การใช้ชีวิตในสังคมยุคปัจจุบัน ทำให้คนเรามีปัญหาเรื่องสุขภาพจิตโดยไม่รู้ตัว ซึ่งไม่ได้ถึงขั้นป่วยจิตเวช แต่หากไม่ได้รับการดูแลจิตใจให้ดี อาจจะทำให้ปัญหาสุขภาพจิตแย่ลงได้ จนเกิดการป่วยจริง ๆ แล้วจะแก้ไขได้ยากกว่าเดิม เรื่องนี้ “นพ.กิตติศักดิ์ อักษรวงษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต” ระบุว่า เป็นเรื่องที่กรมสุขภาพจิตต้องโฟกัส ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผ่านการดำเนินการหลาย ๆ ภารกิจ และร่วมกับหลายๆ หน่วยงานควบคู่กันไป

“ประเด็นที่สอดคล้องกับสังคมปัจจุบัน และเป็นความมุ่งหวังของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล ต้องการแก้ไขปัญหาเรื่องความรุนแรง ปัญหายาเสพติด ซึ่งมีหลายรูปแบบ ที่สำคัญคือไม่อยากให้งานด้านสุขภาพจิตเป็นเรื่องการรักษาอย่างเดียว แต่อยากให้มีความครอบคลุมการเข้าถึงการให้คำปรึกษา ซึ่งไม่ใช่การป่วย อาจจะเครียด กังวล ก็เข้ารับคำปรึกษาได้ ซึ่งถือเป็นช่วงที่สุขภาพจิตยังสามารถดูแลกลับคืนได้โดยไม่ป่วยเป็นโรคทางจิตเวช คืนสุขภาพจิตได้โดยไม่ต้องพบจิตแพทย์ แต่คืนได้โดยครอบครัว โดยสิ่งแวดล้อม หรืออย่างแย่สุดคือยังคืนได้โดยนักจิตวิทยา”

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตนั้น ต้องยอมรับว่า ประเทศไทยยังมีน้อย กำลังคนก็น้อย ดังนั้นทางกรมจึงมีการเพิ่มคนเข้ามาร่วมให้คำปรึกษา แบ่งเป็น 2 กลุ่ม 1. บุคลากรการแพทย์ มาเพิ่มในการให้คำปรึกษา ที่ทำไปแล้วคือการเอาบุคลากรทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤติ (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ของกรมสุขภาพจิต และสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประมาณ 3-4 พันคน ซึ่งจากเดิมคนกลุ่มนี้ถูกฝึกมาเพื่อทำงานในภาวะวิกฤติ ก็จะเพิ่มทักษะเพื่อให้ทำงานในช่วงที่ไม่วิกฤติได้ด้วย ตลอดจนขยายไปยังบุคลากรการแพทย์ด้านอื่น ๆ ให้มีทักษะดังกล่าวด้วย เป้าหมายให้ทุก รพ.มีคนที่เป็น “นักให้การปรึกษา” สุขภาพจิตเบื้องต้น จำนวนแล้วแต่ขนาดของ รพ. ตอนนี้มีการลงทะเบียนอบรมเกินกว่า 50% แล้ว หลังจากนั้นจะขึ้นทะเบียนหน่วยบริการให้คำปรึกษา เพื่อให้สามารถเบิกค่าบริการจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้

หลักการคือสามารถให้คำปรึกษาได้ สามารถทำการปฐมพยาบาลทางใจเบื้องต้นได้ เพราะอย่างที่บอกว่า สุขภาพจิตที่ไม่สบายใจ วิตกกังวลสามารถดูแลเบื้องต้นได้ แต่กลับกัน หากปัญหาเล็กน้อยนี้ไม่ได้รับการดูแลแก้ไขก็อาจจะเจริญงอกงามจนเกิดการป่วยโรคทางจิตเวชได้ และปัจจุบันคนมีปัญหาไม่สบายใจ ไม่ปกติ แต่ยังไม่ป่วย เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งก็เพิ่มขึ้นทั่วโลก ดังนั้นงานด้านสุขภาพจิตสำคัญมาก”

2.คนที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพ คือ อสม. นำมาอบรมเพื่อให้มีทักษะในการดูแล แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ต้องดูว่าใครมีความรู้พอจะเปิดรับแค่ไหน ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต

จริง ๆ หลักการง่าย ๆ ที่ทุกคนทำได้คือ Deep Listening รับฟังอย่างตั้งใจ ฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังให้มาก ให้เขาได้ปรึกษา แม้สุดท้ายอาจจะไม่มีความเห็นจากเรา แต่เขาได้พูดแล้ว หรือบางอย่างให้ความเห็นกลาง ๆ เชิงบวก”

เรื่องต่อมาคือการแก้ “ปัญหาความรุนแรง” ซึ่ง พื้นฐานความรุนแรงเกิดจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กไปจนถึงวัยนักศึกษา ซึ่งหากสังเกตจะเห็นว่า เวลาที่ใช้ต่อวันจะอยู่ที่สถานศึกษามากที่สุด แน่นอนว่า สิ่งแวดล้อมจะเป็นสิ่งที่หล่อหลอมเด็กออกมาให้เป็นคนแบบไหน ทั้งนี้ความรุนแรงมีหลายรูปแบบ ทั้งทางกาย การใช้สายตา การใช้วาจา ถ้าเด็กได้รับสิ่งเหล่านี้ อยู่ในสิ่งแวดล้อมเหล่านี้จะหล่อหลอมให้เขาเกิดภาวะเข้าสู่บุคลิกก่อความรุนแรงได้ง่ายยิ่งขึ้น และยังมีโอกาสสูงที่จะทำให้เข้าสู่วงจรการใช้ยาเสพติด

ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือการสร้างสิ่งแวดล้อมที่มีความอ่อนโยนทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน (Gentle Parent, Gentle school) เพราะเด็ก เยาวชนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ไม่อ่อนโยน ไม่นุ่มนวล จะหล่อหลอมให้เด็กเป็นคนแข็งกร้าว การไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนอยู่ก่อน เขาไม่รู้จักที่จะคุยกับคน บางครั้งคุยแล้วดูรุนแรง สื่อสารไม่เป็น

“การสร้างสภาพแวดล้อมที่อ่อนโยน ซึ่งการสร้างที่ง่ายที่สุดคือการมีปฏิสัมพันธ์กับคน เช่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พี่เลี้ยง ครู เจ้าหน้าที่ในโรงเรียน รปภ. คนขายอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็ก ๆ เขารับรู้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ยิ่งต้องรับรู้ รับฟัง เอื้ออาทรต่อเด็ก มากกว่าเดิม พ่อ แม่จะคาดหวังตามที่พ่อแม่คาดหวังอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจเด็ก ๆ เพราะเขาค่อนข้างเปราะบางกว่าแต่ก่อน เพราะอยู่กับเทคโนโลยี อยู่กับความเร็ว ไม่ค่อยได้อยู่กับคนมากนัก สิ่งที่เราต้องให้เขา คือต้องให้ความเป็นคน ด้วยการมีปฏิสัมพันธ์กัน ไม่ใช่ว่าเวลาก็ไม่มากแล้ว ยังเป็นแบบพ่อ แม่ ลูก อยู่กับจอคนละจอ จะยิ่งทำให้เวลาลดลง”

สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรารู้กันดี แต่จะเป็นสิ่งที่กรมสุขภาพจิตมุ่งเน้น ทำอย่างไรที่จะไปแก้ที่ต้นเหตุของความรุนแรง ไปที่ยาเสพติด คือการเข้าไปที่เด็ก เยาวชน วัยเรียน วัยรุ่น เป็นการป้องกันตั้งแต่ต้น เป็นการเตรียมการระยะยาว โดยเฉพาะตอนนี้เด็กเกิดน้อย เรายิ่งต้องการคุณภาพ ท่ามกลางความเสี่ยงยาเสพติดสูง

