ระเบียบปฏิบัติใหม่ของสตาร์บัคส์ ระบุว่า บริษัทต้องการทำให้แน่ใจว่า พื้นที่ของร้านได้รับการจัดลำดับความสำคัญสำหรับการใช้งานของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็น ตัวร้านกาแฟ ลานนอกร้าน และห้องน้ำ ตามนโยบายที่สตาร์บัคส์ระบุว่า เป็นสิ่งที่ผู้ค้าปลีกส่วนใหญ่บังคับใช้
อนึ่ง ผู้ค้าปลีกหลายรายในสหรัฐ เช่น สตาร์บัคส์ ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น “พื้นที่ที่สาม” หรือสถานที่รวมตัวนอกบ้านหรือที่ทำงาน ต่างเผชิญกับสถานการณ์ที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ในประเทศซึ่งมีห้องน้ำสาธารณะน้อย
คำถามเกี่ยวกับการเข้าถึงห้องน้ำ ถือเป็นเรื่องที่เต็มไปด้วยความยากลำบากสำหรับสตาร์บัคส์ ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้รับความสนใจมากขึ้นเมื่อปี 2561 เมื่อชายผิวสี 2 คน ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าห้องน้ำของร้านกาแฟสาขาหนึ่ง ในเมืองฟิลาเดลเฟีย ขณะที่พวกเขานั่งรอเพื่อน โดยไม่สั่งซื้อเครื่องดื่มหรือสินค้าอะไร จากนั้น พนักงานของร้านก็โทรศัพท์เรียกตำรวจ ส่งผลให้ผู้ชายทั้งสองคนถูกจับกุม แต่ไม่โดนตั้งข้อหาใด ๆ
หลังเหตุการณ์ข้างต้น สตาร์บัคส์ตัดสินใจใช้นโยบาย “ห้องน้ำเปิดกว้าง” กับร้านกาแฟทุกสาขาที่มีห้องน้ำ ซึ่งอนุญาตให้ประชาชนสามารถขอใช้ห้องน้ำได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อสินค้าชนิดใดก็ตาม
ทว่าเมื่อปี 2565 นายฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ชั่วคราวในเวลานั้น กล่าวว่า นโยบายดังกล่าวอาจต้องยุติลง เพราะปัญหาด้านความปลอดภัยจากผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต
ในร้านกาแฟสตาร์บัคส์สาขาหนึ่งในย่านมิดทาวน์ เขตแมนฮัตตัน ของนครนิวยอร์ก ซึ่งยังไม่ติดประกาศการเปลี่ยนแปลงนโยบายตามแผนที่วางไว้ บาริสต้าคนหนึ่งกล่าวว่า ผู้คนยังคงพยายามเข้ามาอยู่ในร้าน และแน่นอนว่า พวกเขาคือ คนไร้บ้าน
ยิ่งไปกว่านั้น ร้านกาแฟแห่งนี้ ซึ่งมีห้องน้ำเพียงห้องเดียว และใช้ระบบล็อกด้วยตัวเลข ก็มีคนเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง หลังจากพวกเขาได้รับรหัสจากพนักงาน
“ถ้าผู้คนปฏิบัติตามกฎระเบียบ มันก็น่าจะดีกว่านี้” บาริสต้า กล่าวเพิ่มเติม พร้อมกับชี้ว่า นโยบายใหม่จะทำให้พนักงานมีชีวิตที่ดีขึ้น
ขณะเดียวกัน ลูกค้าของสตาร์บัคส์บางคน คาดเดาว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายครั้งล่าสุดของสตาร์บัคส์ จะไม่มีผลบังคับใช้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัย หรือผู้ประกอบอาชีพ แต่มันจะเป็นแค่ช่องทางให้พนักงานร้านไล่คนที่พวกเขารู้สึกว่า “ไม่พึงปรารถนา” ออกไป
ทั้งนี้ สตาร์บัคส์รายงานว่า รายได้สุทธิทั่วโลกลดลง 3% ในไตรมาสที่ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เหลือ 9,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 315,770 ล้านบาท) ในเดือน ต.ค. 2567 ซึ่งผลประกอบการข้างต้นแสดงให้เห็นว่า ยอดขายยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายไบรอัน นิกโคล ซีอีโอคนใหม่ของสตาร์บัคส์ ให้คำมั่นว่าจะดำเนินการปฏิรูปเชิงกลยุทธ์ เพื่อพลิกสถานการณ์ของบริษัท.
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP