ปวดอยู่หลายปี…กินยาไม่หายจึงหาข้อมูลจนได้
ค่อนข้าง “ชัวร์” เหลือเกินว่ากรณี “ปวดเข่า” กับ “ผู้สูงวัย” เป็นของคู่กันมานมนานแล้วและมีโอกาสเจอสูงมาก…อยู่ที่ว่าจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วเท่านั้น เมื่อถูกเล่นงานเมื่อใดก็มีแต่จะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเสื่อมของหัวเข่านั่นเอง เพราะฉะนั้นทางที่ดีที่สุดคือรีบรักษาเสียตั้งแต่เกิดอาการขึ้นใหม่ ๆ แล้วค่อยดูว่ารักษาได้ระยะหนึ่งแล้วถูกใจแค่ไหนอย่างไร หากไม่เป็นที่พอใจก็ขอแนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทางทางด้านนี้โดยเฉพาะจะดีที่สุดครับ… พุธนี้ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ได้ส่งกรณีของ “คุณดุจมาลย์ สิทธิมหาชัยกุล” วัย 73 ปี ซึ่งให้ความร่วมมือเปิดเผยเป็นสาธารณประโยชน์แก่ท่านผู้สูงวัยที่มีปัญหาปวดเข่าแล้ว มาเป็นกรณีศึกษา จะได้มีข้อมูลเพื่อการตัดสินใจจัดการขั้นเด็ดขาด โดย “คุณดุจมาลย์” ได้เผยรายละเอียดแก่ทีมงาน “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” ดังนี้ครับ…
“…มีอาการเจ็บเข่าแบบเจ็บ ๆ หาย ๆ ทานยาอะไรมันก็ไม่ค่อยทุเลา แต่ก็หาหมอไปทั่วเพราะเดินแล้วจะเจ็บทรมาน เดินได้สักพักก็แปล๊บ ๆ ต้องนั่งพัก น่ารำคาญค่ะ รำคาญมากเลย หมอที่รักษาก็บอกให้เดินออกกำลังกายไปเรื่อย ๆ หมอบางคนก็บอกพังผืดเกาะแต่ยังอยู่ได้ถ้าเรารักษาดี ๆ… มีอยู่วันหนึ่งดูทีวีช่วงบ่ายโมงกว่าก็เห็นรายการนี้มีหมอออกมาพูดถึงเรื่องเข่า เราก็งงว่าทำไมนามสกุลหมอคนนี้คุ้นมากเลย เห็นเขาบอกว่าเวลาผ่าตัดเขาใช้เนวิเกเตอร์ หรืออะไรนี่ล่ะ มาเป็นตัวช่วยให้แผลผ่าตัดเล็ก เลือดออกน้อย หายไว ก็เลยสนใจเข้ามาปรึกษา… ผ่าเสร็จยังไม่รู้เรื่องเลยนะ พอฟื้นขึ้นมาก็ถามหมอว่าทำไมขา 2 ข้างไม่เจ็บ หมอยังไม่ได้ผ่าเหรอ หมอบอกว่าเสร็จแล้ว เก็บเครื่องมือหมดแล้ว… ตอนยังอยู่ในห้องผ่าตัดได้ลองเตะขาขึ้นมา แต่เอ๊ะ…ขา 2 ข้างไม่เจ็บเลย ก็เลยงง ออกไปเล่าให้ใครฟังเขาก็หัวเราะ อยู่โรงพยาบาลแค่ 2-3 วันก็กลับไปพักฟื้นอยู่ที่บ้านน้อง มีปวดรอยผ่าตัดนิดหน่อยแต่เดินได้ปร๋อเลย เดินได้สบายไม่ต้องมีไม้เท้าด้วย หายเร็วมาก-ฟื้นเร็วมาก ค่อย ๆ ดีขึ้น ดีขึ้นเรื่อย ๆ หายเร็วมากเลย ใครมาเยี่ยมเห็นเราเดินก็ตกใจและถามว่าหายเจ็บเข่าแล้วเหรอ เราก็บอกใช่…”
“หมอจอแก้ว” ขออธิบายเสริมนิดหนึ่งว่า…รายการทีวีที่ “คุณดุจมาลย์” เอ่ยถึงก็คือรายการ “อุ่นใจใกล้หมอ” ซึ่ง “โรงพยาบาลสุขุมวิท” ได้สนับสนุนข้อมูลการรักษาพยาบาลด้วยการใช้เทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้าเป็นหลักนั่นเอง ทั้งนี้ หลังจากได้ชมรายการในวันนั้นแล้ว “คุณดุจมาลย์” ได้ไปติดต่อขอรับการตรวจ-รักษา โดยไม่ยอมทนปวดอีกต่อไป
