นพ.ธนะพงศ์  จินวงษ์  ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) สะท้อนมุมมองอาจต้องใช้เวลาสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจมากพอสมควร กว่าจะมีประสิทธิภาพหรือบังคับใช้ได้จริง เหตุผลเพราะนอกจากต้องประชาสัมพันธ์ความเร็วที่เปลี่ยนแปลง  ยังมีเรื่องการปรับ“กายภาพ” อย่างสัญญาณไฟ หรือป้ายที่ยังเป็นสัญลักษณ์ความเร็วเดิม การต้องมีเครื่องมือช่วย เพราะกล้องตรวจจับความเร็วอย่างเดียวไม่พอ อาจต้องมีกล้องซีซีทีวีที่สามารถตั้งโปรแกรมเอไอ (AI) เพื่อคำนวณความเร็ว และทำให้เชื่อมโยงกับการออกค่าปรับเพิ่มด้วย

สำหรับประเด็นที่ต้องทำให้คนหันมาสนใจมากขึ้นคือ ชี้ให้เห็นอันตรายจากความเร็ว ข้อมูลจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พบปี 67 (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ธ.ค.) กทม.มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 798 คน เป็นสัดส่วนคนเดินเท้า และใช้จักรยาน ร้อยละ 7.3 มีผู้เสียชีวิตเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 7 คน

ผู้จัดการ ศวปถ. ชี้โจทย์ใหญ่ที่ต้องพยายามต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงคือ ความคุ้นชิน พร้อมเปรียบเทียบมาตรฐานสากลที่กำหนดความเร็วเขตเมืองเฉลี่ย 50 กม./ชม. หรือต่ำสุดคือลอนดอน ประเทศอังกฤษ กำหนดความเร็วเขตเมือง 32 กม./ชม.เท่านั้น 

ตัวอย่างการปรับความเร็วต่ำที่ส่งให้แนวโน้มการเสียชีวิตลดลงคือ โบโกตา(Bogota) เมืองหลวงของโคลัมเบีย  ซึ่งปี 2017มีอุบัติเหตุสูงคิดเป็น 3 ใน 4 ของการเสียชีวิตทั้งหมด แต่เมื่อปรับลดความเร็วเหลือ 50 กม./ชม. จากการติดตามผลพบการเสียชีวิตลดลงร้อยละ 21 โดยรูปแบบจำกัดความเร็วเป็นลักษณะค่อยๆ ลดจาก 80 กม./ชม. เหลือ 60 กม./ชม. สุดท้ายอยู่ที่ 50 กม./ชม.

ในส่วนกทม.ที่ต้องเริ่มปรับความเร็ว ต่อสู้กับความคุ้นชิน ช่วงแเรกอาจยังไม่สามารถใช้ข้อบังคับ“เด็ดขาด” แต่ต้องค่อยๆทำความเข้าใจเริ่มจากตักเตือน มองว่า 1 เดือนหลังบังคับใช้หน่วยงานเกี่ยวข้องทั้งตำรวจ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ตลอดจนภาคีทุกภาคส่วน ต้องช่วยกันสร้างการรับรู้อันตรายจากความเร็ว และการเสียชีวิตทางถนนในกทม.ที่สูงเฉลี่ยวันละ 2.2 คน

“ระหว่างเดือนม.ค.-ก.พ. ต้องเร่งปรับกายภาพให้คนรับรู้ความเร็วใหม่  โดยเริ่มจากเมืองชั้นใน แหล่งชุมชนที่มีคนเดินเท้าและนักท่องเที่ยว เดือนก.พ.-มี.ค. จึงบังคับใช้และเริ่มตักเตือนก่อน หากฝ่าฝืนค่อยทำประวัติ และหากทำอีกค่อยใช้โทษปรับ  ไม่ควรเริ่มจากการปรับทันทีเพราะเสี่ยงมีแรงต้าน”

พร้อมชี้ด้วยว่าการเดินทางด้วยความเร็ว 60 กม./ชม. เมื่อเทียบกับ 80 กม./ชม. ในระยะทาง 10 กม. มีส่วนต่างประมาณ 2 นาที แทบไม่มีนัย  แต่สิ่งที่หลายคนคุ้นชินคือถนนโล่งต้องเร่งความเร็วชดเชยรถติด แนะการวางแผน“เผื่อเวลา”เป็นตัวช่วย 

