สำนักวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่ง…ได้ประเมินไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังคงเติบโตได้ต่ำกว่า 3% เพราะอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอน
เหตุใหญ่ใจความก็มาจาก…แนวโน้มการขยายตัวที่ต่ำกว่าคาดของเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก ที่เชื่อว่าจะมีความหนักหน่วง เช่นเดียวกับความผันผวนภาคเกษตร จากภาวะโลกเดือดก็ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่เรื่องของความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังคงมีอยู่ให้เห็นต่อเนื่อง รวมไปถึงความเสี่ยงนโยบายภาษีของ “โดนัลด์ ทรัมป์” เพราะไทยมีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐ
ที่สำคัญ!! ไทยยังเกินดุลการค้ากับสหรัฐ เป็นลำดับต้น ๆ โดยมีการเกินดุลกว่า 30,000-40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 1 ล้านล้านบาท
แถมยังนับเป็นลำดับที่ 12 ของโลก โดยการเกินดุลการค้าเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่อาจเป็นผลมาจากสินค้านำเข้าจากจีน ทำให้ไทยมีความเสี่ยงถูกมาตรการการค้าเพิ่มเติมได้
ดังนั้น ไทยจึงกลายเป็นเป้าหมายสำคัญ ที่ “ทรัมป์” จะใช้วิธีตั้งกำแพงภาษีสูง เพื่อสะกัดสินค้าจากไทย ต่อให้…รัฐบาลเตรียมตัว พร้อมวาง “ลอบบี้ยิสต์” เพื่อเดินหน้าเจรจาอย่างจริงจังก็ตาม
ไม่เพียงเท่านี้!! เรื่องราวด้านหนี้สินของครัวเรือน หนี้สินภาคธุรกิจก็ยังมีอยู่สูง จนทำให้รัฐบาลแพทองธาร ต้องเข็นมาตรการ “คุณสู้ เราช่วย” ออกมาเพื่อต่อเวลาให้ลูกหนี้มีเวลาหายใจมากขึ้น มีเวลาที่จะเดินหน้าธุรกิจให้อยู่รอดได้มากขึ้น
มีการประเมินกันว่า มีโอกาสที่จะได้เห็นการเลิกหรือปิดกิจการของภาคธุรกิจเกิดขึ้นตามมาอีก หลังจากตลอดปี 2567 ต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากกมาย โดยเฉพาะการถูกสินค้าจีนเข้ามาดัมพ์ตลาด จนทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง คาดกันว่าอาจมีการปิดกิจการกันกว่า 20,000 รายทีเดียว
สำนักวิจัยหลายแห่ง บอกว่า หากไทยไม่ปรับตัว ก็จะมีความเสี่ยงและมีแนวโน้มสู่ช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง และยังไม่สามารถกลับมาเท่าศักยภาพเดิมที่ 3%-3.5%
ที่ต้องอึ้ง!! ก็หนีไม่พ้นการประเมินว่า…ไทยยังถือเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตได้ช้าที่สุดในภูมิภาคอาเซียน!!
ไม่เพียงภาคการส่งออกเท่านั้น ที่จะมีผลกระทบ ภาคบริการและการท่องเที่ยว อาจขยายตัวช้าลงเช่นกัน จากผลของเศรษฐกิจโลกที่ไม่โตพุ่งพรวดเหมือนเก่าก่อน
ส่วนการหดตัวของสินเชื่อในภาคธนาคาร ยังคงดำเนินต่อไป จากภาวะหนี้สินที่ยังคงมีอยู่และยังต้องใช้เวลาเพื่อหยุดเลือดไหล ส่งผลกระทบกับการบริโภคในระยะข้างหน้า
รวมไปถึงการเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ภาระทางการคลังเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งกดดันแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวไม่น้อย
อย่างที่บอกว่า…ภาคบริการและการท่องเที่ยว จะไม่ส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจมากเท่าเดิม จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในปี 2568-2569 คาดกันว่าจะเติบโตเฉลี่ยเพียง 6.9% ต่อปี
ขณะที่ภาคการผลิตของไทยยังไม่เห็นสัญญาณฟื้นตัว โดยอุตสาหกรรมหลักของไทย อย่างยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ที่ลดลง จากการเข้ามาแข่งขันของรถยนต์ค่ายจีน
แม้ว่ารัฐบาล จะพยายามยืนตัวเลขเศรษฐกิจให้เติบโตให้เกินกว่า 3% โดยอาศัยปัจจัยหลักจากการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของเทคโนโลยี ทั้งดาต้าเซ็นเตอร์ ทั้งเอไอ ที่มีการประกาศตัวกันไปแล้ว
ไม่ว่าจะเป็น กูเกิ้ล ไมโครซอฟท์ เอดับเบิ้ลยูเอส หัวเหว่ย หรือแม้แต่ ติ๊กต่อก แพลตฟอร์ม ชื่อดังที่เตรียมเข้ามาลงทุนในไทยโดยคาดว่าประกาศตัวในกลางปี 2568 นี้ก็ตาม
แต่เงินทุนเหล่านี้จะเข้ามาอย่างเต็มที่ ก็ยังต้องอาศัยเวลาและไม่ได้เข้ามาทีเดียวอย่างเต็มจำนวน หรือแม้แต่เรื่องของการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลข้ามชาติ ในอัตรา 15% ที่กว่าจะเรียกเก็บภาษีอย่างจริงจังได้ก็ต้องเป็นปี 2569
ส่วนการใช้เครื่องยนต์จากการลงทุนภาครัฐ รวมไปถึงการลงทุนผสมระหว่างรัฐกับภาคเอกชน ในรูปแบบพีพีพี แม้อาจเป็นทางเลือกสำคัญ แต่ก็ต้องยังฝ่าฟันในหลาย ๆ กระบวนการ
ไม่เพียงเท่านี้!! ปัญหาใหญ่ยังอยู่ที่กำลังซื้อในประเทศ ที่รัฐบาลจะต้องงัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจท่ามกลางเงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด
สารพัดสารพันความท้าทายที่รออยู่ในปี 2568 มีอยู่อย่างมากมาย ขณะที่กระแสความสั่นคลอนของพรรคร่วมรัฐบาลยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง
ทั้งหมดจึงไม่แปลกใจ!! หากใครต่อใครจะหวาดระแวงว่าในปีมะเส็งที่กำลังจะมาถึงนี้อาจเป็นปี “อสรพิษ” หรือไม่?..
……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”