ศักยภาพและความพร้อมในการตรวจวินิจฉัย
ส่วนขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยหญิงวัย 73 ปีท่านนี้ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” จัดความพร้อมไว้ 2 ขั้นตอน โดยขั้นแรก “นพ.ชญานิน เลิศมหรรพฤฒิ” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม ในฐานะ “แพทย์เจ้าของไข้” ได้ทำการซักประวัติก่อนที่จะตรวจเพิ่มเติม โดยมีข้อมูลมาอธิบายสรุปให้ทราบว่า…
“…คนไข้วัย 73 ปีท่านนี้มาด้วยอาการปวดเข่า 2 ข้าง โดยปวดเข่าขวามากกว่าเข่าซ้าย และก่อนที่จะตัดสินใจมาคราวนี้คนไข้เคยตอบรับคำแนะนำจากแพทย์ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กับการรับประทานยาแก้ปวด แต่ปฏิบัติตามนั้นแล้วอาการปวดก็ยังไม่ค่อยดีขึ้น อีกทั้งยังมารบกวนชีวิตประจำวันจนทำให้เดินลำบากและเดินขึ้นลงบันไดได้ช้า กินยาแก้ปวดก็อาการไม่ดีขึ้น ต้องทานต่อเนื่องเรื่อยมาจนไม่อยากทานอีกต่อไป… หลังจากส่งเข้ารับการเอกซเรย์แล้วพบว่าคนไข้รายนี้เป็นข้อเข่าเสื่อมระยะรุนแรง หรือพูดง่าย ๆ ก็คือเข้ามาถึงระยะที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดแล้ว โดยเห็นจากฟิล์มว่ามีก้อนผิดปกติบริเวณปุ่มกระดูกที่ส่งผลให้มีข้อกดชิดกันบริเวณกระดูก ทั้งยังเห็นด้วยว่าแนวการเอียงของข้อเข่าผิดปกติไป… จริง ๆ แล้วอาการปวดเข่าสามารถพบได้บ่อยในชีวิตประจำวัน โดยอาการปวดของแต่ละคนจะเกิดจากสาเหตุแตกต่างกันโดยไม่จำเป็นว่าต้องเกิดกับผู้สูงวัยเท่านั้น เพราะผู้ที่อายุยังน้อยก็สามารถปวดเข่าได้จากโรคอย่างอื่นที่เราอาจไม่เคยได้ยินมาก่อน ผมจึงขอให้คำแนะนำในเบื้องต้นว่า ถ้าได้ลองรักษาแล้วไม่หายก็ขอแนะนำให้มาพบแพทย์เฉพาะทางครับ…ซึ่ง โรงพยาบาลสุขุมวิท เองก็ได้จัดความพร้อมสำหรับแพทย์เฉพาะทางด้านกระดูกและข้อที่เป็นแพทย์ผู้ชำนาญการในสาขาต่าง ๆ ทั้งข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกสันหลัง หรือเวชศาสตร์การกีฬา โดยได้เตรียมเทคโนโลยีผ่าตัดไว้ให้ครอบคลุมการดูแลรักษาที่หลากหลาย หรือแม้จะเป็นเรื่องมะเร็งกระดูกก็ตามครับ… ส่วนกรณีของ คุณดุจมาลย์ นั้นหลังจากตรวจพบรอยโรคชัดเจนแล้วก็ได้รับการผ่าตัดรักษาโดยท่าน รศ.นพ.วัชระ วิไลรัตน์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม ซึ่งหลังจากรักษาแล้วประมาณ 1 เดือนอาการปวดบริเวณรอบข้อเข่าบริเวณที่ผ่าตัดก็ค่อย ๆ ลดลง สามารถใช้งานใกล้เคียงกับก่อนหน้าที่จะเกิดอาการปวดครับ…”
เทคโนโลยีก้าวหน้าช่วยลดความกลัวการผ่าตัด
มาถึงขั้นตอนสุดท้าย ซึ่ง “รศ.นพ.วัชระ วิไลรัตน์” แพทย์ผู้ชำนาญการด้านศัลยกรรมข้อเข่าและข้อสะโพกเทียม “โรงพยาบาลสุขุมวิท” เป็นผู้รับผิดชอบ “การผ่าตัดรักษา” ผู้ป่วยหญิงท่านนี้จนผ่านพ้นไปด้วยดีแล้ว ก็ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจคือ…
