกษตรของไทยเสี่ยงลดลงตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก กดดันให้อุปสงค์ในประเทศไทยอ่อนแอตาม
“เศรษฐกิจไทยภายใต้นโยบายการค้าและนโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์ น่าจะมีความผันผวนมากกว่ากรณีของแฮร์ริส ที่คงเห็นการเปลี่ยนแปลงไม่มาก โดยเฉพาะจากความพยายามลดทอนอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน ซึ่งจะกดดันการค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยมองจีดีพีไทยปี 68 จะขยายตัวได้เพียง 2.5% ในกรณีของทรัมป์เทียบกับ 3.2% ในกรณีของแฮร์ริส ขณะที่แบงก์ชาติจะปรับลดดอกเบี้ยเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศและลดความเสี่ยงด้านภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ แม้จะทำให้เงินบาทอ่อนค่าและเพิ่มแรงกดดันด้านเงินเฟ้อต่อสินค้านำเข้ามากขึ้นก็ตาม คาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะอยู่ที่ 1.25% ในกรณีของทรัมป์เทียบกับที่ 1.50% ในกรณีของแฮร์ริส”
เตือนเอกชนอย่าเพิกเฉย
หันมาที่เอ็กซิมแบงก์ที่เกี่ยวข้องกับผู้ส่งออก อย่าง “รักษ์ วรกิจโภคาทร” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือเอ็กซิมแบงก์ ที่ได้ออกมาแจ้งเตือนผู้ส่งออกรายกลาง รายใหญ่ และรายเล็กว่า ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศไม่ใช่เรื่องไกลตัว จะเพิกเฉยไม่ได้ ที่ผ่านมาค่าเงินที่ผันผวน 20% ไม่ใช่เรื่องปกติ และปัญหาตะวันออกกลางที่คาดจะผ่อนคลาย แต่วันนี้ก็เห็นแล้วไม่เป็นเช่นนั้น มิหนำซ้ำยังรุนแรงขึ้นด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐรอบนี้ ยังเดาไม่ออกว่าใครจะชนะ แต่เชื่อว่าผลที่ออกมาจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งโลก ซึ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เรื่องค่าเงิน ค่าระวางเรือ ซึ่งจะเห็นแล้วว่าค่าส่งเรือตู้ขนาด 40 ฟุต กระโดดขึ้นไป 4,000 ดอลลาร์สหรัฐแล้ว ดังนั้น ทุกคนจำเป็นต้องปรับตัวเข้ากับความขัดแย้ง ความไม่แน่นอนต่าง ๆ ให้ได้
การเลือกตั้งของสหรัฐจะมีผลต่อค่าเงินบาท การลงทุนต่างชาติในไทย ราคาพลังงาน ตลอดจนค่าระวางเรือ เพราะทั้ง 2 ฝ่ายมีนโยบายบริหารที่แตกต่างกันชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายการทำการค้ากับจีน ซึ่งหากทรัมป์กลับเข้ามา ก็น่าจะเริ่มการทำสงครามการค้าอีกครั้ง และทำให้การค้าจีน-สหรัฐลดลงแน่ ซึ่งจะกระทบปลายน้ำมายังการส่งออกไทย รวมถึงสินค้าจีนที่ส่งออกไปตะวันตกไม่ได้ก็อาจจะมาวนขายในอาเซียนแทน แต่ถ้าแฮร์ริสเป็นฝ่ายชนะก็จะเดินได้ตามแบบเดิม เพราะจะยึดตามระเบียบกติกาโลกมากกว่า
“ทรัมป์ถือเป็นบุคคลที่คาดเดาได้ยาก และมีความสุดโต่งสไตล์อนุรักษนิยม ทำให้มีความเสี่ยง หากทรัมป์หวนคืนตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอาจก่อสงครามการค้ารอบใหม่ โดยตั้งกำแพงภาษีสูงถึง 60% ยกเลิกนโยบายเพื่อส่งออก เพื่อเน้นการผลิตในประเทศ และอาจทำให้การค้าโลกผันผวน และราคาน้ำมันอาจแพงขึ้น ฉะนั้นภาคธุรกิจต้องใส่เสื้อเกราะให้ตัวเอง ทั้งประกันการผิดนัดชำระค่าสินค้าส่งออก การประกันความเสี่ยงที่อาจได้รับความเสียหายจากกฎระเบียบหรือรัฐบาลประเทศที่เข้าไปลงทุน และซื้อขายสัญญาเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า เพื่อป้องกันความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน”
สินค้าจีนทะลักไทย
“ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ” ที่ปรึกษาและนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (สมาคมอีคอมเมิร์ซไทย) และกรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ ตลาดดอทคอมส่งสัญญาณว่า หากแฮร์ริสชนะเลือกตั้ง นโยบายด้านเทคโนโลยีคงไม่เปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก แต่หาก “ทรัมป์” ได้ขึ้นมา น่าจะมีปัจจัยบวกในวงการเทคโนโลยีระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในวงการคริปโตเคอร์เรนซีที่ทรัมป์ประกาศสนับสนุนชัดเจน น่าจะเป็นผลบวกกับอุตสาหกรรมนี้
“เท่าที่ได้สำรวจคนในวงการเทคส่วนใหญ่จะสนับสนุน พรรคเดโมแครต ไม่ว่าจะเป็น บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ และ เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้งแอมะซอน ขณะที่ อีลอน มัสก์ จะสนับสนุนทรัมป์ ซึ่งหากทรัมป์ชนะเลือกตั้งอาจจะสนับสนุนให้ อีลอน มัสก์ เป็นเจ้าเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น”