อย่างไรก็ตาม เข้าใจผลพวงข้อบังคับที่กระทบกับบางอาชีพ เช่น ไรเดอร์ บริษัทขนส่ง ต้องทำความเข้าใจกับแพลตฟอร์ม ขณะประชาชนในฐานะผู้บริโภคต้องตระหนักความปลอดภัยมากขึ้น เพราะต้องยอมรับการประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภคคือความเร็ว

“การประเมินความพึงพอใจของผู้บริโภคคือความเร็ว  เป็นมิติฝังลึก เวลาประเมินมักไม่เอาเซฟตี้(Safety)ก่อน ผู้บริโภคคาดหวังความเร็ว แต่ฝั่งบริษัทเองต้องทำอย่างไรให้ต้องเผื่อเวลา เช่น รถกระบะตู้ทึบ อย่าให้ต้องมาทำเวลาบนถนน”

ส่วนความเป็นไปได้ในการขยายข้อบังคับไปยังเมืองใหญ่อื่น ผู้จัดการ ศวปถ. ระบุ ต้องประเมินผลข้อบังคับล่าสุด พร้อมเสนอทิศทางค่อยเป็นค่อยไป อาจเริ่มจากจุดเล็กๆระดับท้องถิ่นที่มีปัญหานักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากอุบัติเหตุแทนการปูพรมใหญ่ที่จะมีแรงต้านเยอะ

ผู้จัดการ ศวปถ. ทิ้งทายสถานการณ์ไทยที่หลุดเป้าหมายลดการเสียชีวิตทางถนนมาแล้ว 3 ปี จากที่ปี 70 ตั้งเป้าลดการเสียชีวิตลงเหลือ 12 คน/ประชากรแสนคน แต่ตัวเลขการเสียชีวิตปี 66 ยังเฉลี่ยวันละ 48 คน

ด้านนายชัยยุทธ โล่ธุวาชัย กรรมการมูลนิธิสถาบันการเดินและการจักรยานไทย สะท้อนข้อบังคับใหม่เป็นเรื่องดี โดยเฉพาะกับผู้ขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เนื่องจากผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากการใช้ความเร็วแล้วเบรกไม่ทัน ชนกับรถคันอื่น ขณะที่อุบัติเหตุกับคนเดินเท้าหรือจักรยานยนต์มีน้อยกว่ามาก

“การปรับความเร็วลงช่วยให้อุบัติเหตุจากการเบรกกระชั้นชิดลดลงได้ เพราะหากขับด้วยความ 80 กม./ชม. จะมีระยะเบรกที่ 54 เมตร เมื่อมีรถจักรยานยนต์ล้มต่อหน้าแบบบกะทันหัน หรือมีคนเดินข้ามทางม้าลายระยะกระชั้นจะทำให้เบรกไม่ทัน แต่หากขับด้วยความเร็ว 60 กม./ชม. ระยะเบรกอยู่ที่ 34 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่เบรกทัน จึงปลอดภัยขึ้น”

พร้อมมองข้อกังวลลดความเร็วทำให้รถติดว่า จากข้อมูลการสำรวจพบความเร็วเฉลี่ยของรถในกทม.อยู่ที่ 25 กม./ชม.  เนื่องจากเป็นถนนเมือง และใช้รถเดินทางไม่เกิน 10 กม. การปรับความเร็วลงนี้จึงคาดว่าไม่ได้สร้างปัญหา ส่วนที่ยกเว้น 13 เส้นทาง เข้าใจว่าเป็นการพิจารณาว่าเป็นสายหลัก จุดตัดน้อย ทางเท้ากว้าง 

“อยากบอกถึงทุกคนที่ขับขี่ให้ลองปฏิบัติตามกฏจราจรดูก่อน เพราะสุดท้ายประโยชน์ก็เกิดขึ้นกับตัวเราทุกคน โดยเฉพาะเรื่องอุบัติเหตุที่เชื่อว่าจะลดลงได้ในอนาคต” นายชัยยุทธ ทิ้งท้าย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]