“…ดูจากเอกซเรย์ข้อเข่าก็ปรากฏว่าเป็นข้อเข่าเสื่อมระยะสุดท้าย ซึ่งผิวของกระดูกอ่อนหมดไปแล้ว คือมีลักษณะของข้อเข่าแบบกระดูกชนกระดูก เพราะฉะนั้นการเคลื่อนที่แต่ละครั้งจึงมีความเจ็บปวดเกิดขึ้น เราจึงวางแผนว่าอาจต้องทำผ่าตัดโดยการเปลี่ยนข้อเข่าแบบเปลี่ยนหมดทั้งเข่าเลย… ซึ่งการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่านั้นคนไข้จะกังวลมากที่สุดในเรื่องของความเจ็บปวดนะครับ เราจึงได้นำเทคโนโลยีที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์นำร่องที่เรียกว่า Navigation มาใช้เพื่อลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อให้น้อยลง คนไข้สามารถฟื้นตัวได้เร็ว เกิดการสูญเสียเลือดน้อย คนไข้สามารถกลับมาเดินได้เร็วหลังผ่าตัดครับ ซึ่งคนไข้ท่านนี้ได้ค้นข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการผ่าตัด รวมทั้งหมอผ่าตัด ที่ช่วยลดความกังวลได้บ้าง สุดท้ายก็ได้ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลสุขุมวิทหลังจากทราบและเข้าใจแล้วว่าการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีที่ใช้คอมพิวเตอร์ Navigation จะใช้เวลาในการผ่าตัดไม่มากนัก เฉลี่ยแล้วประมาณ 1 ชั่วโมง 15 นาที โดยใช้ข้อเทียมทำจากวัสดุไทเทเนียม มีโคบอลต์โครเมียม แล้วก็มีโพลีเอทิลีน ซึ่งเป็นพลาสติกที่ทนต่อแรงเสียดทานสูง มีระยะการใช้งานประมาณ 20 ปีหรือกว่านั้นครับ ส่วนที่ช่วยลดการเสียเลือดน้อยลงมากเป็นเพราะเราใช้วิธีผ่าตัดแบบรัดต้นขาไม่ให้มีการเสียเลือดซึ่งช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วหลังผ่าตัดครับ และวันรุ่งขึ้นคนไข้ก็สามารถเดินลงน้ำหนักได้เลย จะเหยียดขาหรืองอเข่าก็ได้เพราะเกิดความเจ็บปวดน้อย ฟื้นตัวได้เร็วทำให้คนไข้มีความพึงพอใจในการรักษามากเลยครับ…”
ขอแถมท้ายอีกนิดด้วยคำอธิบายจาก “อาจารย์หมอวัชระ” ซึ่งถือว่าเป็นคำแนะนำที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องเผชิญอาการ “ปวดเข่า” อันเกิดจาก “ข้อเข่าเสื่อมระยะสุดท้าย” โดยท่านได้กล่าวว่า… “…จุดประสงค์ของการรักษาก็คือต้องการให้คนไข้มีการใช้ชีวิตประจำวันได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหลังผ่าตัดแล้วเราพบว่าคุณภาพชีวิตดีขึ้นเพราะความเจ็บปวดลดลงได้ จากการที่ปัจจุบันนี้การผ่าตัดมีเทคโนโลยีสมัยใหม่มาช่วยให้ความเจ็บปวดลดลงนะครับ คนไข้จึงไม่ต้องกลัวเรื่องความเจ็บปวดอีกต่อไปครับ เพราะฉะนั้นถ้าท่านเกิดปัญหาเรื่องเข่าก็แนะนำว่ามาปรึกษากับเราและให้เราตรวจดูให้เรียบร้อยก่อนนะครับ หากจำเป็นต้องทำการผ่าตัดเราก็มีเทคโนโลยีการแพทย์ก้าวหน้ามาใช้ประโยชน์เพื่อลดความกลัวเรื่องการผ่าตัด ไม่เหมือนสมัยก่อนอีกแล้วครับ…”.
หมอจอแก้ว