นพ.กิตติศักดิ์ ขยายความต่อว่า ในทางปฏิบัติ หากเป็น “ที่บ้าน” จะมีเครื่องมือการดำเนินการของพ่อ แม่ ครอบครัว แบ่งเป็น 2-6 ขวบ และ 6 ขวบขึ้นไป เพื่อทุกฝ่ายจะร่วมกันสร้าง Gentle Parent โดยต้องเรียนรู้ก่อนแต่งงานเพื่อเป็นพ่อแม่ที่มีความเอื้ออาทร อ่อนโยนต่อลูก เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกมีความอ่อนโยน ไม่กลายเป็นคนที่ใช้ความรุนแรง หรือเสี่ยงไปใช้ยาเสพติดในอนาคต…แต่ปัญหาคือทุกวันนี้หลายคนมีคู่ แต่ไม่ยอมมีลูก เพราะกลัวตัวเองไม่พร้อมมากพอ กลัวสิ่งแวดล้อม สังคมเป็นอย่างนี้กลัวลูกออกมาแล้วจะดูแลกันอย่างไร ไม่มีเวลาเลี้ยง จะไปฝากเลี้ยงก็อันตราย เลยตัดสินใจไม่มีลูก แล้วหันไปเลี้ยงหมาเลี้ยงแมวดีกว่า ทั้งๆ ที่การดูแลสัตว์เลี้ยงก็ต้องใช้เงินเยอะเหมือนกัน แต่ก็ว่ากันไม่ได้

ส่วน “ที่โรงเรียน” นั้น ครู ผู้ดูแล ก็ต้องมีทักษะความรู้เหล่านี้ รวมถึงล่าสุดที่เราพัฒนาแอปพลิเคชันการอบรมเพิ่ม

ทั้งนี้ เรื่อง Gentle Parent, Gentle school รวมถึงเรื่องแผนการดูแลสุขภาพจิตเบื้องต้น เป็นแผนที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว และดำเนินการแล้ว แต่ยังทำได้ไม่มากทั้งระดับครัว และโรงเรียน อย่างที่โรงเรียน MOU กับสถานศึกษา แต่ทำได้เพียง 20-25% ในการนำแอปพลิเคชันschool health hero” ให้ครูใช้เพื่อช่วยเฝ้าระวังเด็ก นักเรียนในโรงเรียนว่าจะมีโอกาสเกิดความผิดปกติด้านสุขภาพจิต พฤติกรรม อารมณ์หรือบุคลิกภาพหรือไม่เพื่อนำสู่การแก้ไข ป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิตที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะที่เรากังวลมากคือการทำร้ายตัวเอง ปัญหาการฆ่าตัวตาย โดยระบบเชื่อมโยงกับระบบกระทรวงสาธารณสุข จะมีการส่งต่อหากเกินกำลังการดูแลของครู

เราพบว่า 10% ของนักเรียนมีเสี่ยงซึมเศร้า แต่ยังไม่ป่วยซึมเศร้า คือต้องมากรองต่อ เพราะเรากังวลเสี่ยงฆ่าตัวตาย ทำร้ายตัวเอง ข้อมูลกรมสุขภาพจิต สำรวจวัยรุ่น วัยเรียนอัตราพยายามฆ่าตัวตายสูงว่าปกติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่การฆ่าตัวตายสำเร็จยังต่ำ เมื่อเทียบค่าเฉลี่ยอัตราพยายามฆ่าตัวตายของคนทุกกลุ่ม แม้จะทำไม่สำเร็จแต่การพยายามเป็นสัญญาณเตือนว่าเขาต้องการการช่วยเหลือ

เราต้องปกป้องเด็กในโรงเรียน วันนี้มีการใช้แอปประมาณ 1 ล้านกว่าคน จากประมาณ 5 ล้านคน พบว่าโรงเรียนที่ใช้แอปอัตราฆ่าตัวตายต่ำ ดังนั้นวันนี้ต้องทำมากขึ้น โดยให้ รพ.จิตเวชทุกเขตประสานผู้ว่าฯ และ สสจ. ให้ดำเนินการให้ครบในโรงเรียนมัธยม อาชีวะ เพื่อทำเรื่องนี้ ส่วนเด็กเล็กมักเป็นความรุนแรงเกี่ยวกับการบูลลี่ ถ้าดูแลไม่ดีจะเสียความมั่นใจในตัวเอง”.