31 ต.ค. คือเส้นตายที่สหพันธ์ขนส่งทางบกยื่น 3 ข้อเรียกร้อง รบ. 3 ป. คือ 1.ตรึงราคาน้ำมันดีเซลให้อยู่ที่ลิตรละ 25 บาทนาน 1 ปี 2.เลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน 3.ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลิตรละ 5 บาท หากไม่ได้รับคำตอบที่น่าพอใจ จะเอารถสิบล้อมาจอดประท้วงปิดรอบ กทม. อีกครั้ง และครั้งนี้ 40% ของสิบล้อจะหยุดวิ่งประท้วงน้ำมันแพงด้วย แม้ก่อนหน้า รมว.พลังงาน สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ สั่งลดเงินกองทุน ค่าการตลาด ใช้ดีเซลบี 6 เป็นฐานเพื่อตรึงให้อยู่ที่ลิตรละ 28 บาทชั่วคราว

อย่างที่รู้ ดีเซลไม่ใช่น้ำมันชนิดเดียวที่ขึ้นราคา แต่น้ำมันทุกชนิดแพงขึ้นจนน่าตกใจตั้งแต่ปลายปี 63 แล้ว เทียบ ต.. 63 กับ ต.. 64 น้ำมันทุกชนิดปรับขึ้นเกือบลิตรละ 10 บาท เบนซินแตะลิตรละ 40 บาท อี20 จากไม่ถึง 20 เป็น 30 กว่า ดีเซลจากไม่ถึง 20 พุ่งไป 30 กว่าบาท สาเหตุน้ำมันแพงหลัก ๆ ก็คือน้ำมันตลาดโลกเคย 40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล (20 ดอลลาร์ก็ได้เห็น) พุ่งไป 70 ดอลลาร์ และไปต่อจน 80 กว่าดอลลาร์ ผู้เชี่ยวชาญบอกคงได้เห็น 100 ดอลลาร์ต้นปีหน้า ขณะที่เงินบาทอ่อนตัวลง และโครงสร้างภาษี ทั้งสรรพสามิต เทศบาล มูลค่าเพิ่ม กับ “ท็อปปิ้ง” ทั้งการเก็บเงินเข้ากองทุน ค่าการตลาด จาก รบ. ทำให้ราคาจากหน้าโรงกลั่นเมื่อมาถึงหน้าปั๊มจึงเพิ่มเกือบ 50% จากต้นทางลิตรละ 20 บาทจึงกลายเป็น 30 บาท ขณะที่น้ำมันก็หลายชนิดเกินไป ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนของปั๊ม

จะให้น้ำมันถูกลง ก็ต้องเอาท็อปปิ้งออกไปบ้าง น้ำมันแพงค่าครองชีพจะพุ่งเพราะสินค้าทุกอย่างจะขึ้นราคาตาม รบ.ต้องยอมเสียสละ เพราะหน้าที่ของ รบ. คือการดูแลทุกข์สุขของประชาชน ลดภาษีสรรพสามิตลงมาจะลิตรละ 5 บาทหรือมากกว่าก็แล้วแต่ เอาเงินจากกองทุนน้ำมันออกมาช่วย ไม่พอ ก็ต้องกู้ ทีเอาไปแจกหาเสียงตำน้ำพริกละลายแม่น้ำยังทำได้นี่ และไม่ใช่ดูแลแต่ดีเซล น้ำมันชนิดอื่น ๆ ก็ไม่ควรให้แพงเว่อร์เกิน ที่ผ่านมาคน “เวิร์กฟรอมโฮม” การเดินทางน้อย แต่ตั้งแต่ 1 พ.ย. ซึ่งเปิดประเทศผู้คนคงต้องกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ ค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทาง จะกลายเป็นอีกภาระอันหนักอึ้ง?!?

มันไม่ใช่ “ตรรกะป่วย ๆ” อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้สัมภาษณ์ว่า เพราะบ้านเมืองเจริญเติบโตถนนหนทางดี จึงมีการใช้น้ำมันเยอะ ซึ่งแปลว่า เพราะถนนดีคนเลยขับรถกันเยอะ มันใช่หรือ เหมือนแนะให้ปลูกบ้านสองชั้นหนีน้ำท่วม นี่วิสัยทัศน์ผู้นำหรือ คิดได้ “ตื้นเขิน” แค่นี้จริง ๆ หรือ ไม่รู้หรือคนไม่ได้อยากขับรถเลย หากเรามีระบบขนส่งสาธารณะที่ครบวงจร มีปาร์กแอนด์ไรด์เสียที เป็นไปได้ไงที่มีสถานีฟันหลอเตาปูน-บางซื่อ ให้คนต้องลงเดินเป็นกิโลเพื่อไปต่อรถไฟฟ้าอีกขบวน ยังค่ารถไฟฟ้าที่แพงระยับเมื่อเทียบกับรายได้ของผู้คน รู้มั้ยว่า แค่“บีทีเอส” ประกาศเลิกตั๋วเดือนตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว คนทำงานที่ใช้บัตรตั๋วเดือนจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม 40-70% หากจะเดินทางในระยะเท่าเดิม และหากเป็นตั๋วเดือน นร.-นศ. ค่าใช้จ่ายจะแพงขึ้น 80-130% (ข้อมูลจาก ผศ.ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์) ขณะที่ยังมีรถเมล์แสนเก่าและรอนาน รถตู้ที่ต้องนั่งแทนรถไฟฟ้ากับรถเมล์

รถไฟฟ้า "บีทีเอส" ปรับเวลาขบวนสุดท้าย 2 ทุ่ม เริ่ม 22 ก.ค.นี้ | เดลินิวส์

การเดินทางเป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์และแสนแพงของคนในเขตเมืองมากขึ้นทุกที ค่าใช้จ่ายเดินทางมากถึง 30% ของเงินเดือน จะเอาเงินที่ไหนมาเก็บ มามีลูก เลี้ยงตัวเองยังไม่รอดเลย

เหนืออื่นใด ที่ผ่านมา คือ โรคซ้ำกรรมซัด วิกฤติโรคโควิด ทำให้ธุรกิจน้อยใหญ่เจ๊งเป็นแถบ ๆ แม้แต่ร้านลาบส้มตำ ร้านก๋วยเตี๋ยวข้างทางยังกระอักเลือด คนตกงานเป็นล้าน ๆ ที่ยังมีงานทำอยู่ก็ถูกลดเงินเดือนกว่าครึ่ง ที่จบใหม่ก็จะว่างงาน มีแต่ ขรก.เท่านั้นล่ะที่ยังอยู่ดีมีสุขรับเงินครบทุกบาททุกสตางค์ ประชาชนแทบจะกัดก้อนเกลือกินแล้ว นี่ยังไม่พูดถึงผลกระทบจากน้ำท่วมที่ไร่นาเสียหายนับล้านไร่ บ้านช่องประชาชนถูกน้ำกระหน่ำเสียหายต้องเสียเงินซ่อมแซมอีกไม่รู้เท่าไหร่

น้ำมันแพงจึงเป็น “ฟางเส้นสุดท้าย” บนหลังอูฐ แต่ รบ.3 ป. กลับดูไม่รู้ร้อนรู้หนาวเท่าไหร่ ไม่เห็นมาตรการจริงจังที่จะรับมือเลย (สมัยยิ่งลักษณ์ น้ำมันเคย 140 ดอลลาร์ ต้องออกมาตรการลดค่าครองชีพนาน 6 เดือน) รมว.สุพัฒนพงษ์ เองก็ช่างน่าผิดหวัง ทั้งที่อยู่ในวงการน้ำมันมานาน กลับคิดได้แค่จะตรึงดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาทสองเดือน อ้าง ก็ทำเหมือน รบ.ก่อน ๆ ที่เคยทำ น่าเสียดายคุณสุพัฒนพงษ์ คงถูกวิสัยทัศน์ผู้นำกลืนไปหมด…หรือไร.

————————–
ดาวประกายพรึก