ยุคทองของอเมริกา” ได้เริ่มขึ้นแล้ว หลัง “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้เข้าพิธีสาบานตนเพื่อก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ คนที่ 47 อย่างเป็นทางการ นับจากวันนั้นเป็นต้นมาจะเห็นได้ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ก็ไม่ยอมเสียเวลา เพราะเพียงแค่วันแรกของการทำงาน “ทรัมป์” ก็ลงนามในเอกสารต่าง ๆ นับ 100 ฉบับ แถมปล่อยนโยบายแบบเต็มเหนี่ยว

ทั้งการออกจากการเป็นสมาชิกขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO เพราะมองว่ามีการจัดการที่ล้มเหลว แถมสหรัฐยังถูกเรียกร้องเงินชดเชยอย่างไม่เป็นธรรมจาก WHO หรือการถอนออกจากข้อตกลงปารีส ที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิิอากาศ ที่ทรัมป์ประกาศมานานตั้งแต่การเป็นประธานาธิบดีสมัยแรก ที่ไม่ต้องการเข้าร่วมข้อตกลงนี้ หรือแม้แต่การอภัยโทษผู้ชุมนุมก่อเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐ เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 64

รวมไปถึงการระงับการจ้างงานในรัฐบาลกลางเพิ่มเติม รวมไปถึงการยกเลิกการทำงานจากระยะไกล การชะลอการแบนแพลตฟอร์ม ติ๊กต็อก การเนรเทศผู้อพยพผิดกฎหมาย หรือการเซ็นคำสั่ง ยกเลิกการระบุเพศอื่น ๆ นอกจากเพศชายและเพศหญิง การเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก เป็นอ่าวอเมริกา เป็นต้น

เรียกร้องลดราคาน้ำมัน

ไม่เพียงเท่านี้ “ทรัมป์” ยังประกาศกร้าวกลางที่ประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ โดยกล่าวหาบรรดาชาติผู้นำผลิตน้ำมันยักษ์ใหญ่ของโลกล้มเหลวในการลดราคาน้ำมัน พร้อมข่มขู่ที่จะขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐ ทั้งหมด รวมทั้งเรียกร้องให้ซาอุฯ และกลุ่มโอเปก ลดราคาน้ำมันเพื่อส่งผลทำให้รัสเซียต้องเสียรายได้จากการขายเชื้อเพลิง และจนต้องยุติสงครามยูเครนไปโดยปริยาย เรียกง่าย ๆ ก็เป็นแรงกดดันให้สงครามยุติ

นอกจากนี้ยังส่งสัญญาณ ในการปรับเพิ่มภาษีสินค้านำเข้าสู่สหรัฐ ครั้งใหญ่ โดยมีความพยายามต้องการให้บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุนและผลิตสินค้าภายในสหรัฐเพื่อเพิ่มตำแหน่งงานให้อเมริกันชน หรือแม้แต่การเรียกร้องให้ธนาคารกลางสหรัฐ หั่นอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงการระบุว่าสหรัฐขาดดุลอย่างมหาศาลกับจีน

นี่…เพียงแค่ไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์เท่านั้น หลังจากทรัมป์เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ ที่ได้แสดงสารพัดนโยบาย สารพัดท่าทีซึ่งหลังจากนี้ไปคงมีอีกหลายนโยบายที่ทำให้โลกปั่นป่วน หรืออาจรับมือไม่ทัน เพราะหลายฝ่ายต่างมองว่านโยบายของทรัมป์ ไม่แน่นอน จึงกลายเป็นคำถามสำคัญว่าแล้วไทยจะปรับตัวอย่างไร?