หาก “ทรัมป์” ชนะเลือกตั้ง แน่นอนว่านโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีจากจีนอาจจะถูกกีดกันมากขึ้น เช่น หัวเว่ย อาจโดนแบนอีกรอบหรือไม่ รวมถึงแอปพลิเคชันติ๊กต็อก เป็นต้น อย่างไรก็ตามช่วงที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เตรียมรับมือ
ไว้แล้ว การกีดกันจะทำให้หัวเว่ยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น เช่น เรื่อง ชิป ซีพียู ที่สามารถผลิตเองได้แล้ว เป็นการเสริมให้จีนพึ่งพาเทคโนโลยีตัวเองมากขึ้น
สำหรับในประเทศไทย มองว่า อาจไม่มีผลกระทบอะไรมาก ทางสหรัฐอเมริกาจะโฟกัสในส่วนของตัวเอง เรื่องการลงทุน
ของบริษัทเทคโนโลยีก็เป็นนโยบายของเอกชนที่มาลงทุน ดาต้า เซ็นเตอร์ และคลาวด์ เพื่อที่จะขายผลิตภัณฑ์ให้กับไทย อย่างไรก็ตาม หากทรัมป์ชนะเลือกตั้งสินค้าจากจีนอาจถูกกีดกันมากขึ้น ทำให้มีโอกาสที่สินค้าจากจีนต้องหาที่ระบาย และจะทะลักมาในภูมิภาคนี้ รวมถึงในไทยด้วย แม้ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ภาครัฐจะตื่นตัวมีการตั้งรับในการกีดกันออกมาตรการบังคับให้สินค้าต้องมีมาตรฐานตามกฎหมายไทย แต่เมื่อจีนทำสินค้าได้ตามมาตรฐาน สินค้าที่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะทะลักเข้าไทยมากยิ่งขึ้น จะทำให้ตลาดมีการแข่งขันสูงผู้ผลิตสินค้าไทยจะแข่งขันได้ยากขึ้น เป็นเรื่องที่ไทยต้องเตรียมปรับตัว
เกาะติดสงครามมากกว่า
หันมาในแวดวงการท่องเที่ยวกันบ้าง “อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว มองว่า ทั้ง 2 พรรคไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ดังนั้นไม่ว่าพรรคไหนจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีในภาคการท่องเที่ยวจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรของรัฐบาลโดยตรง แต่…ประเด็นหลักที่จะต้องโฟกัสคือเรื่องของนโยบายทางภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง และสงครามรัสเซีย–ยูเครน ที่ถือเป็นหัวใจสำคัญหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ อเมริกา เพราะหากหลังเลือกตั้งประธานาธิบดีสามารถลดขนาดความรุนแรงของความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ลงก็จะเป็นอานิสงส์ต่อภาคการท่องเที่ยวไทยและประเทศโดยรอบ
แต่หากความขัดแย้งทวีความรุนแรงขึ้นจนเกิดสงครามขนาดใหญ่ขึ้น แน่นอนว่า…จะส่งผลต่อการเดินทางเศรษฐกิจโลกเพิ่มมากขึ้นรวมถึงไทย ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงแพงขึ้น ราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินแพงขึ้น หรือหนักกว่านั้นเครื่องบินจะต้องบินอ้อมสมรภูมิความขัดแย้ง กระทบการเดินทางท่องเที่ยวของชาวยุโรป ตะวันออก กลาง ที่จะเลือกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศโดยเฉพาะคนฐานกลางลงไปล่าง ส่วนคนมีฐานะก็จะยังเดินทางท่องเที่ยว แต่ไม่ได้เป็นแรงหนุนให้จำนวนนักท่องเที่ยวระยะไกลและรายได้จากภาคบริการเพิ่มขึ้นมากเท่าที่ควร อย่างไรก็ตามมองจากสถานการณ์ปัจจุบันผู้สมัครประธานาธิบดีทั้งสองฝั่งยังไม่มีความแตกต่างมากนักในเรื่องของนโยบายระหว่างประเทศที่จะมีผลต่อไทยในด้านการท่องเที่ยว
ขณะที่นโยบายของพรรครีพับลิกันที่ให้ความสำคัญไปทางจีนนั้น มองว่าไม่ว่านโยบายระหว่างประเทศของสรัฐอเมริกาจะเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ไทย-จีนยังคงแน่นแฟ้นไม่เปลี่ยน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางแอตต้าได้เชิญประธานสภาวิจัยท่องเที่ยวจีนมาร่วมงานบรรยายในแอตต้า คอนเน็กซ์ เอ็กซโปร์ ที่เพิ่งจบไป ได้ระบุชัดว่าในหมู่อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ไทยจะต้องเป็นแกนกลางในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างไทยกับจีน ด้านภาคการท่องเที่ยวฯ แม้นโยบายเศรษฐกิจของพรรครีพับลิกันจะมุ่งให้ความสำคัญกับจีน หนุนให้เศรษฐกิจจีนดีขึ้นก็คงไม่ได้เป็นผลให้ชาวจีนเดินทางท่องเที่ยวไทยมากนัก เพราะอย่างไรจีนก็เป็นจุดหมายปลายทางที่คนจีนเลือกเดินทางท่องเที่ยวครั้งแรกอยู่แล้ว
ทั้งหมด!! เป็นเพียงความคิดเห็นจากผู้ที่อยู่ในแวดวงการค้าการลงทุน จากนี้ไป…ก็ต้องเกาะติดสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ก็ตาม ประเทศไทยก็ต้องปรับตัวให้ทันก็เท่านั้นเอง!!.