นายเดวิด แลมมี รมว.การต่างประเทศสหราชอาณาจักร กล่าวถึงการที่สหราชอาณาจักรเตรียมมอบอธิปไตยของหมู่เกาะชาร์กอส ในมหาสมุทรอินเดีย กลับคืนให้แก่มอริเชียส “ไม่เกี่ยวข้องกับดินแดนโพ้นทะเลแห่งอื่น” เนื่องจากบริบทของหมู่เกาะชาร์กอส มีความเฉพาะตัว “ด้วยเหตุผลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์การเมือง” ดังนั้น กรณีของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์หรือยิบรอลตาร์ “เป็นเรื่องที่เจรจาไม่ได้”
อนึ่ง รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศเรื่องหมู่เกาะชาร์กอส เมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมา หลังเผชิญกับแรงกดดันจากหลายฝ่ายมานานหลายทศวรรษ รวมถึงศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ( ไอซีเจ ) หรือศาลโลก อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหราชอาณาจักรยืนยันว่า ฐานทัพบนเกาะดิเอโก การ์เซีย ของสหรัฐ จะยังคงอยู่ที่นี่ต่อไป ตามสัญญาเช่า 99 ปี จนถึงปี 2579
สำหรับท่าทีของรัฐบาลสหราชอาณาจักรในเรื่องนี้ ถือเป็นการตอบโต้คำกล่าวของนางไดอานา มอนดิโน รมว.การต่างประเทศอาร์เจนตินา ณ เวลานั้น ซึ่งเปรียบเทียบกรณีของหมู่เกาะชาร์กอสกับหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ว่ารัฐบาลอาร์เจนตินาจะเร่งผลักดันในทุกมิติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับอธิปไตยของหมู่เกาะมัลบีนัสกลับคืนมา
ทั้งนี้ มัลบินัสเป็นชื่อที่อาร์เจนตินาใช้เรียกหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากแผ่นดินใหญ่อาร์เจนตินา ประมาณ 480 กิโลเมตร ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลบัวโนสไอเรสทุกสมัยยืนกรานกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะแห่งนี้ “ซึ่งเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์” หลังได้รับเอกราชจากสเปน
อย่างไรก็ตาม สหราชอาณาจักรยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะแห่งนี้ “ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์” และเน้นย้ำผลการลงประชามติเมื่อปี 2556 ว่า 99.8% ของชาวหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ต้องการมีสถานะเป็นดินแดนโพ้นทะเลของสหราชอาณาจักรต่อไป
อนึ่ง อาร์เจนตินาและสหราชอาณาจักรทำสงครามแย่งชิงหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ เมื่อปี 2525 คร่าชีวิตทหารอาร์เจนตินา 649 นาย ทหารสหราชอาณาจักร 255 นาย และชาวหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ 3 ราย

กรณีของหมู่กาะชาร์กอส และหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ อาจทำให้หลายฝ่ายนึกถึง และเปรียบเทียบกับกรณีของเกาะไต้หวัน แม้ไม่เหมือนกันในทุกบริบท แต่อย่างน้อยที่สุด เกาะทั้งสามแห่งตั้งอยู่ใกล้กับรัฐหรือประเทศ ที่แสดงความมุ่งมั่นมาตลอด ว่าต้องการมีอำนาจธิปไตยที่สมบูรณ์เหนือเกาะเหล่านั้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์หรืออะไรก็แล้วแต่ ทว่าต่างฝ่ายต่างมีการปรับตัวเข้าหากันในทางบริหาร โดยมีการกำหนดโครงสร้างการปกครอง เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายอาศัยร่วมกันได้อย่างราบรื่น และมีความสมดุลในการกระจายอำนาจ
การที่สหราชอาณาจักรเป็นฝ่ายชนะสงครามหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ไม่เพียงแต่จุดประกายความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ ให้กับสหราชอาณาจักร แต่ท่ามกลางบรรยากาศทางภูมิรัฐศาสตร์ในโลกในเวลานั้น ซึ่งอยู่ท่ามกลางสงครามเย็น ชัยชนะที่เกิดขึ้นเป็นตัวกระตุ้นสำคัญ เพิ่มบทบาทให้กับสหราชอาณาจักรบนเวทีระหว่างประเทศ