ชง4ข้อเสนอรับมือ

ชัยชาญ เจริญสุข” ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) บอกว่า นโยบาย ทรัมป์ 2.0 ที่มีความไม่แน่นอน ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและส่งออกไทย โดยเฉพาะการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากประเทศแคนาดา เม็กซิโก และ จีน นั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องหาทางรับมือ โดยในส่วนของ สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ 4 ข้อ เพื่อให้รัฐบาลเร่งดำเนินการเพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา ทั้งการผลักดันให้มีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) รายไตรมาสเพื่อติดตามสถานการณ์ความผันผวนการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งต้องเพิ่มเติมงบประมาณด้านการจัดกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศมากขึ้น ทั้งในประเทศคู่ค้าหลักและตลาดเกิดใหม่ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการค้า

นอกจากนี้ยังเร่งจัดหาแหล่งทุน สินเชื่อ ดอกเบี้ยต่ำสำหรับช่วยเหลือเอสเอ็มอีในการผลิต เพื่อรับมือกับสินค้าราคาถูกจากจีนที่คาดว่าจะเข้ามาตีตลาดมากขึ้น และสุดท้าย คือ เพิ่มความเข้มงวดการดูแลสินค้าต่างประเทศที่เข้ามาขายในเมืองไทยจะต้องมีการตั้งศูนย์รับประกันสินค้าเพื่อคุ้มครองดูแลผู้บริโภค รวมถึงการเข้มงวดใช้มาตรฐานการตรวจสอบสินค้านำเข้าให้เป็นมาตรฐานเดียวกับสินค้าในประเทศเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าไร้มาตรฐานเข้ามาตีตลาด

เห็นผลกระทบไตรมาส2

ทิศทางส่งออกในปี 68 ความเสี่ยงสำคัญอยู่ที่เรื่องของสงครามการค้า โดยเชื่อว่าในไตรมาสแรกปีนี้ การส่งออกจะขยายตัวได้ 2-3% โดยผู้ส่งออก ได้รับอานิสงส์ จากช่วงปลายเดือน ม.. ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ต่อเนื่องไปถึงปลายเดือน ก.. ที่จะเข้าสู่เดือนศีลอดหรือเทศกาลรอมฎอนของชาวมุสลิม ทำให้สามารถส่งออกสินค้ามากขึ้น จากนั้นจะเข้าสู่ช่วงไตรมาสสอง ที่จะเห็นผลกระทบจากนโยบายการค้าของทรัมป์อย่างชัดเจน”

อย่างไรก็ตามการส่งออกในปี 68 ในมุมของภาคเอกชนอย่างสรท. เชื่อว่า จะเติบโตได้ 2-3% แต่ก็ต้องทำงานร่วมกันหนักขึ้น ถือเป็นความท้าทายสูง โดยสินค้าส่งออกหลักก็ยังเป็นสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มอาหาร สินค้าเกษตร เป็นต้น

ต้องวางตัวเป็นกลาง

ด้าน “กอบศักดิ์ ภูตระกูล” กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ ประเมินสถานการณ์ความท้าทายและความไม่แน่นอน โดยเฉพาะในเรื่องของนโยบายการค้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบมายังประเทศไทย ทำให้ในช่วง 4 ปีนี้ ไทยต้องตัดสินใจเพื่อนำไปสู่การวางนโยบายอย่างเหมาะสม โดยต้องเลือก 3 ทาง คือ จะอยู่ข้างจีน, อยู่ข้างสหรัฐ หรืออยู่ตรงกลาง

ในส่วนตัวถ้าอยู่เป็นกลางอย่างมียุทธศาสตร์ หรือสร้างสรรค์ จะทำได้อย่างไร และการเป็นกลาง จะมีค่าอย่างยิ่ง เพื่อจะเป็นแต้มต่อให้คนเข้ามา ให้เงินไหลเข้ามา มองว่าประเทศไทยรักทุกคน เป็นเพื่อนทุกคน ต่างจากเวียดนาม สิงคโปร์ หรือในอาเซียนก็มีความใกล้ชิดกับจีน เชื่อว่าภายใต้วิกฤติมีโอกาสเสมอ เพียงแต่หาโอกาสให้เราได้หรือไม่ โดยต้องยึดประโยชน์ของชาติเป็นหลัก

รัฐบาลไทย ต้องคิดว่าท่ามกลางความขัดแย้ง ต้องมองไปข้างหน้าว่าเดินไปป่าที่รกได้อย่างไร โดยรัฐบาลจำเป็นกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องท่ามกลางปัญหา เพราะความสำคัญ คือต้องให้เศรษฐกิจไปข้างหน้าให้ได้ เพราะถ้าเศรษฐกิจหยุดลง ปัญหาต่าง ๆ จะตามมาทั้งหนี้ครัวเรือน และเศรษฐกิจ ซึ่งหลังจากนี้โลกจะฟื้นจากการลดดอกเบี้ย ประเทศทุกประเทศลดดอกเบี้ยจะได้รับแรงกระตุ้น ทำให้เกิดความต้องการสินค้า และดีต่อการส่งออก มีแรงส่งสู่ตลาดโลก

ส่งเสริมการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ รัฐบาลต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวให้มากขึ้น เพราะในปีนี้ เมื่อเศรษฐกิจโลกดี การท่องเที่ยวก็จะดี รัฐบาลควรให้เงินสนับสนุนกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อไปโปรโมต โดยเฉพาะตลาดใหม่อย่าง อินเดีย ขณะเดียวกันรัฐบาลควรปลดล็อกการลงทุนแรงงานศักยภาพสูง สนับสนุนบริษัทและแรงงานเข้ามาในไทย เพื่อให้ต่างชาติลงทุนในไทย ขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานและเทคโนโลยีใหม่ ๆ

โจทย์สำคัญคือ เรื่องของเดินหน้าแย่งชิงส่วนแบ่งการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือเอฟดีไอ ให้เข้ามาไทยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะไทยยังเป็นรองสิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย โดยต้องเจรจาและทำพื้นฐานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไม่ว่าจะท่าเรือ สนามบิน รถไฟความเร็วสูง มอเตอร์เวย์ โครงสร้างพื้นฐาน และเมืองใหม่ให้เกิดขึ้น เพื่อให้สหรัฐ และประเทศอื่น ๆ เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

กระจายตลาดส่งออก

ขณะที่ในมุมของกระทรวงการคลัง อย่าง “พรชัย ฐีระเวช” ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และโฆษกกระทรวงการคลัง บอกว่า แนวทางการรับมือผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำได้โดยมุ่งเน้นการกระจายตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้า รวมทั้งการขยายการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหภาพยุโรป (อียู) และสมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (อีเอฟทีเอ) การปรับภาคการผลิตมุ่งเน้นสินค้ามูลค่าสูง เช่น ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร พลังงานสะอาด เป็นต้น เพื่อเพิ่มอุปสงค์ในตลาดโลก ขณะเดียวกันยังเปิดโอกาสให้ไทยขยายการส่งออกสินค้าทดแทนจากจีนสู่ตลาดสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นเซมิคอนดักเตอร์ เหล็กและอะลูมิเนียม ยาง เป็นต้น

นอกจากนี้ยังต้องเร่งรัดการลงทุน แม้ว่านโยบายของ “ทรัมป์” จะส่งผลต่อไทยไม่มากในเรื่องของการลงทุน เพราะสหรัฐลงทุนเพียง 18.3% ของเงินลงทุนต่างประเทศทั้งหมด แต่การเพิ่มกำแพงภาษีสินค้านำเข้าในสหรัฐ อาจกระตุ้นการย้ายฐานการผลิตจากประเทศต่าง ๆ มายังไทยมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ไทย ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า ดาต้า เซ็นเตอร์ เป็นต้น ขณะเดียวกันไทยต้องพัฒนาแรงงานเฉพาะด้านและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เขตเศรษฐกิจพิเศษ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ เป็นต้น รวมถึงการปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการลงทุน เช่น การลดขั้นตอนการอนุมัติและการสร้างสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด จะช่วยเสริมสร้างความได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุนและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ

พัฒนาระบบชำระเงินดิจิทัล

ไม่เพียงเท่านี้ยังมีเรื่องของการส่งเสริมการท่องเที่ยว แม้นักท่องเที่ยวสหรัฐที่มาเที่ยวไทยจะมีเพียง 2.9% ก็ตาม แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐอาจกระตุ้นนักท่องเที่ยวจากสหรัฐให้เดินทางมายังไทยมากขึ้น ไทยจึงต้องเร่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ระบบชำระเงินดิจิทัล การยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สนามบินและระบบขนส่ง รวมถึงเครือข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและระบบความปลอดภัยทางไซเบอร์ ที่ช่วยดึงดูดและเพิ่มความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวจากตลาดสำคัญ

เหนืออื่นใด!! ความไม่แน่นอนที่ยังคงมีอยู่ รัฐบาลจำเป็นต้องยกระดับประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการเงินระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งกระทรวงการคลังเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติ พ..… เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงิน เพื่อดึงดูดสถาบันการเงินชั้นนำและสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีทางการเงิน มาประกอบธุรกิจในไทยโดยจะเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพิ่มการจ้างงานที่มีคุณภาพและผลตอบแทนสูงในระยะยาวด้วย

กังวลมาตรการภาษีที่สุด

ขณะที่ “วิจิตร อารยะพิศิษฐ” นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐาน บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ มองว่า หลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอย่างเป็นทางการนั้น มีข้อที่สร้างความกังวลในผลกระทบที่จะตามมาของตลาดทุน ได้แก่ การถอนตัวจากความตกลงกรุงปารีสแก้ปัญหาโลกร้อน เพิ่มผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นการถอนตัวจากข้อตกลงกรุงปารีสอีกครั้งในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 มีการส่งจดหมายถึงสหประชาชาติ แจ้งความตั้งใจดังกล่าวอย่างเป็นทางการ

ทรัมป์ ระบุว่า ข้อตกลงปารีสเป็นหนึ่งในข้อตกลงระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งที่ไม่สะท้อนถึงค่านิยมของสหรัฐ และนำเงินภาษีของประชาชนสหรัฐไปใช้กับประเทศที่ไม่ต้องการหรือสมควรได้รับความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อประโยชน์ของชาวอเมริกัน ขณะเดียวกันก็จะเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงจากฟอสซิลในประเทศนั้น เบื้องต้นจึงประเมินว่า เรื่องนี้ไม่น่าส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นไทยมากนัก แต่ในเชิงบรรยากาศก็อาจมีความกังวลออกมาบ้างเล็กน้อย”

สำหรับประเทศไทยพยายามเร่งให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยเน้นเรื่องอีเอสจีในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ทำให้ในอนาคตหาก บจ.ให้ความสำคัญกับอีเอสจี จะเป็นมุมมองที่ดีขึ้น บริษัทต่าง ๆ จะมีคุณภาพมากขึ้น แต่ต้องประเมินเชิงการวิเคราะห์ให้สอดคล้องกัน ซึ่งนักวิเคราะห์ก็พยายามใส่ประเด็นอีเอสจีเข้าไปในผลประกอบการของแต่ละบริษัทเพิ่มเติม อาทิ หากรักษาสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น จะสะท้อนผลตอบแทนที่ดีมากกว่าบริษัทอื่นในกลุ่มเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีการออกกองทุนไทยแลนด์อีเอสจีฟันด์ เพื่อช่วยดันดัชนีหุ้นไทยให้มีแรงซื้อผ่านเม็ดเงินใหม่เข้ามามากขึ้น ซึ่งบริษัทที่อยู่ในกองทุนดังกล่าว เป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่ในตลาดหุ้นไทยเป็นหลัก ผลดำเนินงานจึงไม่ได้แตกต่างจากภาพรวมตลาดในบริษัทที่มีขนาดใหญ่สุด 50 หรือ 100 อันดับแรกของตลาดหุ้นไทย ที่ปรับฐานลงมาหนักมากในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดหุ้นมีการปรับลงมาเช่นกัน จึงลดลงตามตลาดรวม

เมื่อประเมินนโยบายเบื้องต้นของนายโดนัลด์ ทรัมป์ มีทั้งบวกและลบ ซึ่งมาตรการด้านภาษีเป็นเรื่องที่มีความกังวลมากที่สุด แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประกาศใช้มาตรการด้านภาษีออกมา ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นตอบรับในเชิงบวก

ทั้งหลายทั้งปวงต้องมาตามติดกันต่อไปว่า สารพัดวิธีที่ทั้งภาครัฐ ทั้งเอกชน ที่สาดใส่กันเข้ามา จะสามารถรองรับหรือรับมือผลกระทบจากนโยบายของ “ทรัมป์ 2.0” ได้มากน้อยเพียงใด?.