แต่สำหรับสหรัฐ การพยายามเข้ามาแทรกแซงและแสดงบทบาทเกี่ยวกับความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ หรือสถานการณ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน ไม่ว่าจะเป็นการดำเนินการโดยลำพังหรือร่วมมือกับประเทศอื่น มีเป้าหมายชัดเจนว่า ต้องการขัดขวางความพยายามขยายอิทธิพลทางการเมืองและเศรษฐกิจของจีน มากกว่า “ความจริงใจ” ที่จะปกป้องไต้หวันอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ทั้งนั้น กรณีของไต้หวันเรียกได้ว่า “เป็นการเดิมพันที่สูงกว่ามาก” ในทางภูมิรัฐศาสตร์ ตำแหน่งที่ตั้งของไต้หวันถือว่า อยู่ตรงกลางของ “ห่วงโซ่เกาะชั้นแรก” ( First Island Chain ) หมายถึง เกาะและหมู่เกาะซึ่งตั้งอยู่รายล้อมนอกชายฝั่งทะเลของจีน และถือเป็นจุดยุทธศาตร์ทางทะเลที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น หมู่เกาะริวกิวหรือหมู่เกาะนันเซของญี่ปุ่น บริเวณทางเหนือของคาบสมุทรเกาหลี ไล่มาจนถึงไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
ขณะที่ภูมิประเทศทางตะวันออกของไต้หวันมีลักษณะเป็นหุบเขา ซึ่งในทางทหารถือว่า มีความได้เปรียบในการติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธ ให้สามารถหลบซ่อนจากการตรวจจับของฝ่ายตรงข้าม
อีกประการหนึ่ง ไต้หวันเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่อันดับต้นของโลก โดยครองตลาดมากกว่า 90% เทียบกับสินค้าส่งออกของหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ ซึ่งถือว่า “ธรรมดากว่ามาก” นั่นคือ ขนสัตว์ ต่อให้เกิดปัจจัยหลายประการจากทั้งภายในและภายนอก ยังสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเศรษฐกิจของไต้หวันได้ทุกเมื่อ แต่ตำแหน่งที่ตั้งของไต้หวันตามภูมิศาสตร์โดยธรรมชาติ “ไม่มีทางเปลี่ยนแปลง”

แต่เหนือสิ่งอื่นใด จีนกับไต้หวัน “มีความผูกพันและความใกล้ชิดกันอย่างมาก” ในทางเชื้อชาติและประวัติศาสตร์หลายประการ ยิ่งไปกว่านั้น ผลการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างชาวไต้หวันราว 1,200 คน จัดทำเมื่อเดือนก.ย. ที่ผ่านมา โดยสถาบันวิจัยด้านความมั่นคงและกลาโหม ( ไอเอ็นดีเอสอาร์ ) ในกรุงไทเป พบว่า 61% ของกลุ่มตัวอย่าง มองว่า “เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นไปไม่ได้อย่างมาก” ที่จีนจะใช้ปฏิบัติการทางทหารกับไต้หวัน ภายในระยะเวลา 5 ปีนับจากนี้
ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างมีความวิตกกังวลกับ “ภัยคุกคาม” จากจีนในด้านอื่นมากกว่า ซึ่งรวมถึง การซ้อมรบ และแคมเปญโฆษณาชวนเชื่อ แม้สำนักข่าวกรองกลาง ( ซีไอเอ ) เผยแพร่รายงาน เมื่อปี 2566 ว่าประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ผู้นำจีน สั่งให้กองทัพปลดปล่อยประชาชน ( พีแอลเอ ) เตรียมความพร้อมใช้ปฏิบัติการทางทหารกับไต้หวัน ในปี 2570 ก็ตาม
อย่างไรก็ดี 67% ของกลุ่มตัวอย่างกล่าวว่า “พร้อมสู้” หากจีนเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารจริง แต่ยังคง “เสียงแตก” เกี่ยวกับศักยภาพของกองทัพไต้หวัน ในการปกป้องดินแดน หากเผชิญกับภาวะวิกฤติดังกล่าว โดย 50% มีความเชื่อมั่น และ 50% ไม่มีความเชื่อมั่น

เกี่ยวกับความสนับสนุนของสหรัฐในเรื่องนี้ 74% ของกลุ่มตัวอย่าง มองว่า รัฐบาลวอชิงตันน่าจะมอบความสนับสนุน “ทางอ้อม” เช่นการส่งมอบอาหาร ยารักษาโรค และอาวุธบางประเภท และ 52% เชื่อว่า สหรัฐน่าจะส่งกำลังทหารเข้ามาช่วยเหลือ
ขณะที่สหรัฐซึ่งแน่นอนว่า เป็นผู้สนับสนุนไต้หวันอย่างเปิดเผยในแทบทุกด้าน โดยเฉพาะเศรษฐกิจและการทหาร ยังคงเน้นย้ำ “การยึดมั่นต่อหลักการจีนเดียว” และ “การไม่สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน” แต่ตราบใดที่การแสดงออกของรัฐบาลวอชิงตันทุกยุคทุกสมัยในเรื่องไต้หวัน ยังคงสวนทางกับคำพูดที่ออกมา แน่นอนว่า ไต้หวันจะยังคงเป็น “เรื่องกวนใจ” ในความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐอยู่ตลอด แต่ต่างฝ่ายต่างรู้ทันกันดี ว่าอีกฝ่ายจะเดินเกมอย่างไร.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES